ซ้ายไปขวา: แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ปรานม สมวงศ์ อังคณา นีละไพจิตร หทัยรัตน์ พหลทัพ
Posted: 26 Nov 2018 07:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:23
เวทีแอมเนสตี้ฯ คุยปัญหา-ทางออกเมื่อนักสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม ก้าวแรกของการแก้ปัญหาคือยอมรับความจริง จากนั้นสร้างการมีส่วนร่วม ข้อเสนอแนะจากเวทีต่างประเทศไม่คืบ กระบวนการยุติธรรมถูกใช้คุกคามนักสิทธิฯ มากขึ้น มองวิกฤตเป็นโอกาส ใช้กระบวนการศาลแพร่คดีฟ้องกลั่นแกล้งสู่สาธารณะ หนุนสร้างความรู้กระบวนการบกพร่อง
เมื่อ 23 พ.ย. 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดเวทีเสวนาเรื่อง “20 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน: แนวทางเพื่อยกระดับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” มีปรานม สมวงศ์ จากองค์กรคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โปรเท็คชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโส เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยหทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
การเสวนาเป็นการพูดคุยสืบเนื่องจากวาระครบรอบ 20 ปีที่จะมาถึงในวันที่ 9 ธ.ค. 2561 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือชื่อเต็มว่า ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล ที่ผ่านการลงคะแนนเสียงจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รัฐสมาชิกทุกรัฐจึงมีพันธะว่าต้องทำให้เป็นกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งไทยก็ได้ให้การรับรองในบางส่วน
อีกหนึ่งประเด็นที่เวทีเสวนาหยิบยกมาพูดถึงกันคือรายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ประกาศรายชื่อประเทศจำนวน 38 ประเทศที่มีพฤติกรรมอันน่าละอายต่อผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยทั้งน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและจากบุคคลหรือกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐไม่ว่าจะด้วยวิธีการข่มขู่ คุกคาม สังหาร ทรมานและจับกุมตัวตามอำเภอใจ โดยประเทศไทยติดอยู่ใน 38 ประเทศดังกล่าวด้วย
ไทยติด 1 ใน 38 ประเทศ ‘น่าละอาย’ รายงาน UN กรณีคุกคามนักสิทธิฯ - ผู้เกี่ยวข้อง
ก้าวแรกของการแก้ปัญหาคือยอมรับความจริง จากนั้นสร้างการมีส่วนร่วม
ปรานมกล่าวว่า สถานการณ์การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงเกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อย้อนมาดูไทยแล้วก็ไม่มีอะไรที่น่าภูมิใจ เพราะสี่ปีหลังรัฐประหาร มีผู้หญิงจากชนบท ชุมชน ที่ขึ้นมาเรียกร้องเรื่องทรัพยากรถูกฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งแล้ว 179 ราย ในปีนี้จำนวนเพิ่มเป็น 224 คน โดยคดีที่โดนคือบุกรุกที่อุทยาน ขัดแย้งเรื่องที่ดิน โดยเฉพาะในภาคอีสาน ในขณะที่รัฐบาลมีแถลงการณ์เรื่องรายงานมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน ที่กระทรวงการต่างประเทศบอกว่าไทยไม่มีนโยบายและเจตนาในการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ แต่ว่านโยบาย คำสั่ง หรือกฎหมายหลายๆ ตัวเป็นการละเมิดหรือคุกคามอยู่แล้ว
ปรานมเห็นว่าแนวทางในการแก้ไข คุ้มครองนั้นอย่างแรกต้องยอมรับความจริงกันก่อนว่ามีการข่มขู่ คุกคาม โต้กลับและเอาคืนกับประชาชนคนธรรมดาทั้งหญิงชายที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน มีการทำให้การต่อสู้กับอาชญากรรมให้กลายเป็นอาชญากรรม นอกจากนั้นยังขอให้รัฐพิจารณาข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา
