มาเรีย เรสซา (ซ้าย) ผู้ก่อตั้ง Rappler
รับรางวัลเสรีภาพสื่อของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ)

Posted: 26 Nov 2018 06:16 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 21:16


ในสุนทรพจน์รับรางวัลเสรีภาพสื่อของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) มาเรีย เรสซา เจ้าของสื่อ Rappler แห่งฟิลิปปินส์ผู้ได้รับรางวัลนี้ พูดถึงการที่ Rappler ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ รวมถึงการที่รัฐบาลเผด็จการต่างๆ เริ่มกันมาใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียในการแพร่กระจายคำโกหก ใส่ร้าย ใส่ความ สื่อและนักวิจารณ์ รวมถึงเรื่องที่ว่าทำไมพวกเราทุกคนถึงควรจะต่อสู้กลับในเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา องค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวหรือ CPJ ประกาศให้ มาเรีย เรสซา ที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง ซีอีโอ และบรรณาธิการบริหารของสื่อออนไลน์จากฟิลิปปินส์ Rappler เป็นผู้ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อเกวน อิลฟิลล์ โดยที่สื่อ Rappler ก่อตั้งเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา เป็นที่รู้จักกันในฐานะสื่อมวลชนฟิลิปปินส์ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายและปฏิบัติการที่ชวนให้เกิดข้อโต้แย้งของประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต

อย่างไรก็ตามรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็พยายามสกัดกั้นสื่อ Rappler ด้วยวิธีการฟ้องร้องเกี่ยวกับเรื่องภาษี มีการพยายามเพิกถอนการจดทะเบียนของสื่อนี้และรวมถึงมีการสั่งแบนเว็บไซต์โดยที่ดูเตอร์เตกล่าวหาว่าเป็น "ข่าวปลอม" แต่ทาง Rappler ก็ยังคงดำเนินการเว็บไซต์ของตัวเองต่อไปโดยที่ท้าทายรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่พยายามปิดกั้นสื่อด้วยสาเหตุทางการเมือง

เรสซาเคนทำงานสื่อในเอเชียมากกว่า 30 ปี ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าสาขาของซีเอ็นเอ็นในกรุงมะนิลาและจาการ์ตา และไปทำงานในแหล่งอื่นๆ อีกหลังจากนั้น โดยที่ต่อมาเธอพยายามกำหนดนิยามการทำสื่อแบบใหม่คือผสมผสานระหว่างการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิมกับสื่อใหม่และเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ

เรสซากล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลของ CPJ ไว้โดยระบุถึงปัญหาจากการสับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในโลกปัจจุบันทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในทางที่หันมาโจมตีผู้สื่อข่าวทั่วโลก เธอบอกว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากโซเชียลมีเดียอเมริกันที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่เสริมสร้างกำลังให้กับนักข่าว นักกิจกรรม และพลเมือง มาก่อน แต่ในตอนนี้กลับกลายมาเป็นอาวุธทำลายพวกเขาแทน ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่คำโกหกข้ามพรมแดนจากผู้มีอำนาจเผด็จการ เผด็จการเหล่านี้ยังกลายเป็นผู้เปิดให้คนใช้ด้านมืดของมนุษย์ในการโจมตีสื่อและแม้กระทั่งโจมตีผู้หญิงโดยไม่ต้องรับผิด

ในสุนทรพจน์ของเรสซามีการกล่าวว่าทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์และเฟสบุ๊คต่างก็กลายเป็น "เมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะความรุนแรง ความกลัว และคำโกหก ที่เป็นพิษต่อประชาธิปไตยของพวกเรา" เช่น กรณีคำโกหกที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กุขึ้นเกี่ยวกับคดีที่ฟ้งอร้องต่อ Rappler ซึ่งมีการเพาะเรื่องโกหกเหล่านี้กันมาเป็นเวลานาน

เรสซาพูดถึงการบิดเบือนข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อใส่ความพวกเขาเรื่องภาษี เช่น เรื่องที่จัดประเภทของ Rappler ว่าเป็น "ผู้ค้าหลักทรัพย์" ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นสื่อ เธอมองว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์บิดเบือนกฎหมายไปจนถึงจุดแตกหักเพื่ออ้างใช้ปราบปรามนักข่าวและคนที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขาโดยอาศัยเครื่องมือโซเชียลมีเดีย เครื่องมืออย่างเฟสบุ๊คที่เชื่อมต่อผู้คนมากกว่า 2,300 ล้านคนทั่วโลก แต่พวกเผด็จการก็เรียนรู้วิธีใช้งานแบบทำร้ายประชาชนจากกันและกันด้วย ไม่ว่าจะจากผู้นำโดนัลด์๋ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ หรือดูเตอร์เต

