Posted: 25 Nov 2018 06:32 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-11-25 21:32
สุรพศ ทวีศักดิ์
เมื่อผมหนีออกจากบ้านในวัย 14 ปี ระหว่างอาศัยอยู่บ้านญาติเพื่อรอไปหางานทำในกรุงเทพฯ ยายได้ตามมาจับบวชเณร ระยะแรกได้เรียนรู้คำสอนพุทธศาสนาที่ว่า “ความประเสริฐหรือไม่ประเสริฐของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด หากขึ้นอยู่กับการกระทำ” ผมรู้สึกเสมือนว่าคำสอนเช่นนี้อยู่ข้างเรา ช่วยเติมเต็มกำลังใจในการสู้ชีวิตแก่คนชั้นล่างอย่างพวกเราส่วนใหญ่ที่บวชเรียน
อาจคล้ายกับเรื่องเล่าในหนังสือ “ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์” ว่า ชาวแอฟริกันที่ได้ฟังคำเทศนาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของนายทาสที่เป็นคนขาว พวกเขารู้สึกเสมือนว่าเรื่องราวของโมเสส, เยซูที่อยู่เคียงข้างชนชั้นผู้ถูกกดขี่นั้นช่างตรงข้ามกับวิถีชีวิตของบรรดานายทาสเหล่านั้นเสียเหลือเกิน ศาสนาของพระคริสต์น่าจะเป็นศาสนาที่อยู่ข้างบรรดาทาสอย่างพวกเขามากกว่า
หากจะมองว่าศาสนาในมิติที่เติมกำลังใจและสร้างความหวังแก่ชนชั้นผู้ถูกกดขี่เป็น “ยาฝิ่น” ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ก็ย่อมจะมีส่วนจริงอยู่เช่นกัน เพราะบทสวด พิธีกรรม คำสอนต่างๆ นั้น ก็อาจช่วยให้บรรดาผู้ถูกกดขี่ยอมรับชะตากรรมของพวกตนในฐานะเป็น “บททดสอบ” ของพระเจ้า เป็น “ผลกรรมเก่า” หรืออะไรก็ตามที่กำหนดให้พวกเขาต้องมีชะตากรรมเช่นนั้น เมื่อพวกเขาเชื่อคำสอนศาสนาและนำมาปฏิบัติ สักวันหนึ่งอาจทำให้ชีวิตผ่านความเลวร้ายต่างๆ ไปได้ ไม่ในชาตินี้ก็ในชีวิตหลังความตาย
เอาเข้าจริงแล้ว ศาสนาคืออะไร? นับเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ศาสนาในความเข้าใจของผู้คนในยุคชนเผ่า ยุคนครรัฐ หรือยุคโบราณ ยุคกลาง และยุคสมัยใหม่ย่อมมีความหมายแตกต่างกัน และมีนัยสำคัญต่อชีวิตและสังคมต่างกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะศาสนาไม่ใช่สิ่งที่ “หล่นมาจากฟ้า” หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกตีความ ให้ความหมายและคุณค่าไปตามบริบทของยุคสมัยหนึ่งๆ และสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมหนึ่งๆ
แต่บรรดานักบวช ผู้นำศาสนา หรือนักเผยแผ่ศาสนาพยายามนำเสนอเสมือนว่าศาสนาเป็น “สิ่งบริสุทธิ์” ที่หล่นมาจากฟ้า เช่นว่าคำสอนศาสนาเป็นสัจธรรมจากปากของพระเจ้า โดยมีพระศาสดาได้ยิน “เสียง” ของพระเจ้าบอกคำสอนนั้นๆ มาโดยตรงและนำมาบันทึกในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่สัจธรรมของศาสนาก็มาจากปากพระศาสดาที่เป็น "สัพพัญญู” หรือมีญาณวิเศษเหนือกว่าปุถุชนทั่วไป ดังนั้นสัจธรรมของศาสนาจึงเป็น “อกาลิโก” คือเป็นความจริง ความถูกต้องเหนือกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตสักนิดจะเห็นได้ว่า สถานะของพระศาสดา สาวก นักบวช ผู้นำศาสนา และสถาบันศาสนา มีความแตกต่างและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบทสังคม คำสอนแบบเดียวกันแต่ก็ “ทำหน้าที่” ต่างกันได้ เช่นในยุคพระศาสดาคำสอนกับการใช้ชีวิตของพระศาสดาและบรรดาผู้ติดตามดูจะสอดคล้องกัน เมื่อพระศาสดาสอนความหลุดพ้น เมตตากรุณา ความรัก การให้อภัย วิถีชีวิตของพระศาสดาและผู้ติดตามดูเหมือนไม่ได้ขัดกับแนวทางที่สอนมากนัก
