Posted: 20 Nov 2018 02:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatia.com)
Submitted on Tue, 2018-11-20 17:23
เปิดปาฐกถาฉบับเต็มของอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ 44 ปี การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คือการเคลื่อนเปลี่ยน ชาวบ้านผู้สยบยอมต่ออำนาจรัฐและทุน สู่ความเป็นพลเมืองที่ต้องการความเสมอภาค และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2561 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้จัดงานมหกรรม “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤติที่ดินไทย” โดยภายในงาน ได้มีการจัดปาฐกถา “44 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย กับวิกฤตการณ์ปัญหาที่ดินไทย” โดย ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ คือการเปิดให้สังคมเห็นว่าความเป็นธรรมคืออะไร
ผมรับมาพูดงานนี้ด้วยความรู้สึกสองอย่างด้วยกัน อย่างแรกผมรู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ร่วมพูดคุยกับพวกเรา ยิ่งเมื่อมาถึงแล้วได้ทักทายพี่น้องที่รู้จักกัน ก็รู้สึกว่านี่เป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่ที่ข้าราชการอย่างผมรู้สึกว่ามันสำคัญยิ่ง ความรู้สึกที่สองคือ ผมอยากขอขอบคุณ และขอคาราวะพวกเราทุกเครือข่ายที่ได้ต่อสู้สร้างชีวิต และทำให้สังคมได้รับรู้ และเรียนรู้ถึงปัญหาวิกฤติของบ้านเรา สิ่งที่พวกเราทำกันมาทุกเครือข่ายไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาของพวกเรากันเอง แต่มันคือการเปิดให้สังคมเห็นว่า ความเป็นธรรมคืออะไร ผมขอคาราวะพวกเราทุกคนที่ได้ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน
ผมจะพูดสามประเด็น เรื่องแรกคือ ความหมายของการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ประเด็นที่สองคือ วิกฤติปัญหาที่ดินที่ดำรงอยู่ โดยดูว่ามันมีความสัมพันธ์กับวิกฤติปัญหาสังคมอย่างไร เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า หากเราไม่แก้ปัญหาที่ดินในวันนี้ วิกฤติสังคมในวันหน้าจะเกิดขึ้น ประเด็นที่สามคือ การสืบต่อการต่อสู้เพื่ออนาคตของพี่น้องทุกเครือข่าย
สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ไม่ใช่เพียงแค่ปีกหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์
ความหมายของการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ภาพรวมในความรับรู้โดยทั่วไปถูกสร้างและผูกพันอยู่กับการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ด้านหนึ่งไม่ถือว่า ผิดเสียทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการจดจำการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ด้านเดียวว่าผูกพันอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น เป็นการลดทอนความหมายในการต่อสู้ของพี่น้อง คนธรรมดาทั่วไป
การต่อสู้ของคนธรรมดา มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ารการเข้าร่วมกับพรรคปฎิวัติแห่งประเทศไทย (พรรคคอมมิวนิสต์) สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีความหมายที่สลับซับซ้อนต่อสังคมการเมืองไทย ผมอยากให้เข้าใจความหมายของการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ได้ผูกอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น หากเราเอาการเคลื่อนไหวของพี่น้องชาวบ้านทั้งหมด รวมทั้งกรรมการ ไปผูกกับพรรคคอมมิวนิสต์ เราจะได้ภาพที่ลดทอนการต่อสู้ที่สลับซับซ้อนของคนธรรมดาที่ต่อสู้เพื่อชีวิตไป
