Posted: 26 Nov 2018 07:32 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:32


นิธิ เอียวศรีวงศ์

การร่วมเพศเป็นอันตรายต่อชีวิตพรหมจรรย์อย่างไร ผมขอไม่พูดถึง เพราะความรู้ไม่พอ แต่ถ้าพระมีเมียได้ย่อมมีอันตรายในทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะในรัฐโบราณซึ่งอำนาจมักกระจุกอยู่ในมือของบุคคล, กลุ่มบุคคล, กลุ่มตระกูล, หรือ “ชนชั้น” ที่จำกัดไว้เล็กและแคบ

ก่อนหน้าจะเกิดรัฐชาติ (หรือที่เรียกในเพลงชาติว่าประชารัฐ) ขึ้น ศาสนาดึงดูดความภักดีของผู้คนได้มากที่สุด ซ้ำเป็นความภักดีที่เข้มข้นซึมลึกถึงจิตใจและยืนนานที่สุดด้วย ไม่มีผู้ปกครองของรัฐใดจะสามารถเสริมสร้างความภักดีต่อตนเองได้เทียบเท่า

แต่ตราบเท่าที่ศาสนายังเป็นแต่เพียงคำสอนและแบบปฏิบัติในชีวิต “อันประเสริฐ” ภัยคุกคามต่ออำนาจทางการเมืองก็มีไม่มาก และผู้ปกครองสามารถยอมรับนับถือ ตลอดจนมีความภักดีแม้อย่างจริงใจต่อศาสนาได้ กลายเป็นเครื่องเสริมสร้างอำนาจของผู้ปกครองเสียด้วยซ้ำ

แต่ศาสนามักไม่ได้เป็นเพียงคำสอนเฉยๆ มี “บุคลากร” ประจำศาสนาด้วย บางศาสนาเรียกบุคลากรประเภทนี้ว่า “นักบวช” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ยอมรับนับถือไม่แต่เพียงคำสอน แต่ยอมรับวัตรปฏิบัติบางอย่างเป็นกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดในการดำเนินชีวิต นับตั้งแต่เครื่องแต่งกาย (และกาย), ไปจนถึงอาหารที่เสพ, การเลี้ยงชีพ และความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทั้งที่เป็นนักบวชด้วยกัน หรือที่เป็นชาวบ้าน หรือที่เรียกว่า “วินัย”

แม้ว่าบางศาสนาไม่มี “นักบวช” แต่ก็มีบุคลากรบางประเภทซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ต่อศาสนาที่พิเศษกว่าคนทั่วไป เช่น พราหมณ์ย่อมรักษาวัตรปฏิบัติในชีวิตให้แตกต่างจากคนที่ไม่ใช่พราหมณ์ และอาจประกอบพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่างซึ่งคนอื่นไม่มีสิทธิ์จะประกอบได้ “ผู้รู้” ในศาสนาอิสลาม หรือ “นักเทศน์” ในศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ คือคนที่ได้ศึกษาเล่าเรียนทางศาสนามามากกว่าคนทั่วไป แม้ไม่ใช่นักบวชเหมือนภิกษุในพุทธศาสนา แต่ก็ได้รับความนับหน้าถือตาเป็นพิเศษจากคนอื่น ทั้งมีหน้าที่บางอย่างต่อศาสนาด้วย เช่นเทศน์หรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับศาสนาแก่คนอื่น (แม้ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องทำ)

เพียงเท่านี้ บุคลากรทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือไม่ก็มีอำนาจอิสระของตนเองขึ้นแล้ว ที่ผมเรียกว่าอำนาจอิสระ คือเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในตัวเอง ไม่ได้รับจากคนอื่น จะมีหรือสูญอำนาจในเวลาต่อมาก็มาจากการกระทำของตนเอง ไม่มีใครไปให้หรือถอนได้ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงเป็นภัยคุกคามแก่ผู้ถืออำนาจของรัฐ ต้องหาวิธีจัดการให้คนเหล่านี้อยู่ในความควบคุมอย่างใดอย่างหนึ่ง