ปรานมยังกล่าวว่า นักปกป้องสิทธิฯ ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่สี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ประชาสังคมก็ถูกปิด ทั้งนี้ พื้นที่ประชาธิปไตยกับการทำงานด้านสิทธินั้นไม่สามารถแยกจากกันได้ ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาก็ต้องกลับไปที่รากเหง้า ก็คือความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ภาวะที่คุณค่าของคนไม่เท่ากัน ความคิดที่แตกต่างกลายเป็นอาชญากรรม หรือค่าจ้างแรงงานที่น้อยจนอยู่ไม่ได้ ใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิพื้นฐานทั้งหลายก็คือนักปกป้องสิทธิ และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เลยถ้าหากพวกเขาถูกคุกคาม
ข้อเสนอแนะจากเวทีต่างประเทศไม่คืบ กระบวนการยุติธรรมถูกใช้คุกคามนักสิทธิฯ มากขึ้น
อังคณากล่าวว่า ในส่วนปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ นั้นไทยยังไม่ได้รับรองทั้งฉบับ แต่ที่ผ่านมาไทยได้รับข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิฯ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างปีที่แล้วที่ไทยไปรับการทบทวนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ก็ยังได้รับข้อเสนอแนะ ส่วนกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review--UPR) ที่ไทยเข้ารับฟังข้อเสนอแนะเมื่อปี 2559 ก็มีตัวแทนของประเทศต่างๆ ที่มีข้อเสนอแนะ 10 ข้อ และไทยรับโดยสมัครใจว่าจะทำการตามนั้น เช่น ให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีนักปกป้องสิทธิที่ถูกอุ้มหายหรือถูกสังหาร ไม่ให้มีการละเว้นโทษ ซึ่งก็ต้องเรียนตรงๆ ว่ายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
คณะกรรมการ กสม. กล่าวว่า ในฐานะ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องเรื่องการละเมิดนักปกป้องสิทธิฯ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่าน การอุ้มฆ่าหรือสังหารนั้นลดลง กรณีสุดท้ายคือกรณีของพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ เมื่อปี 2557 แต่ที่เพิ่มมากขึ้นคือการคุกคามตามกระบวนนการยุติธรรม การฟ้องร้อง การดำเนินคดี ไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่บ้าน สร้างความหวาดกลัว
อังคณาบอกว่าสิ่งที่ควรปรับปรุงคือกระบวนการของกองทุนยุติธรรมที่ถ้าผู้ขอรับกองทุนนั้นเป็นที่เชื่อว่าน่าจะกระทำผิด กรรมการอาจจะไม่ให้เงินกองทุนได้ ซึ่งระเบียบข้อนี้ขัดหลักรัฐธรรมนูญที่สันนิษฐานว่าทุกคนบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษา ในเรื่องฟ้องปิดปากก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขไม่ให้เกิดการฟ้องในลักษณะนั้นได้ ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกัน (Immunity) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หลายครั้งที่ กสม. ต้องอดทนกับการตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องปกป้อง NGO ที่รับเงินต่างประเทศมาทำลายประเทศไทย เคยให้คำตอบกับผู้มีหน้าที่และอำนาจในบ้านเมืองหลายครั้งว่า อยากให้ลงไปดูข้อเท็จจริง นักปกป้องสิทธิฯ หลายคนไม่มีเงินเดือน บางคนตกเป็นเหยื่อเสียเอง และต้องขยายงานไปช่วยคนอื่น มีโอกาสลงไปคุยกับนักสิทธิฯ ที่เป็นผู้หญิงในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด สิ่งใหม่ที่ได้เห็นคือ คนหนุ่มสาวกลับบ้านเกิดมากขึ้น หลายคนเรียน ปริญญาโท มีงานทำแต่ต้องกลับไปบ้านเกิดเพื่อช่วยกันปกป้องสิทธิหรือที่ดินของบรรพชน
สิ่งที่กังวลอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างความหวาดหลัว ชาวบ้านบางคนบอกว่า เวลาคนในชุมชนอุ้มหายไปคนหนึ่งก็กลัวกันทั้งหมู่บ้าน ไม่มีใครกล้าติดต่อกับบ้านเหยื่อ ทำให้เป็นความท้าทายของคนทำงานด้านสิทธิด้วยว่า จะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากความกลัว ทำให้เกิดการสร้างเครือข่าย เสริมศักยภาพซึ่งกันและกันและไม่ทิ้งกัน มีใครมีหลักประกันในการทำงานของนักสิทธิฯ ไหม ก็ไม่มีใครทำได้ ประสบการณ์ทั่วโลกบอกแล้วว่าหลายประเทศมีการสังหาร การล่วงละเมิดทางเพศ ใช้เพศเป็นการประหัตประหาร ทำร้าย