คำถามง่ายๆ คือ อะไรทำให้พี่น้องชาวนาชาวไร่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในช่วงหลังปี 2516 ชาวบ้านธรรมดาสามัญลุกขึ้นมาจัดการและสร้างขบวนการที่ใหญ่โตแบบนี้ได้อย่างไร ถ้าเราตอบว่าเป็นเพราะมีการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ ภาพที่เราจะได้คือชาวบ้านเป็นเพียงฐานที่พรรคคอมมิวนิสต์จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่จริง
จากปี 2516 เราพบว่าพี่น้องชาวนาชาวไร่ทั้งหมดเคลื่อนตัวเองออกมาต่อสู้กับรัฐ ต่อรองกับรัฐในนามของพลเมือง จากเดิมเขาคือ ชาวบ้าน และเมื่อพูดว่าชาวบ้าน ความหมายที่แฝงอยู่ในคำนี้ก็คือ การสยบยอมต่ออำนาจรัฐ และอำนาจทุน แต่หลังปี 2516 พวกเขาเคลื่อนเปลี่ยนตัวเองมาพูดถึงความเป็นพลเมือง จากนั้นหลัง 2516 ตั้งแต่ช่วงปลายปี พรรคคอมมิวนิสต์ได้เขาไปเชื่อมต่ออย่างชัดเจนมากขึ้น และได้เปลี่ยนแกนนำชาวนาชาวไร่ เป็นนักปฎิวัติต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แต่สิ่งที่ต้องเน้นคือ เราจำเป็นต้องเข้าใจสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ที่ต่อสู้ในนามพลเมือง เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน
ลองนึกภาพชาวบ้านที่เคลื่อนตัวเองออกมาเป็นพลเมือง และเคลื่อนต่อมาเป็นนักปฎิบัติ สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจตรงกลางนี้ให้ชัด การเข้าร่วมของชาวบ้านมากมายในสมัยนั้นเป็นการต่อสู่ในนาม พลเมือง และหากเราแบ่งแยกระหว่างแกนนำ ผู้นำ กับสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เราจะพบว่าการต่อสู้ของสมาชิกคือการต่อสู้ในความหมายของพลเมืองมากกว่า
คำถามคือ อะไรที่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นชาวบ้านมาเป็นพลเมือง ด้านหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของรัฐหลังปี 2500 เป็นต้นมา รัฐบาลสฤษดิ์ รัฐบาลถนอม พยายามขยายอำนาจรัฐออกไปไม่ว่าจะผ่านการสร้างการคมนาคม การสร้างการศึกษา รวมไปถึงการขยายตัวของเมือง
การขยายตัวของรัฐนั้นมีความสัมพันธ์ต่อการขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ พี่น้องเราทั้งหมดเริ่มผลิตเพื่อขายอย่าเข้มข้นหลังปี 2500 ความเปลี่ยนเปลงของการขยายตัวของรัฐ การขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ได้เข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ของผู้คน เปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้คนจำนวนมาก หากเราจินตนาการกลับไปในรุ่นปู่ หากเราอยู่ในหมู่บ้านชีวิตของพวกเราก็จะสัมพันธ์กันในระยะสามคุ้งน้ำ แต่การขยายตัวของรัฐ และการผลิตเชิงพานิชญย์ที่เริ่มขึ้น ได้เชื่อมพี่น้องออกไปอย่างกว้างขวาง และการเชื่อมต่ออย่างกว้างขวางนี้เรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พี่น้องจำนวนมาก ชาวนาชาวไร่จำนวนมากสามารถที่จะจินตนาการถึงชีวิตของตัวเอง ชีวิตของชุมชนตัวเองกับภาคส่วนอื่นๆ
ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเขียนร่วมกับนักวิชาการญี่ปุ่น เราได้ไปสัมภาษณ์ประวัติชีวิตของพ่อสิงห์ชัย ธรรมพิงค์ รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยคนสุดท้ายก่อนที่จะเข้าป่า เราเข้าไปคุยกับท่านเพื่อที่จะเข้าใจว่าท่านต่อสู้เพื่ออะไร เราพบว่าพ่อสิงห์ชัยเป็นคนจนที่ค่อยๆ ขยับตัวผ่านการขยายตัวของรัฐเช่น เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ความเป็นทหารเกณฑ์ในอดีตมีความหมายอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมของวัยรุ่นไทยในเวลานั้น แตกต่างจากทหารเกณฑ์ในสมัยนี้