เพียงแค่บุคลากรทางศาสนาเป็นคนๆ ไปเช่นนี้ก็อาจคุกคามผู้ปกครองรัฐได้แล้ว หากบุคลากรเหล่านี้รวมตัวกันกลายเป็นองค์กร และมีการจัดองค์กรภายในที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ก็ยากที่ผู้ปกครองรัฐคนใดจะสู้ได้ เพราะนอกจากคนเหล่านี้จะได้รับส่วนแบ่งความภักดีต่อศาสนามาไว้กับตัวแล้ว ยังสามารถเคลื่อนไหว (ทั้งทางศาสนาและการเมือง) ได้ในฐานะองค์กร คือบุคลากรหรือนักบวชทุกคนหันหน้าไปในทิศทางเดียวกันหมด

องค์กรนักบวชที่ใหญ่ที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นนักบวชในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ศาสดาของศาสนาไม่ได้สร้างนักบวชหรือองค์กรนักบวช แต่เงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นในการเผยแพร่คำสอนหลังจากนั้นทำให้เกิดคณะนักบวชขึ้น และเริ่มจัดองค์กรแบ่งเขตการปกครองดูแลกัน แต่ยังไม่มีเจ้าคณะใหญ่สุดที่ดูแลได้ทั่วทุกเขต พูดอีกอย่างหนึ่งคือยังไม่มีองค์กรกลาง

แม้กระนั้น หากไม่นับจักรวรรดิโรมันอันมีจักรพรรดิเป็นประมุขสูงสุดแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า องค์กรของนักบวชคริสต์นับเป็นองค์กรที่มีบทบาทอำนาจสูงสุด เพราะสามารถควบคุมดูแลพระสงฆ์ข้ามแดนไปได้ไกลๆ นอกจากนี้ เจ้าคณะแห่งกรุงโรมก็ยังได้รับความนับถือว่ามีเกียรติยศสูงสุด และพึงมีอาญาสิทธิ์สูงสุดในกลุ่มนักบวชที่ประกาศตนว่ายึดถือคำสอนดั้งเดิมอันถูกต้อง (Catholic)

ดังนั้น เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง องค์กรนักบวชคาทอลิกจึงเป็นองค์กรเดียวที่สามารถรับสืบทอดอำนาจ (บางส่วน) ของจักรวรรดิมาได้ ตลอดทั่วดินแดนยุโรปใต้, ตะวันตก และยุโรปกลาง

นักบวชคาทอลิกทุกประเภท (นับตั้งแต่เณร, ชี, พระระดับและประเภทต่างๆ) ห้ามเสพเมถุนธรรม จึงไม่มีเมีย (และผัว)

องค์กรนักบวชพุทธเป็นอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งแม้มีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยองค์พระศาสดาแล้ว แต่ก็เป็นการจัดองค์กรที่หลวมมาก คือดูแลกันเองในสำนักของอาจารย์เดียวกันเท่านั้น จึงพร้อมจะแตกแยกออกจากกันเมื่อพระบรมศาสดาดับขันธ์แล้ว โอกาสที่อาจารย์ของสำนักใดสำนักหนึ่งจะมีอำนาจหรืออิทธิพลไปกำกับดูแลสำนักอื่นจึงเป็นไปไม่ได้เอาเลย แม้เมื่อพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ ทั้งในและนอกอินเดีย การจัดองค์กรก็ยังไม่เคยถูกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนคาทอลิก จนถึงยุคสมัยใหม่แล้วเท่านั้น

อำนาจทางการเมืองของคณะสงฆ์จึงไม่เป็นอิสระ ต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพระราชอำนาจเสมอ นับเป็นความปลอดภัยของผู้ปกครองรัฐอย่างหนึ่ง แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์เป็นองค์ๆ ไป อาจได้รับความนับถือศรัทธาจากชาวบ้านอย่างมาก จนสามารถขยายเครือข่ายสำนักของตนออกไปได้กว้างขวาง เป็นภัยคุกคามทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปกครองต้องมีวิธีจัดการควบคุมด้วยกำลังหรือการอุปัฏฐาก แล้วแต่กรณี