ทั้งทรัมป์และดูเตอร์เตต่างก็เลียนแบบกันในเรื่องการอ้างว่าสื่อที่ตนไม่พอใจเป็นสื่อที่นำเสนอ "ข่าวปลอม" นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทรัมป์สั่งแบนนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่ชื่อ จิม อะโคสตา ไม่ให้ทำข่าวที่ทำเนียบข่าว ซึ่งเป็นการเลียนแบบดูเตอร์เตผู้เคยสั่งห้ามไม่ให้นักข่าว Rappler ที่ชื่อ เปีย รานาดา ทำข่าวอีกทั้งยังเคยสั่งแบนเรสซาไม่ให้เข้าถึงทำเนียบรัฐบาลทั้งๆ ที่เธอไม่ได้ทำข่าวอะไรที่นั่นเลยในช่วงที่ดูเตอร์เตเป็นรัฐบาล

สุนทรพจน์ของเรสซาเสนออีกว่า ควรมีปฏิบัติการต่างๆ เพื่อตอบโต้คำโกหกของรัฐบาลเหล่านี้ 6 ประการ ประการแรก เธอบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องสู้เพื่อสื่อมวลชนและหลักการรัฐธรรมนูญของพวกเขาเอง ประการที่ 2 เธอบอกว่าไม่ควรนิ่งเฉยเมื่อคุณถูกโจมตีในโลกออนไลน์ การนิ่งเฉยต่อการถูกโจมตีเหล่านี้ถือเป็นการยอมให้ผู้นำเผด็จการเหล่านี้้โกหกและปั้นแต่งกุเรื่องขึ้นมาเองต่อไป

ประการที่ 3 เรสซาเสนอให้นักข่าวทำงานรายงานข่าวต่อไปโดยไม่กลัวเกรงหรือมีอคติโอนเอียง อย่างที่อดีตเพื่อนร่วมงานของเธอเคยบอกไว้ว่า "พวกเราควรจะซื่อตรง ไม่ใช่เป็นกลาง"

ประการที่ 4 คือการสร้างพันธมิตรในระดับโลกเพราะข้อมูลข่าวสารคือพลังอำนาจที่มีพวกผู้นำระดับโลกคอยบงการอยู่ ถ้ารัสเซียใช้โมเดล B to C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) จีนก็กำลังใช้โมเดล B to B (ธุรกิจต่อธุรกิจ) อย่างบริษัทดิจิทัลสตาร์อัพเพื่อ "ส่งออก" ลัทธิเผด็จการทางดิจิทัลของพวกเขาไปสู่ประเทศอื่นๆ และสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น

ประการที่ 5 เรสซาเสนอว่าผู้คนควรเรียกร้องให้บรรษัทเทคโนโลยีรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ด้วยไม่ใช่เน้นแต่เรื่องการเติบโตของธุรกิจตัวเองแต่อย่างเดียวในฐานะที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นผู้เฝ้าช่องทางข้อมูลข่าวสารพวกเขาไม่ควรจะปล่อยให้มีการแพร่กระจายเรื่องลวงต่างๆ พวกเขาควรจะคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนและพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นแหล่งที่ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น

ประการที่ 6 เรสซาบอกว่าเธอไม่เพียงถูกโจมตีในฐานะนักข่าวเท่านั้นแต่ยังถูกโจมตีในฐานะนักลงทุนทางธุรกิจที่ทำให้แนวคิดกลายเป็นความจริงด้วย นักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายจึงควรแสดงการไม่เห็นด้วยกับมาตรการเผด็จการของรัฐบาลเพื่อส่งสัญญาณถึงนักลงทุนอื่นๆ ด้วย

ผู้ก่อตั้งสื่อ Rappler บอกอีกว่าสำหรับพวกเขาแล้วมันเป็นเรื่องของค่านิยมและหลักการ เธอยังกล่าวด้วยว่าพันธกิจของ Rappler นั้นชัดเจน โดยกล่าวถึงนักข่าวหญิงของ Rappler คือแพทริเซีย อีวานเกลิสตา ผู้อุทิศตนยืนหยัดทำข่าวเรื่องเกี่ยวกับสงครามยาเสพติดและการไม่ต้องรับผิดของรัฐบาลดูเตอร์เต รวมถึงทุกคนที่ต้องเผชิญการถูกโจมตีจากรัฐบาลดูเตอร์เตและพยายามสู้กลับ "คุณไม่รู้หรอกว่าคุณเป็นใคร จนกว่าคุณจะถูกบีบให้ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องมัน" เรสซากล่าว

เรียบเรียงจาก

Maria Ressa : International Press Freedom Awards, CPJ, 21 November 2018.

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.