Posted: 26 Nov 2018 07:45 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:45
นุชประภา โมกข์ศาสตร์
เศรษฐศาสตร์การเมืองคือหนึ่งในสาขาวิชาที่มีบทบาทในการนำเสนอประเด็นปัญหาของชนชั้นแรงงานมาอย่างยาวนาน โดยจะสังเกตได้ว่าองค์ความรู้ที่นำมาสอนในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยต่างๆนั้นไม่ได้มุ่งผลิตเนื้อหาเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (utility theory) หรือมุ่งให้ผู้เรียนสร้างอัตรากำไรผ่านการสะสมทุนด้วยการออกไปเป็นนายทุนหรือผู้ประกอบการเพื่อแสวงหากำไรจากธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เหมือนการเรียนในสาขาวิชาทั่วไป ในทางตรงกันข้ามองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองกลับนำเสนอปัญหาของระบบทุนนิยมในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อตั้งคำถามต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐ โดยเน้นการสร้างข้อถกเถียงสำคัญ เช่น ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาของการกระจายรายได้ ข้อถกเถียงถึงแนวทางในการหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจน ตลอดจนข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เช่น ทฤษฎีมาร์กซิสม์ ทฤษฎีนีโอมาร์กซิสม์ ทฤษฎีของเคนส์ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สถาบัน รวมถึงการศึกษามิติเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จึงมีคุณูปการในการนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมภายใต้บริบทโลกสมัยใหม่ที่ซับซ้อนและกำลังเปลี่ยนไป ขณะที่เครื่องมือ ในการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมืองประกอบไปด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติของการวิเคราะห์แบบองค์รวม (Totality) มิติในเชิงประวัติศาสตร์ (historical dimension) มิติในเชิงความขัดแย้ง (Dialectic) และมิติด้านการวิพากษ์ (Critical) ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมและรอบด้านเพื่ออธิบายรากฐานของปัญหาและวิกฤตการณ์
วิธีวิเคราะห์ดังกล่าวนอกจากจะถูกสร้างขึ้นเพื่อวิพากษ์กระบวนทัศน์หลักแล้วยังเป็นกลไกการป้องกันการแผ่ขยายความเป็นจักรวรรดินิยมทางความคิดโดยศาสตร์แขนงอื่นที่มักจะเข้ามาครอบงำและยึดครองพื้นที่และวิธีการอธิบายโลกที่เน้นรูปแบบเดียว กระทั่งผลิตซ้ำความคิดเกี่ยวกับหลักของประสิทธิภาพที่ลอยอยู่บนฐานคิดทางทฤษฎี แต่ไม่ได้มองมาที่ข้อเท็จจริงนั่นคือสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาที่นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคม การผลิตชุดคุณค่าที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง ดังนั้นวิธีวิทยาที่มุ่งนำเสนอปัญหาของตัวระบบทำให้เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นศาสตร์กระแสรอง (Heterodox economics) ที่มุ่งวิพากษ์ศาสตร์กระแสหลัก เพื่อเรียกร้องให้เกิดการตั้งคำถามต่อความคิดความเชื่อที่ยึดครองพื้นที่ทางความคิดและพื้นที่ทางสังคมมาอย่างยาวนาน รวมถึงมีเป้าหมายคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อออกแบบระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ได้ดุลยภาพและครอบคลุมมิติอื่นๆ มากขึ้น
เศรษฐศาสตร์การเมืองชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะห์แบบองค์รวมและการศึกษาในทุกมิติมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อเข้าใจโลกและเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Praxis)
ขณะที่การสร้างข้อถกเถียง (Argument) ผ่านการปรับใช้วิธีวิเคราะห์ทั้ง 4 ด้าน เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดในมุมกว้างที่ลึกซึ้งและรอบด้านเพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและเป็นการช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจรากฐาน ที่มาที่ไปของปัญหาต่างๆ ผ่านการศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์แบบองค์รวม ตัวอย่างของประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจ เช่น เศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่าการอธิบายเรื่อง "ตลาด" กับ "สังคม" นั้นไม่สามารถที่จะอธิบายหรือสรุปได้ว่าตลาดคือพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน ขณะที่สังคมคือการที่มนุษย์แต่ละกลุ่มมารวมตัวกันเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการทำความเข้าใจจะต้องอธิบายในขอบเขตที่ลึกซึ้งมากขึ้นโดยเฉพาะการวิเคราะห์ผ่านมุมมองทฤษฎีที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในมุมมองของทฤษฎีมาร์กซิสม์ "ตลาด" กับ "สังคม" หมายถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นแรงงาน ซึ่งมาร์กซ์มองว่าการถือกำเนิดขึ้นของระบบตลาดได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม (social relation) จากความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยมาสู่ความสัมพันธ์แบบขูดรีด (exploitation relationship) เอารัดเอาเปรียบของนายทุน โดยมาร์กซ์ชี้ว่ารัฐคือปัจจัยสำคัญที่รักษาและผลิตซ้ำความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อให้กระบวนการสะสมทุนเดินหน้าต่อไปและเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางชนชั้น (class struggle)
อย่างไรก็ตามหากมองในเชิงสังคมประชาธิปไตย "ตลาด" กับ "สังคม" อาจหมายถึงการร่วมมือกันของนายทุนกับแรงงานอันเกิดจากผลพวงของการประนีประนอมทางชนชั้น (class compromise)ได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างของรูปแบบดังกล่าวคือระบบรัฐสวัสดิการของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่เห็นว่าระบบเศรษฐกิจควรจะให้รัฐ ทุน และแรงงานร่วมมือกันในลักษณะไตรภาคี (tripatism) เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการสะสมทุนและการกระจายทรัพยากร หรือการเน้นไปที่ทางสายกลางมากกว่าหลักประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ "ตลาด"กับ "สังคม" อาจหมายถึง ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างแนวคิดมือที่มองไม่เห็นหรือกลไกตลาดเสรี (laisseze faire) ของอดัม สมิธ กับการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ (interventionism) เพื่อลดทอนอำนาจครอบงำของลัทธิเสรีนิยมตามข้อเสนอของเคนส์ได้เช่นกัน
การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้ง 4 มิติมาวิเคราะห์ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจรากฐานความเป็นมาของปัญหาทำให้การวิเคราะห์มีความครอบคลุมและเพียงพอในการค้นหาทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศมองว่าแกนกลางของปัญหาต่างๆในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับวิกฤตการณ์ของระบบทุนนิยม ทำให้พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เกิดการสร้าง "นวัตกรรม" หรือรูปแบบการจัดการเศรษฐกิจที่สอดรับกับบริบท ค่านิยม และวัฒนธรรมเฉพาะพื้นที่ขึ้นมาเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (Great Depression) และปัญหาการว่างงานของยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการอนุญาตให้สังคมเข้ามากำกับดูแลระบบเศรษฐกิจ (embeded liberalism) ในหลายประเทศอันนำมาสู่บริบทที่รัฐให้ความสำคัญกับการมีงานทำเต็มที่และการสร้างความมั่นคงเพื่อลดทอนปัญหาการว่างงาน ด้วยเหตุนี้ระบบรัฐสวัสดิการจึงเป็นกลไกที่รัฐนำมาใช้เพื่อคลี่คลายสภาวะความตึงเครียดในเวลานั้น
การที่เศรษฐศาสตร์การเมืองนำเสนอถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมมาจนถึงปัจจุบันทำให้เศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจควรทำให้เกิดความครอบคลุมทั้งกระบวนการเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ทุกมิติเข้าด้วยกัน และชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การบูรณาการองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทุกมิติส่งผลต่อการสร้างข้อถกเถียงที่วิพากษ์ไปยังตัวโครงสร้างและตัวระบบอันเป็นสารัตถะที่สำคัญในการเข้าใจปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่โลกมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรมทางความคิดจึงเปรียบเสมือนกับการออกแบบระบบการจัดการที่พยายามเชื่อมประสานโลกทางทฤษฎีเข้ากับโลกในบริบทจริงเพื่อรองรับกับความเสี่ยง ความไม่แน่นอน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
โดยสรุปเราจะเห็นได้ว่าเศรษศาสตร์การเมืองคือวิชาพื้นฐานในการสร้างนักคิดเพื่อสร้างทักษะการคิดและการมองโลกแบบหลากหลายมิติ การอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) จึงไม่สามารถอธิบายแบบแยกส่วนได้ แต่จำเป็นต้องบูรณาการทุกมิติ ทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยวิธีคิดดังกล่าวเรียกว่ากระบวนการวิเคราะห์แบบองค์รวม (Holistic) เศรษฐศาสตร์การเมืองจึงเป็นหลักสูตรที่สอนให้ผู้เรียนมีทักษะทางความคิดที่แตกต่างออกไปจากระบบการศึกษากระแสหลัก และมุ่งผลิตนักคิดเพื่อที่จะวิพากษ์และตั้งคำถามกับสิ่งที่ดำรงอยู่เพื่อนำเสนอถึงปัญหาและเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์
แสดงความคิดเห็น