นักบวชพุทธก็ถูกห้ามมิให้เสพเมถุนธรรมเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีเมีย (หรือผัว) ในขณะดำรงเพศเป็นนักบวช

อันที่จริงการห้ามเสพเมถุนธรรมนั้นไม่ได้เป็นประเพณีของศาสนามาก่อน หรือไม่ได้ถือเคร่งครัดนัก หากเชื่อว่าคริสต์ศาสนามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับศาสนายูดายของยิว นอกจากไม่มีนักบวชในศาสนานั้นแล้ว แม้แต่คนที่คริสต์ศาสนายกย่องให้เป็นศาสดาพยากรณ์เช่นอับราฮัมหรือโมเสส ก็มีเมียมีลูกเหมือนคนทั่วไป

ข้อห้ามมีเมียของนักบวชพุทธยังพอมีเค้าอยู่บ้างในอินเดีย ถ้าถือตามหลักอาศรมสี่ของศาสนาพราหมณ์ คนแก่ที่ปฏิญาณตนเป็นสันยาสีหรืออาศรมสุดท้ายของชีวิต ย่อมสละทุกอย่างรวมทั้งลูกเมียโดยสิ้นเชิง มีกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตหรือ “วินัย” อยู่บ้าง จะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “นักบวช” ก็คงพอได้ เช่นเดียวกับพวกที่ถูกเรียกโดยฝ่ายพุทธว่า “นิครนถ์” และ “ปริพาชก” ซึ่งมี “วินัย” อยู่เหมือนกัน ก็ใช้ชีวิตที่มีเมียได้ยาก

แต่ข้อห้ามมิให้ล่วงเมถุนธรรมนี้นับว่าแปลก เพราะฤษีในรามเกียรติ์บางคนล่วงละเมิดเรื่องนี้ ซ้ำยังมีฤทธิ์เหมือนเดิม ยิ่งในเรื่องเล่าพื้นถิ่นไทยฤษีมีลูกสาวที่เที่ยวยกให้เจ้าเมืองเลยทีเดียว หรือฤษีไทยกับฤษีแขกจะไม่ใช่คนประเภทเดียวกันก็ไม่ทราบได้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่านักบวชในสองศาสนานี้เท่านั้นที่มีการจัดองค์กร แม้ในพุทธศาสนาเถรวาทเป็นองค์กรหลวมๆ ที่ไม่เข้มแข็งนักก็ตาม แต่ก็ยังเป็นองค์กรในสังคมที่ไม่มีองค์กรอื่นนอกจากองค์กรปกครองของกษัตริย์ และนักบวชในสองศาสนานี้เท่านั้นที่ถูกห้ามไม่ให้มีเมีย

ชีวิตพรหมจรรย์ของนักบวชช่วยประกันความมั่นคงของอำนาจผู้ปกครองได้อย่างมาก เพราะหากมีเมียก็จะเกิดครอบครัวและวงศ์ตระกูล ซึ่งล้วนสามารถสั่งสมเครื่องมือแห่งอำนาจได้หลายอย่าง เช่น ตำแหน่ง, ทรัพย์, บริวาร และเครือข่ายทางเศรษฐกิจ, สังคม หรือการเมือง ล้วนทำให้สามารถต่อรองอำนาจหรือแข็งขืนอำนาจของผู้ปกครองได้อย่างน่ากลัวทั้งสิ้น

พราหมณ์ในราชสำนักอาณาจักรเมืองพระนครคนหนึ่งชื่อศิวะไกวัลยะ สืบทอดตำแหน่งราชครูของพระเจ้าแผ่นดินเขมรมาหลายชั่วคน แม้ว่าอาจมีการแย่งราชสมบัติหรือเปลี่ยนราชวงศ์ก็ตาม ตระกูลนี้จึงต้องมีบทบาทอย่างสำคัญในการเมืองราชสำนัก และที่มีบทบาทอย่างนี้ได้คงไม่ใช่เพียงสืบทอดตำแหน่ง แต่ต้องสืบทอดอื่นๆ อีกหลายอย่างในตระกูลด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพราะพราหมณ์มีเมียไงครับ