สำหรับรายงานยูเอ็นเรื่องการเอาคืนจากที่บอกว่าเป็นเรื่องน่าละอาย อยากให้รัฐบาลเปิดใจให้กว้างแล้วทบทวนว่าเรื่องเหล่านั้นมีจริงไหม ซึ่งก็มีจริง ตนเองก็มีชื่อในรายงานเรื่องการถูกคุกคาม สิ่งที่อยากจะเห็นคือกระจกที่ส่องว่าประเทศไทยได้ดำเนินการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง โดยการเชิญผู้รายงานพิเศษเรื่องการปกป้องนักสิทธิจากยูเอ็นมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพราะในการนั้น ผู้รายงานพิเศษจะมีอิสระในการพบกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สามารถเขียนรายงานและมีข้อเสนอถึงไทยได้ ซึ่งจะเป็นความก้าวหน้าอีกแบบหนึ่ง
ใช้กระบวนการศาลแพร่คดีฟ้องกลั่นแกล้งสู่สาธารณะ หนุนสร้างความรู้กระบวนการบกพร่อง
แสงชัยกล่าวว่า ถ้าปล่อยให้การละเมิดสิทธิของผู้คนถูกทำได้ง่ายๆ ทำกันเงียบๆ ไม่ได้รับการเปิดเผย ก็จะเป็นอันตราย จะเป็นจุดที่ทำให้การใช้อำนาจแบบนี้เป็นความเคยชินของอำนาจรัฐและผู้อิงอำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผู้ประโยชน์ ถ้าอยากจะแก้ไขปัญหานี้ อย่างน้อยข้อแรกคือต้องทำให้การละเมิดที่ทำกันเงียบๆ แบออกมาสู่ที่สว่าง สู่สาธารณะ ถ้าทำแบบนี้ได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่สังคมไทยจะปรับตัวน่าจะเกิดได้เร็วขึ้น เพราะผู้กระทำนั้นรู้แก่ใจว่าเขาละเมิดกฎหมายและความเป็นธรรม คนที่จะแสวงหาประโยชน์จากการละเมิดกฎหมายจะรู้สึกทันทีว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องเสียมากกว่าได้ ในฐานะทนายความที่เป็นการทำคดีในขั้นท้ายของการถูกละเมิด คือการขึ้นศาล สิ่งที่ทำได้คือการใช้ศาลเป็นพื้นที่ในการซักถามข้อเท็จจริง ตรวจสอบ นำเอกสาร ข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายมาแสดงต่อหน้าศาลเพื่อเป็นที่รับรู้ของสาธารณชน เป็นโกาสที่จะชี้ความไม่ชอบมาพากล
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มช่วงหลังๆ มีการใช้กระบวนการตั้งข้อหาดำเนินคดีแบบที่ไม่น่าจะเกิด แทนที่จะคุกคามด้วยการใช้กำลังแบบเถื่อนๆ เช่นการใช้ พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ถูกดำเนินคดีด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวคอมพิวเตอร์สักนิด คือเป็นเรื่องด่ากันที่บังเอิญรัฐเป็นผู้ถูกด่า ลักษณะเช่นนี้เป็นการทำลายวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย
ทนายความอาวุโสกล่าวว่า มีการทำให้สังคมสับสน และเข้าใจผิดระหว่างคำว่านโยบายกับกฎหมาย คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นเพียงนโยบายของคณะผู้ถืออำนาจทหารที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ทั้งๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะแล้ว คำสั่งที่ 3/2558 ก็ไม่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นเพียงนโยบายสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาและคณะทหารเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นข้อหาการกระทำความผิดแล้วยื่นศาลหลายสิบเรื่อง ศาลใคร่ควรญดูหรือยังว่าหลักการใน 3/2558 ถูกยกเลิกไปด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะที่ออกมาใช้กับกิจการนั้นๆ โดยเฉพาะแล้ว แต่รัฐที่รวมศูนย์อำนาจอย่างนี้เอาอำนาจกลไกสำคัญที่ใช้ตรวจสอบความเป็นธรรมทางสังคมอย่างกระบวนการยุติธรรม เข้าไประวัง และป้องกันการแสดงเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน เมื่อรัฐส่งสัญญาณแบบนี้ การใช้คดีที่ฟ้องปิดปาก ของเอกชนโครงการใหญ่ๆ ก็ไม่จบลง แม้ฟ้องไปไม่ติดคุก แต่จำเลยก็เผชิญกระบวนการมากมาย แบบนี้สะท้อนว่ารัฐมีวิธีคิดอะไรบางอย่างที่ผิดเพี้ยนอยู่ ต้องทำความเข้าใจกับมันพอสมควร
แสงชัยอยากให้ผู้คนช่วยกันสร้างทัศนะคติต่อสู้กับความคิดที่ทำให้ NGO นักกฎหมาย ทนายความกลายเป็นอุปสรรคของผลประโยชน์แห่งประเทศชาติ ใครอยู่ใกล้วงไหนก็สร้างความตระหนักรู้ในวงนั้น แล้วให้แพร่ขยายออกไป ทั้งนี้ อย่าไปถือคำตอบที่รัฐไทยไปตอบยูเอ็นว่าไม่มีกฎหมายที่จะกีดกันสิทธิ เสรีภาพ ตัวกฎหมายนั้นเป็นตัวจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะมันถูกออกแบบให้รวมศูนย์การตัดสินใจที่กลุ่มคนเล็กๆ ไม่สนใจฟังความเห็นชาวบ้าน
แสดงความคิดเห็น