(ที่มาภาพ: pexels)

Posted: 20 Nov 2018 07:55 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatia.com)
Submitted on Tue, 2018-11-20 22:55


รายงานความโปร่งใสของเฟซบุ๊คเปิดเผยจำนวนเนื้อหาที่ได้จำกัดการเข้าถึงเนื่องจากผิดกฎหมายของประเทศต่างๆ ในไทยมีการจำกัดการเข้าถึงในไทยไปทั้งสิ้น 735 รายการ หลังรับรายงานจากหน่วยงานรัฐว่าผิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อนับจำนวนชิ้นแล้วพบว่านำหน้าเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ทิ้งเวียดนามที่มาอันดับสองแบบไม่เห็นฝุ่นที่ 735 ต่อ 287

20 พ.ย. 2561 รายงานความโปร่งใสของเฟซบุ๊ค (Transparency Report) ที่เผยแพร่ทุกหกเดือนมาตั้งแต่ปลายปี 2560 รายงานจำนวนเนื้อหาที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 - มิ.ย. 2561 มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาในไทยทั้งสิ้น 735 รายการ

ในรายละเอียดพบว่า เฟซบุ๊คได้รับการรายงานจากกระทรวงข้อมูลและสารสนเทศ (ไอซีที) กระทรวงการต่างประเทศหรือศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (CERT) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขอให้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาบางชิ้นภายใต้กฎหมายของไทยที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โดยในช่วงเดือน ก.ค. - ธ.ค. 2560 มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาเช่นว่า 138 รายการ และในเดือน ม.ค. - มิ.ย. มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 283 รายการ

บีบีซีไทย รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2556 เฟซบุ๊คได้ทำตามคำขอของรัฐบาลไทยในการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมด 735 ชิ้น ส่วนกรณีอื่นนั้นมีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทส่วนบุคคลสามชิ้น และคำขอจากรัฐบาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นทั่วโลก จาก 82,341 คำขอเป็น 103,815 คำขอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25

ในระยะเวลาเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในข้อตกลงความร่วมมืออาเซียน พบว่าไทยมีอัตราการขอให้จำกัดเนื้อหามากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับพม่า (8-เนื้อหาที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดในเชิงศาสนา และยั่วยุให้เกิดการทำลายความสงบและอื่นๆ) เวียดนาม (287-เนื้อหาเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย สัตว์ป่า การปลอมแปลงตัวตนเพื่อแพร่ข้อมูลเท็จ และการหมิ่นประมาทส่วนบุคคล) กัมพูชา (1-หมิ่นประมาทส่วนบุคคล) อินโดนีเซีย (154-เนื้อหาเกี่ยวกับเฮทสปีช สินค้าที่รัฐควบคุม ลัทธิสุดโต่ง การแลกเปลี่ยนสัตว์สงวน ดูหมิ่นศาสนา และรณรงค์เรื่องแนวคิดคอมมิวนิสต์) ฟิลิปปินส์ (2-หมิ่นประมาทส่วนบุคคล) มาเลเซีย (4-ขายสินค้าที่รัฐควบคุมโดยไม่ได้รับการรับรอง) และสิงคโปร์ (1-หมิ่นประมาทส่วนบุคคล)

หลักเกณฑ์การจำกัดการเข้าถึงของเฟซบุ๊คได้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆ แต่ไม่ละเมิดมาตรฐานชุมชนของเครือข่ายโซเชียลของเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม โดยอิงตามพื้นที่ที่เนื้อหานั้นผิดกฎหมาย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.