การขยายตัวของเมือง การขยายตัวของรัฐ และการขยายตัวของการผลิตเชิงพานิชญย์ ได้เข้าไปเปลี่ยนวิธีคิดของคน เปลี่ยนความรู้สึกของชาวบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่กันในสามคุ้งน้ำ เขาเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และเริ่มมองเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำที่ปรากฎกับตาเขานั้นมันไม่เป็นธรรม คนรุ่นก่อนพ่อสิงห์ชัย ยอมรับที่จะอยู่ในระบบอุปภัมถ์ได้อย่างที่ไม่รู้สึกขัดเขิน หรือรู้สึกเจ็บปวด แต่เมื่อชีวิตเปลี่ยนพ่อสิงห์ชัยเริ่มรู้สึกว่าทำไมคนในหมู่บ้านถึงยากจน หลังจากที่เขาคิดแล้วพบว่า ความยากจนนั้นเกิดจากค่าเช่านา และค่าเช่านานั้นเกิดจากระบบอุปภัมถ์ของเจ้าที่ดิน ชาวไร่ชาวนาในภาคเหนือและภาคอื่นๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยสยบยอมอยู่ในระบบอุปภัมถ์ เขาเริ่มมองเห็นสิ่งใหม่ เริ่มรู้สึกถึงความอยุติธรรม รู้สึกถึงการกดขี่ภายในระบบอุปภัมถ์ เริ่มรู้สึกถึงการเอาเปรียบ เริ่มรู้สึกว่า การแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ถือครองทรัพยากรการผลิตคือ เจ้าที่ดิน กับผู้ไร้ทรัพยากรคือ พวกเขา เป็นสิ่งที่ปิดกั้นโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีของลูกหลาน
ในความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้เองที่ผลักดันให้ พี่น้องชาวนาชาวไร่จำนวนหนึ่งเริ่มตระหนัก และเริ่มอึดอัดไม่พอใจมากขึ้น และความอึดอัดไม่พอใจนี้ปะทุขึ้นมาสู่ประเด็นของการเคลื่อนไหวได้ด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเหตุการณ์นี้ชาวบ้านได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดผ่านสื่อ และการพูดคุย และการรับรู้นี้เองทำให้ชาวบ้านในเขตภาคเหนือได้เริ่มเข้าไปเชื่อมต่อกับนักศึกษา และได้พูดคุยกับนักศึกษาเพื่อหาทางออกจากประเด็นปัญหานี้
นักศึกษาท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปเคลื่อนไหว หลังจากที่ชาวบ้านเข้าไปหาเขาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนนี้คือ รองศาสตราจารย์รังสรรค์ จันต๊ะ ท่านบอกว่าเวลานั้น สิ่งที่เขาทำคือพยายามจะยกระดับปัญหาของชาวบ้านให้เป็นปัญหาทั่วไปมากขึ้น และเขาไม่ได้เข้าไปที่จะเปลี่ยนปัญหาของชาวบ้าน การจัดการความสัมพันธ์ของนักศึกษา เป็นไปบนฐานความต้องการในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเอง และนักศึกษาเป็นคนยกระดับมันขึ้นมาเพื่อที่จะนำมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์
เมื่อชาวบ้านเคลื่อนเปลี่ยนตัวเองเป็น พลเมือง ปฎิกิริยาโต้กลับจากทุน และรัฐ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พ.ร.บ. ค่าเช่าที่ดิน การเรียกร้อง พ.ร.บ. ค่าเช่าที่ดิน ไม่ใช่การเรียกร้องที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน หากแต่เป็นเรียกร้องในนามของพลเมืองไทย ที่ต้องการความเสมอภาคในชีวิต และโอกาสในชีวิต หลังจากที่ได้ พ.ร.บ. ค่าเช่าที่ดินมา พ่อสิงห์ชัย ได้ถือ พ.ร.บ. นี้ไปยืนอ่านอยู่ที่ลานเกี่ยวข้าว ลานเก็บข้าว เพื่อที่จะบอกว่าในวันนี้เราไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ดินแบบเดิมอีกแล้ว แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวนา กับเจ้าที่ดิน โดยในช่วงก่อนปี 2518 กลไกอำนาจรัฐ กลไกอำนาจท้องถิ่นหลับตา หลิ่วตาให้กับเจ้าที่ดินให้ใช้ความรุนแรงกับพี่น้องชาวนาได้