ที่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะพระศาสดาและบรรดาผู้ติดตามไม่ได้มีอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐในการปกป้องคำสอนหรือความเชื่อของกลุ่มตน นอกจากนั้นพระศาสดาและสาวกยังเป็นฝ่ายตั้งคำถามกับความเชื่อทางศาสนาและประเพณีบางอย่างของคนส่วนใหญ่ ตกอยู่ท่ามกลางคู่แข่งทางศาสนา พระศาสดาบางท่านก็ถูกอำนาจรัฐและกลุ่มผู้นำศาสนาทำร้าย เช่นเยซู เป็นต้น
แปลว่าในยุคพระศาสดาคนสำคัญๆ ที่มีชื่อเสียงมาถึงปัจจุบันนั้น ก็เป็นยุคที่พระศาสดาต่างสู้กับความเชื่อของศาสนาต่างๆ ที่ทั้งเป็นศาสนาที่มีพระศาสดาก่อตั้ง และเป็นความเชื่อสืบต่อกันมาที่ไม่ระบุแน่ชัดว่าใครคือศาสดา เช่นศาสนาพหุเทวนิยมที่มีอยู่จำนวนมากในแทบทุกสังคม แต่ในยุคการต่อสู้ทางความคิด ความเชื่อของพระศาสดาเป็นการต่อสู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐ
ขณะที่ในยุคของพุทธะ เยซู มูฮัมหมัด คำสอนของท่านเหล่านี้ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ยุคหลังพระศาสดาที่บรรดานักบวช ผู้นำศาสนาก่อตั้งศาสนจักร และผนวกรวมศาสนาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับอำนาจรัฐ การเผยแพร่ศาสนาจึงขยายไปอย่างกว้างขวาง พร้อมๆ กับการขยายอำนาจของศาสนจักร และการแผ่อำนาจของจักรวรรดิต่างๆ ที่ชนชั้นปกครองนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หลายๆ ครั้งการเผยแพร่คำสอนเรื่องความหลุดพ้น ความรัก การให้อภัย และศีลธรรมความดีอื่นๆ ดำเนินไปพร้อมๆ กับการใช้กำลังกองทัพ อาวุธที่สังหารพวกนอกรีตและบังคับคนเข้ารีตอย่างโหดเหี้ยม
คัมภีร์ศาสนาเองย่อมถูกปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมผ่านการ “สังคายนา” ของบรรดานักบวช ผู้นำศาสนา คณะสงฆ์ หรือศาสนจักรภายใต้การอุปถัมภ์ของอำนาจรัฐ มองอย่างไร้เดียงสาก็เข้าใจว่าผู้มีอำนาจรัฐให้ความอุปถัมภ์ศาสนาเพราะความเลื่อมใสศรัทธา แต่เมื่อมองตามเป็นจริงก็จะเห็นว่ายิ่งอุปถัมภ์ศาสนาผ่านวันเวลาที่ยาวนาน ยิ่งทำให้ชนชั้นปกครองเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดากลายเป็นธรรมราชาผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ กลายเป็นสมมติเทพ เป็นเทพ เป็นพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ในนามของพระเจ้า
อย่างที่บอกแต่แรกว่า เมื่อผมเริ่มเรียนรู้พุทธศาสนานั้นประทับใจคำสอนที่ว่า “ความประเสริฐหรือไม่ประเสริฐของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด หากขึ้นอยู่กับการกระทำ” แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปได้อ่านคัมภีร์ที่บรรยายถึงความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิธรรมราชาที่ทั้งทรงคุณธรรมและอำนาจ มีราชโอรสเป็นร้อยๆ ที่เก่งเรื่องการรบ มีสมบัติมหาศาลเหนือใครในจักรวาล ก็เริ่มเข้าใจถึงความซับซ้อนของศาสนายิ่งขึ้น
จากความเข้าใจความซับซ้อนของศาสนาในคัมภีร์ ก็เข้าใจสิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้ในหนังสือ “พระนิพนธ์ ความทรงจำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ว่าตอนที่ท่านประสูตินอกจากจะมีประเพณีอื่นๆ ทั้งพราหมณ์พุทธตามแบบราชกุศลสมัยนั้นแล้ว “เมื่อประสูติได้ 3 วัน มีพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติ” ด้วย ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าโอรสของกษัตริย์ในรัฐพุทธผสมพราหมณ์ยุคประเพณีนั้นขณะที่อยู่ในพระครรภ์ก็ถือว่าเป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” แล้ว ดังนั้นที่นำพิธีเวียนเทียนซึ่งโดยปกติจะใช้เป็นการแสดงความเคารพพุทธะหรือพระรัตนตรัยมาใช้กับราชโอรสแรกประสูติ ก็คงเพราะถือว่าเป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” นั่นเอง