แม้ไม่มีเมีย มีแต่ตระกูล ก็ยังรวบอำนาจไว้ได้มาก

ในช่วงที่ศาสนจักรคาทอลิกเริ่มเสื่อม พระก็ (แอบ) มีเมีย ทำให้พระเข้าไปสัมพันธ์กับตระกูลที่มีอำนาจบางตระกูล ในที่สุดบางตระกูลก็สามารถผลักดัน “ญาติ” ของตนให้ขึ้นไปดำรงตำแหน่งสันตะปาปาสืบเนื่องกันมาหลายสมัย ดังเช่นตระกูล Medici แห่งฟลอเรนซ์และทัสคานี ซึ่งถือกำเนิดจากพ่อค้าและธุรกิจธนาคารเท่านั้น

มีหลักฐานที่แสดงว่า ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ตระกูลเจ้าที่ดินใหญ่ๆ ของฝรั่งเศส ต่างส่งลูกหลานไปจับจองตำแหน่งเจ้าคณะของจังหวัดและมณฑลต่างๆ ทั่วฝรั่งเศสไปแล้ว

พระมีเมียจึงเป็นเรื่องน่ากลัว

จะเป็นความบังเอิญ หรือมีเหตุอันลึกซึ้งอย่างไรผมก็ยังคิดไม่ออก ศาสนาที่ปล่อยให้พระมีเมีย มักจัดองค์กร (เอง… คือไม่ใช่ให้คนอื่นจัดให้) ใหญ่ที่รวมศูนย์ไม่ได้ นักบวชในนิกายพุทธมหายานระยะหลังซึ่งไม่ห้ามพระมีเมีย ก็แตกแยกเป็นนิกายย่อยจำนวนมาก ถึงมีองค์กรของตนเอง ก็เป็นองค์กรขนาดไม่ใหญ่ที่จะครอบคลุมได้ทั่วพระราชอาณาจักร ฉะนั้น เมื่ออยู่ในรัฐที่มีการจัดองค์กรด้วยระบบราชการที่เข้มแข็งของลัทธิขงจื๊อ หรือศักดินาที่รวมศูนย์อย่างญี่ปุ่น จึงยากที่จะรักษาอิทธิพลทางการเมืองซึ่งช่วงชิงมาได้ในบางครั้งไว้อย่างถาวร

เช่นเดียวกับพราหมณ์ในอินเดีย แทบจะไม่มีองค์กรของตนเองมากไปกว่าที่กระจุกในศาสนสถานที่สำคัญ อำนาจทางการเมืองของพราหมณ์หากจะมี ก็มาจากบุคคล ไม่ได้มาจากองค์กร ยิ่งกว่านี้หากถือว่าความเชื่อและแบบปฏิบัติทางศาสนาเป็นไปตามความเชื่อและแบบปฏิบัติในท้องถิ่น ซึ่งไม่เหมือนกัน ก็ต้องถือว่าศาสนาฮินดูมีนิกายเป็นร้อยเป็นพัน ถ้าจะมีองค์กรนักบวชก็น่าจะเล็กและไร้ความสำคัญทางการเมืองเอาเลย

ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งยอมให้พระมีเมียก็อยู่ในลักษณะเดียวกันกับฮินดู แม้ว่าองค์กรของแต่ละนิกายอาจเข้มแข็งพอที่จะเรี่ยไรเงินบริจาคได้มากๆ นำมาเผยแพร่ศาสนานิกายของตนเองในดินแดนห่างไกล แต่อิทธิพลทางการเมืองหากจะมีกลับเป็นเรื่องของบุคคลซึ่งเป็นนักเทศน์บางคน ที่ได้รับศรัทธาจากประชาชนข้ามนิกายอย่างสูง

สรุปก็คือ ชีวิตพรหมจรรย์ของนักบวชนั้น อาจจำเป็นในทางธรรมสำหรับนักบวช แต่ที่แน่ๆ ก็คือจำเป็นทางการเมืองมากทีเดียว



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ matichonweekly.com/column/article_149684


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.