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการเปลี่ยนระบบอุปภัมถ์ และทำให้ผู้อุปภัมถ์ที่รู้สึกว่า ครั้งหนึ่งตัวเองคือผู้มีบุญคุณ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว และเจ้าที่ดินไม่เคยคิดถึงเรื่องความเสมอภาค การใช้ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นในฝั่งของเจ้าที่ดินก่อน โดยช่วงแรกเจ้าหน้าที่รัฐหลับตา หลิ่วตากับความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกระทั่งปลายปี 2518 จึงเกิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเจ้าที่ดินในท้องถิ่น ที่ใช้กลไกอำนาจรัฐในการปิดปากผู้นำชาวไร่ชาวนา การถูกบีบอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับเจ้าที่ดินกลายเป็นตัวบีบบังคับที่ทำให้แกนนำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปต่อสู้ในป่าเขา แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะตัดสินใจเข้าป่ายังมีความพยายามในการเรียกร้องที่ทำในนามของ พลเมือง คือการเรียกร้องให้มีการจำกัดการถือครองที่ดิน
วิกฤติปัญหาที่ดินในปัจจุบัน ปัญหาเดิมที่รัฐไทยไม่เคยแยแส
แม้ว่าขบวนการของชาวนาชาวไร่จะไม่ยาวนานนัก แต่สิ่งที่น่าทึ่งอย่างยิ่งคือ มันได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันมาอย่างมากมาย เหตุผลหนึ่งก็คือ ความอยุติธรรมในเรื่องการถือครองที่ดินยังดำเนินต่อเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย วันนี้เราก็ยังคงเห็นที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน การเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่สืบทอดมาตลอดเวลา ทำให้เรามีเครือข่ายที่เรามีอยู่ในทุกวันนี้ และทุกเครือข่ายที่เรามีอยู่นี้ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อสิ่งอื่นใดนอกจากการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของพลเมืองไทย ซึ่งรัฐไทยไม่เคยแยแส คนรุ่นใหม่เองก็ได้เรียนรู้กรอบการมองความอยุติธรรม จากคนรุ่นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่
พวกเราทั้งหมดยังคงสืบทอดการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมอยู่ ในวันนี้คงต้องบอกด้วยว่าวิกฤติปัญหาที่ดินจะรุนแรงมากกว่าเดิม และวิกฤตินี้จะเบียดขับผู้คนจำนวนหลายสิบล้านให้หมดทางเลือกของชีวิต และวิฤติสังคมจะก่อตัวเพิ่มมากขึ้น วิกฤติปัญหาที่ดิน จะสะท้อนเป็นวิกฤติของสังคมมากขึ้น ในเวลานี้พวกเราทั้งหมดอยู่ในการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว และฐานสำคัญของการผลิตเชิงพาณิชย์นั้นคือ ที่ดิน หากเราไม่สามารถที่จะเข้าถึงที่ดินได้ การผลิตเชิงพาณิชย์ที่เราจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้จะเกิดขึ้นได้น้อยลง ในขณะที่รัฐบอกเราว่า พี่น้องชาวนายังไม่รู้จักปรับปรุงเทคโนโลยี แต่ความเป็นจริงความมั่นคงในการทำนามันไม่มี แล้วเขาจะลงทุนไปเพื่ออะไร ดังนั้นกิจกรรมการผลิตในภาคเกษตรจำเป็นที่จะต้องให้ฐานความั่นคงในชีวิตกับเกษตรกร เราต้องพูดถึงความมั่นคงในการครอบครองสิทธิในการทำกินซึ่งรัฐไทยไม่เคยแยแส
แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ หรือมีการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อไหร่เราก็ต้องตระหนักว่า รัฐบาลก็ยังอยู่ในโครงสร้างแบบเดิม ซึ่งเราจะต้องต่อสู้กันต่อไปเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐให้เกิดความยุติธรรมให้ได้ หากเราสามารถทำให้ชาวนาชาวไร่อยู่อย่างมั่นคงได้ เราจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมากมาย หากใครสนใจก็ลองอ่านหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน คนที่คิดค้นเทคนิคการผลิตต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีที่ดินเป็นฐาน เพราะเขามีความมั่นคงเขาจึงสามารถลงแรง ลงปัญญากับมันได้ รัฐไทยมองไม่เห็นเรื่องนี้ สังคมไทยจึงยังตกอยู่ในกับดักวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่สัมพันธ์กับการถือครองที่ดินของคนร่ำรวย และกลุ่มทุน ซึ่งนี่คือการทำลายศักยภาพโดยรวมของสังคมไปอย่างสิ้นเชิง หากเรานึกถึงญี่ปุ่นความหลากหลายของชาวนาย่อย พวกเขาสามารถผลิตสินค้าการเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งนี่คือสิ่งสำคัญ และเป็นตลาดภายในที่หล่อเลี้ยงประเทศ รัฐไทยไม่เคยคิดเรื่องนี้
