Posted: 18 Nov 2018 05:43 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatia.com)
Submitted on Sun, 2018-11-18 20:43


นักเศรษฐศาสตร์ระบุหากมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการจัดเก็บอัตราภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้ากว่าที่ปรากฏในกฎหมายที่ผ่าน สนช.

18 พ.ย. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาบังคับใช้เป็นกฎหมายว่า เป็นการปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีและรายได้ภาครัฐครั้งสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างภาษีของไทยนั้นขึ้นอยู่กับฐานรายได้และฐานบริโภคมากเกินไป ขณะที่ภาษีทรัพย์สินเป็นสัดส่วนรายได้ของภาครัฐน้อยมาก คาดว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค.2563 จะทำให้ภาครัฐมีรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 5-6.5 หมื่นล้านบาท (จากเดิมที่เก็บจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่เก็บภาษีได้ปีละ 3.5-4 หมื่นล้านบาท) การเก็บภาษีที่ดินแทนที่ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือผู้มีทรัพย์สินมูลค่าสูงมีภาระภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ ลดการใช้อำนาจดุลยพินิจเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ลดปัญหาการกักตุนเก็งกำไรที่ดินและกระจายการถือครองเพิ่มขึ้น

ส่วนการเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าโดยเริ่มเก็บ 0.3% ของราคาประเมินและเก็บเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี จะเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้ทรัพยากรที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนหรือบริหารจัดการที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังวิเคราะห์อีกว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เหมาะสมยังทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่ สามารถทบทวนและยกเลิกภาษีโรงเรือนที่ล้าสมัยมีอัตราสูงเกินไปได้ และหากมีการใช้เงินจากภาษีที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่โปร่งใสย่อมทำให้ประชาชนในพื้นที่และผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบได้ง่าย นอกจากนี้อาจสามารถนำเอาเงินงบประมาณมาจัดตั้งธนาคารที่ดิน และ โฉนดชุมชนนำมาแจกให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินได้

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่าและคนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องใช้ควบคู่มาตรการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและมาตรการสวัสดิการสังคมอื่นๆจะทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง (3-5 ปี) และ ในระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) ที่ประสบปัญหาทั้งในมิติความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายภาษีที่ดินนี้ได้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณายาวนานถึง 19 เดือนและมีการแก้ไขรายละเอียดค่อนข้างมากจากต้นร่างเดิมของกระทรวงการคลัง สาระสำคัญบางส่วนของกฎหมายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในสังคมได้มากนัก หากมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการจัดเก็บอัตราภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้ากว่าที่ปรากฏในกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ นอกจากนี้ภาษีที่ดินยังช่วยทำให้การจัดรูปที่ดิน การบริหารจัดการและพัฒนาที่ดินดีขึ้น นอกจากการใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การมีผังเมืองและระบบโซนนิ่ง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดิน กฎหมายการควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เป็นต้น

เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการหาช่องว่างทางกฎหมายส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมาย BOI มาตรา 27 เพื่อให้ อาลีบาบา หรือกลุ่มทุนข้ามชาติต่างๆ สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและซื้อที่ดินได้เพื่อแลกกับการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวทิ้งท้าย ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ว่าไม่ควรเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อแลกกับการลงทุน การให้เช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปีนั้นถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่มากเกินพอแล้ว และการให้เช่าที่ดินยาวขนาดนั้นก็ต้องทบทวนด้วย ไม่ว่าจะมีการซื้อและถือกรรมสิทธิ์หรือเช่าระยะยาวมากๆจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของไทย เกิดความไม่สมดุลในเศรษฐกิจภายใต้โลกาภิวัตน์และอาจส่งผลกระทบในทางสังคมและการเมืองรวมทั้งความมั่นคงในอนาคตได้

ตลาดที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีการเปิดกว้างตามกระแสโลกาภิวัตน์อยู่แล้ว ระบบการเงินและอนุพันธ์ทางการเงินได้เพิ่มความหลากหลายในการมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว เดิมการซื้อขายและแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์และสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายแบบง่ายๆได้พัฒนาให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ผ่านการซื้อขายในกองทุนรวมหรือหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) หรือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) การเปิดกว้างอย่างมากของกฎหมาย EEC และ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ นำไปสู่การเปิดและการขยายตลาดที่ดินในพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะพื้นที่ EEC อันเป็นประโยชน์ต่อภาคการลงทุนแต่ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การเก็งกำไรในการซื้อขายที่ดินที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของความสามารถในการผลิตที่แท้จริง มีการใช้ทรัพยากรที่ดินอย่างสิ้นเปลืองและขาดความสมดุล การใช้ที่ดินเชิงอุตสาหกรรมและเกษตรเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่แบบเข้มข้นเกินสมดุล ทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิตของผู้คน และพื้นที่เกษตรกรรมรายย่อย

ปัญหาการกว้านซื้อที่ดินโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่และทุนต่างชาติผ่านตัวแทนอำพรางหรือนอมินีต้องได้รับการแก้ไข การถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ผ่านตัวแทนคนไทยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จะมีผลโดยตรงต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศ หากทุนต่างชาติและคนต่างด้าวถือครองที่ดินจำนวนมากขึ้น ย่อมทำให้สัดส่วนการถือครองของคนไทยลดลงและสูญเสียโอกาสในการถือครองที่ดิน ตลาดที่ดินในกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้กฎระเบียบอาจตามไม่ทันพลวัตเศรษฐกิจ นำไปสู่ปัญหาประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการถือครองและ ใช้ประโยชน์ที่ดิน มีความจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายและจัดระเบียบในเรื่องดังกล่าว ส่วนการถือครองอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินผ่านตัวแทนอำพรางและการใช้ที่ดินของต่างชาติควรมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกก่อนกำหนดนโยบายหรือเปิดกว้างในการถือครองเพิ่มเติม

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวขอให้ผู้มีอำนาจรัฐระมัดระวังในการดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมและเท่าทันในการตอบสนองต่อแนวความคิดแบบจักรวรรดิของรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลชาติตะวันตกก็ดีและขอยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทยเป็นสำคัญ การเปิดกว้างและการเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องมียุทธศาสตร์และกุศโลบายไม่ให้ “ไทย” ตกเป็น “เบี้ยล่าง” ทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยและอาจมีปัญหาความมั่นคงติดตามมาอีก ต้องมีนโยบายในการดูแลกลุ่มคนต่างๆที่ได้รับผลกระทบด้วย การสนับสนุนการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินหรือการซื้อที่ดินของกลุ่มทุนต่างชาติเพื่อแลกกับการลงทุนนั้นเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสียและไม่ควรพิจารณาเฉพาะมิติทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนเท่านั้น นโยบายดังกล่าวต้องพิจารณาให้รอบคอบและอาจส่งผลเสียต่อประเทศและประชาชนชาวไทยในระยะยาวได้โดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านดินแดนของประเทศ



[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.