Posted: 22 Nov 2018 12:16 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-22 15:16
รองประธานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ร้องรัฐคุ้มครองเด็กทุกคนในประเทศ ทั้งเด็กไทย เด็กข้ามชาติและเด็กผู้ลี้ภัย ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เนื่องในวันสิทธิเด็กสากล
22 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ในเวทีเสวนาเนื่องในวันสิทธิเด็กสากล “การขับเคลื่อนเชิงนโยบายและการพัฒนาตั้งต้นที่เด็ก กับการคุ้มครองทางสังคมเด็กข้ามชาติในเชิงปฏิบัติและทิศทางนโยบายการศึกษาอาเซียน” ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง ชั้น 16 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้เรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญเพื่อคุ้มครองและพัฒนาสิทธิเด็ก 9 ข้อดังนี้
1. เด็กทุกคนต้องเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 15 ปี คือตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งจะมีอายุประมาณอายุ 18 ปี ซึ่งพบว่าเด็กไทยรวมทั้งเด็กข้ามชาติและเด็กผู้ลี้ภัยจำนวนมากเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนครูอาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษาจำนวนมากไม่ทราบว่าการศึกษาต่ำสุดขั้นพื้นฐานที่บังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนคือ 15 ปี ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6
2. มีมาตรการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสังคมพหุวัฒนธรรม และเด็กข้ามชาติ โดยอาจจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กเหล่านี้ ซึ่งเป็นเด็กพิเศษทางวัฒนธรรม
3. เด็กแรกเกิด เด็กไร้เดียงสา เด็กเล็ก อายุ 0-7 ปี ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฟรี
4. เด็กอายุตั้งแต่ 7 - 18 ปี ถ้าเป็นเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยต้องสามารถซื้อประกันสุขภาพในราคา 365 บาทต่อปี ได้ทุกในโรงพยาบาลของรัฐ
5. ต้องไม่มีการใช้แรงงานเด็กในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในทุกรูปแบบ
6. ต้องไม่มีมวยเด็ก เด็กต้องได้รับการพัฒนาในโรงเรียน ไม่ใช่ในสนามต่อสู้ ผู้ปกครองต้องเป็นผู้เลี้ยงดูและคุ้มครองเด็ก ไม่ใช่ให้เด็กไปชกมวยเลี้ยงดูผู้ปกครอง
7. การรับแจ้งเกิดเด็กทุกคนในประเทศไทยต้องเป็นไปได้โดยง่าย และตรงกับความเป็นจริงโดยไม่มีเงื่อนไขที่มาจำกัดการรับแจ้งเกิด เช่น มีการเรียกหลักฐานของนายจ้าง และทะเบียนบ้านของนายจ้าง จึงจะรับแจ้งเกิดเด็กลูกแรงงานต่างด้าว
8. เด็กทุกคนในประเทศไทยต้องมีเอกสารแสดงตนที่ออกให้โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมีเลข 13 หลักและบัตรประจำตัวบุคคลตามความเป็นจริง
9. เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดา มารดา ต้องไม่มีการแยกลูกจากพ่อแม่ เด็กต้องไม่ถูกกักขัง หรือกักกันในพื้นที่จำกัด เช่น ที่กักขังของตม. เด็กต้องมาอยู่ภายนอกพร้อมกับครอบครัว
สุรพงษ์ กล่าวว่า ในการดูแลคุ้มครองเด็กต้องยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใหญ่ยังยึดตัวเองหรือหน่วยงานของตนเป็นศูนย์กลางอยู่
แสดงความคิดเห็น