รัฐบาลนี้ออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและโรงเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เป็นเรื่องที่ดัดจริต อ้างถึงความเป็นธรรม อาจถึงความยุติธรรม คนมีมากก็ต้องเสียมาก เป็นการอ้างโดยที่ไม่ละอาย และเกรงกลัวต่อบาป พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและโรงเรือน เป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง และจะก่อปัญหามากขึ้นแน่นอน เพราะการเก็บภาษีผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากในอัตรา 2 เปอร์เซ็นเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก แต่สิ่งสำคัญคือกฎหมายนี้จะกลายเป็นกฎหมายที่ค้ำความชอบธรรมของการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมหาศาล ไม่มีแม้แต่ประโยคเดียวของรัฐบาลที่จะพูดถึงการจำกัดการถือครองที่ดิน นี่จึงเป็นการอ้างถึงความยุติธรรมที่จอมปลอม ที่ผมพูดถึง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็เพราะต้องการจะบอกว่ารัฐบาลนี้ก็ยังคงอยู่ในโครงสร้างแบบเดิมที่พร้อมที่จะดูดซับส่วนเกินจากพวกเราไปหล่อเลี้ยงคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์
หากเรากำลังคิดถึงการทำให้พวกเราเข้มแข็ง ด้วยการทำให้เรามีความมั่นคงในที่ดิน ซึ่งเราจะสร้างตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) หรือสร้างผลิตผลที่หลากหลายได้ มันจะส่งผลให้สังคมไทยทั้งหมดเป็นตลาดภายใน และตลาดภายในที่เข้มแข็งนี่คือตัวที่จะชุดประเทศไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สิ่งที่รัฐบาลคิดอยู่ตอนนี้ คิดเพียงแต่เรื่องการลงทุน และปรับเทคโนโลยี แต่ท่านไม่เข้าใจคำว่าตลาดภายในที่เข้มแข็งที่หล่อเลี้ยงประเทศอย่างญี่ปุ่น อย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวีย หากเราคิดถึงการจำกัดการถือครองที่ดินที่ ที่ดินก็จะหลุดจากการเป็นสินค้าเกรงกำไร และสามารถกระจายมาสู่พวกเรา และพวกเราก็จะสามารถสร้างผลิตภาพการเกษตรที่มีความมั่นคง เราคิดเพียงแต่จะกระตุ้นตลาดภายในจากการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันไม่ยั่งยืน
สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาหนักมากขึ้น และถามว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยจะเปลี่ยนแปลงได้โดยตัวผู้ถือครองอำนาจรัฐไหม คำตอบคือ ไม่มีทาง สิ่งสำคัญคือ พวกเราทั้งหมดที่จะต้องทำงานต่อไป ต้องเหนื่อยต่อไป แต่ความเหนื่อยของพวกเราจะส่งผลต่อลูกหลานในอนาคต เราต้องบีบให้รัฐไทย และคนไทยจำนวนมากคำนึงถึงความยุติธรรมในการถือครองที่ดิน
ประเด็นสุดท้าย บทบาท และการสืบต่อการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ผมเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ด้วยการบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเดียว แต่มันคือเนื้อในของพวกเราชาวบ้าน คนไทย ชาวนาไทย ที่ได้สร้างสรรค์มันขึ้นมา ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่เราสามารถจะสืบทอดต่อคือ การเน้นความหมายของ พลเมือง และการต่อสู้ในนามพลเมือง พวกเราได้เชื่อมความเป็นพลเมืองเข้ากับความเป็นธรรม เราไม่ใช่พลเมืองที่เฉยชา แต่เราเป็นพลเมืองที่กระตื้นรือร้นที่ต้องการผลักสังคมไทยให้เข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า ความยุติธรรม การสืบทอดการต่อสู้ของพลเมือง ถือว่าเป็นคบเพลิงที่สำคัญ และผมเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า คบเพลิงนี้จะไม่มีวันดับ
แสดงความคิดเห็น