ถึงตรงนี้ ย่อมทำให้เราเข้าใจได้ว่าประวัติศาสตร์ศาสนายุคหลังพระศาสดาหรือยุคประเพณี เมื่อศาสนาผนวกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอำนาจรัฐ ได้เกิดการพยายามทำให้ศาสนาเป็นสิ่งที่หล่นมาจากฟ้าอย่างซับซ้อนอย่างไร ในเมื่อชนชั้นปกครองต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้ถูกปกครอง แต่ไม่สามารถสร้างการยอมรับได้ด้วยการใช้ “อำนาจดิบ” คือกองทัพ กำลังอาวุธ และกฎหมายเท่านั้น “การเมืองวัฒนธรรม” จึงเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองและศาสนจักร หรือคณะสงฆ์ร่วมกันสร้างขึ้นโดยใช้ศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือสร้างความชอบธรรมให้กับสถานะและอำนาจของพวกตน
ในแง่นี้อำนาจการตีความและประยุกต์ใช้ศาสนาในทางการเมืองจึงอยู่ในมือของชนชั้นปกครองและศาสนจักรหรือคณะสงฆ์มาตลอด แน่นอนว่า “ศีลธรรมตามอำนาจการตีความของชนชั้นใด ก็เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น” และ “ชนชั้นใดบัญญัติกฎหมาย ก็เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น” ดังนั้นผู้ใต้ปกครองย่อมได้ยินได้ฟังแต่เสียงสรรเสริญสดุดีคุณธรรมของชนชั้นปกครองจากปากของเหล่านักบวชและผู้นำศาสนา ขณะเดียวกันก็ไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในการบัญญัติกฎหมาย หรือมีสิทธิ์มีเสียงในทางการเมือง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่หล่นจากฟ้าเสียแล้ว หากแต่เป็น “สิ่งที่ฟ้ากำหนดมา” เช่นฟ้ากำหนดให้เป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักคือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ที่อยู่เหนือการใช้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ศาสนาบ้านๆ อาจจะมีอิสระในการตีความคำสอน และสร้างความเชื่อ ประเพณีตามบริบทท้องถิ่นต่างๆ แต่ก็ต้องไม่ขัดแย้งกับ “ศาสนาความเป็นไทย” ที่มีความจริงและความดีสูงสุดเป็น “แก้ว 3 ประการ” สำหรับเป็นที่เคารพสักการะ คือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันเกิดจากประวัติศาสตร์การนำศาสนาแบบอินเดียมาเล่นแร่แปรธาตุจนเปลี่ยนโฉมหน้าเป็นศาสนาความเป็นไทยมาจวบปัจจุบัน
การสร้างสังคมที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย ตั้งแต่ปฏิวัติสยาม 2475 จนถึงปัจจุบัน ย่อมถูกกำหนดให้ดำเนินไปภายใต้ศาสนาความเป็นไทยดังกล่าว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังคงครองอำนาจนำที่เหนือกว่าทั้งในเวทีการเมืองวัฒนธรรมและการยึครองสรรพกำลังอื่นๆ เช่นกองทัพ ระบบตุลาการ ระบบราชการ
ศาสนาที่หล่นมาจากฟ้าหรือศาสนาที่ฟ้ากำหนดมา จึงไม่ใช่ทางหลุดพ้นสู่อิสรภาพและเสรีภาพ การหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของศาสนาเช่นนั้นต่างหาก ที่จะเป็นจุดเริ่มของความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย
แสดงความคิดเห็น