Posted: 22 Nov 2018 08:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-22 23:28


พลังงานร่วม กฟผ.-สกว.เปิดเวทีระดมสมอง อัพเดตเทคโนโลยีและสถานการณ์ใกล้ตัว พร้อมนำเสนอผลงานวิจัย หวังให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือการพลิกโฉมไฟฟ้าไทยและปรับตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้แนวโน้มว่าโครงข่ายพลังงานเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจำนวนมาก แนะผลิตสมาร์ทมิเตอร์ในประเทศ ช่วยประหยัดเงิน เพิ่มการจ้างงาน และสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยี

22 พ.ย.2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า โครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สกว. ภายใต้ความร่วมมือของ สกว. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานสัมมนาวิจัยพลังงานสู่การใช้งานจริงอย่างยั่งยืน ปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “การพลิกโฉมไฟฟ้าไทย” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีเนื้อหาใกล้ตัวมากขึ้น รวมถึงการอัพเดตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสาธารณูปโภคไฟฟ้าผ่านการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้สังคมทุกภาคส่วนได้รับทราบถึงแนวโน้มของการพลิกโฉม และแนวทางการปรับตัวในการดำเนินงานธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการผลิต การใช้ และการให้บริการไฟฟ้าของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมการไฟฟ้าให้ได้รูปแบบที่มีความยั่งยืนในการก้าวเข้าไปสู่ระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าไทยในอนาคต

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการไฟฟ้าไทยและสถานการณ์โลก ซึ่งปัจจุบันก้าวไปถึงจุดที่มีการเปิดเสรีทั้งในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ ผู้ประกอบการสามารถผลิตและขายไฟฟ้าให้กับใครก็ได้ จึงส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตในประเทศ รวมถึงเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ฯลฯ ที่กำลังถาโถมเข้ามาและส่งผลต่อการซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต ทำให้แต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมพร้อม ซึ่งหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะนำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจ และเกิดการสร้างแนวคิดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างฉลาดและเท่าทันผ่านกรอบโจทย์งานวิจัยสำคัญ

ขณะที่ รศ.ดร.ศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ สำนักประสานงานโครงการร่วมฯ ระบุว่ามีแนวโน้มว่าโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าจะปรับเปลี่ยนไปในลักษณะที่ประกอบด้วยผู้ผลิตไฟฟ้า (ผู้ขาย) ที่มีขนาดเล็กจำนวนมาก เช่น โซลาร์เซลล์ กังหันลม ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง แท็กซี่วีไอพีพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น โดยผู้ซื้อ-ผู้ขายทุกภาคส่วนในเครือข่ายทั้งหมดจะมีสมาร์ทเซนเซอร์หรือสมาร์ทมิเตอร์ที่สามารถวิเคราะห์ปริมาณและคุณภาพของระบบไฟฟ้าตนเองได้ พร้อมมีสายส่งเชื่อมโยงถึงกันและกันด้วยระดับสมาร์ทกริด และสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าแบบเดิม ๆ ที่ผูกขาดดำเนินงานให้บริการ รวมถึงเกิดผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาสู่ตลาดสาธารณูปโภคไฟฟ้า เช่น ผู้จัดหาไฟฟ้าที่คุ้มค่าที่สุดให้กับลูกค้า

สิ่งที่น่ากังวลคือ ตอนกลางวันแดดจัดทำให้คนใช้ไฟจากการไฟฟ้าน้อยลง ทำให้เกิดปัญหากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง กฟผ. เช่นเดียวกับที่เกิดในต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี นอกจากนี้ขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าและมาตรการเชิงนโยบายทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศโดยเฉพาะในเขตเมือง ทำให้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันจะถูกพลิกโฉมไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอนในอนาคต เพียงแต่ยังไม่อาจคาดได้ว่าจะพลิกเร็วเพียงใด ภายในกี่ปีข้างหน้า แต่อย่าได้ชะล่าใจเพราะปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถทำให้หลายอย่างถูกพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว และหากเราผลิตสมาร์ทมิเตอร์ในประเทศได้เองจะช่วยประหยัดเงิน เพิ่มการจ้างงาน และสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยี แต่ต้องไม่ลืมว่าในอนาคตต้องสมาร์ทมิเตอร์กับ 20-30 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในระดับหลายแสนล้านบาท

ภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโส กฟผ. กล่าวว่า เมื่อเทคโนโลยีเป็นตัวนำองค์กรจึงต้องปรับตัว ซึ่งในอนาคตเราจะเน้นพลังงานสีเขียวมากขึ้น มีความยืดหยุ่นของระบบการผลิตและระบบส่งไฟฟ้า ปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่า และพัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ เช่น พลังงานไฮบริด การกำหนดราคาที่ยุติธรรมเพื่อสร้างความสมดุลด้านพลังงาน การบริการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ สมาร์ทกริด-ไมโครกริด เป็นต้น รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาในกรณีที่พลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบปริมาณมาก

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.