น.พ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล

Posted: 24 Nov 2018 07:46 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-11-24 22:46


นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล

เมื่อ”คนรุ่นใหม่” ออกมายืนประกาศว่า พร้อมเสนอตัวเข้ามาทำงานการเมือง โจทย์ใหญ่ที่สังคมการเมืองควรถามคือ พวกเขา นักการเมือง”คนรุ่นใหม่” มีท่าทีและแนวคิดอย่างไรต่อปัญหาทางการเมือง ที่เกิดมาช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มี สองคำตอบให้เลือกคือ

คำตอบที่หนึ่ง
นักการเมือง“คนรุ่นใหม่” ได้ศึกษา เรียนรู้ เรื่องราวทางการเมืองที่กิดขึ้นแล้ว เข้าใจที่มาที่ไป และรู้ถึงเหตุและปัจจัยต่างๆ และยินดีมีส่วนร่วมแก้ปัญหาที่เกิดในอดีต อย่างเข้าใจและเป็นระบบ และเพื่อนำมาเป็นบทเรียนการทำงานการเมืองต่อไป จะได้ร่วมมือกัน ป้องกันไม่ให้ปัญหาในลักษณะเดิมเกิดขึ้นอีก

คำตอบที่ สอง
นักการเมือง“คนรุ่นใหม่” เลือกที่จะไม่พูดถึงเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่า ไม่ใช่สิ่งที่ต้องนำมาพูดถึง คือสรุปว่ามันเป็นปัญหาอดีต มันเป็นเพียงแค่เรื่องนักการเมืองทะเลาะกัน และปลุกปั่นประชาชนให้ออกมาทะเลาะกัน มันน้ำเน่า มันน่าเบื่อไม่ต้องใส่ใจ เรามาทำการเมืองใหม่ๆ กันดีกว่า เรามาปรองดอง เรามาเริ่มต้นกันใหม่ สร้างสรรการเมืองแบบใหม่ แบบไม่แบ่งฝ่ายกัน

หากนักการเมือง”คนรุ่นใหม่” เลือกข้อแรก ก็คงไม่มีอะไรต้องอธิบายมาก แต่หากนักการเมือง”คนรุ่นใหม่” เลือกข้อที่สอง อันนี้ ก็น่าเป็นห่วง เพราะการไม่สนใจประวัติศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นาน ที่เกิดขึ้นในช่วงอายุของตน และยังส่งผลมาถึงการเมืองวันนี้อย่างเต็มที่ แต่นักการเมือง”คนรุ่นใหม่”ที่อาสา กลับไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก หากเราจะฝากอนาคตไว้กับนักการเมืองกลุ่มนี้

เหตุเพราะ ปํญหาทางการเมืองที่เกิดมาตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2549 และยังดำรงอยู่ จนถึงวันนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มันเป็นปัญหาที่เกิดมาอย่างมีระบบ เป็นการสมรู้ร่วมคิดจากหลายกลุ่ม กล่าวถึงที่สุดแล้ว มัน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจของสังคมไทย หากคิดว่าอยากให้ประเทศนี้มี ประชาธิปไตยที่ดีและแข็งแรง ก็ต้องเรียนรู้และสรุปบทเรียนกันให้ดี และวางแนวทางการเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดอีก

การไม่ให้ความสำคัญกับข้อนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะ ไม่รู้ ไม่เข้าใจจริงๆ ก็เพราะรู้แต่แกล้งไม่รู้ เสแสร้งที่จะไม่พูดถึง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

คำถามที่สอง นักการเมือง “คนรุ่นใหม่” สนับสนุนการสืบทอดอำนาจหรือไม่

กล่าวให้แคบลงมาอีก ไม่ต้องไปกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ซับซ้อนและยากแก่การอธิบายให้เข้าใจ เฉพาะหน้า ปัญหา หรือคำถามง่ายๆ ที่ นักการเมือง “คนรุ่นใหม่”ต้องตอบตัวเองและสังคมให้ได้ก่อนคือ คุณจะยืนอยู่จุดไหน ในสองขั้วทางการเมือง ของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้านี้

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เราสามารถแยก จำแนกพรรคการเมือง ที่เสนอตัวให้ประชาชนเลือก แบ่งได้เป็นสองขั้วหลักคือ

ขั้วแรก
กลุ่ม พรรคการเมืองที่ยืนยัน ยืนหยัด รักษาหลักการประชาธิปไตย คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างชัดเจน ไม่มีข้ออ้าง ข้อแม้ใดๆ ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่มีทางร่วมมือ สนับสนุน ระบบทหาร คสช.

ขั้วที่สอง
คือกลุ่มพรรคการเมืองที่สนับสนุน ร่วมมือกระทำการเพื่อการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช.ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา และรวมถึงพวกแบบเนียนๆ อย่างบางพรรค ที่แสดงท่าทีกลางๆ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อถึงเวลาก็พร้อมเต็มที่ ที่จะร่วมงาน ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดๆ ก็ตามที

ประชาชน”คนทุกรุ่น”ถาม นักการเมือง”คนรุ่นใหม่”ตอบ

ไหนๆ เราก็มี นักการเมือง “คนรุ่นใหม่” ก้าวออกมาเสนอตัวทำงานการเมือง เป็นอนาคตและความหวัง
แต่สำคัญกว่านั้นคือ ภายใต้หน้าใสๆ วัยหนุ่มวัยสาว ดูสดชื่น กระปี้กระเป่าและมีพลัง พวกเขา นำเสนอแนวคิดและโครงการใหม่ๆ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านเทคโนโลยี มีคำศัพท์แปลกหู ฟังดูดี ที่ประชาชนฟังแล้วน่าเคลิบเคลิ้ม น่าสนใจ แปลกใหม่ น่าสนับสนุน

แต่เหนือสิ่งอื่นใด แก่นแท้ของนักการเมือง คือ ความคิดและจิตวิญญญาณที่อยู่ในสมองและหัวใจของพวกเขาเหล่านั้น ว่าเขา นักการเมือง”คนรุ่นใหม่” ฝักใฝ่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริงแท้ หรือไม่

การตอบคำถามสองข้อ ง่ายๆ ข้างต้น พอจะเป็นแนวทาง ให้ ประชาชน”คนทุกรุ่น” ได้รู้จัก นักการเมือง”คนรุ่นใหม่”ลึกซึ้งมากขึ้น อย่างแท้จริง

เพราะเราเชื่อว่า มีแต่ นักการเมืองที่มีหัวใจประชาธิปไตย ไม่ฝักใฝ่อำนาจเผด็จการ เท่านั้น ที่สมควรจะนำพาประเทศเรา ไปสู่ความเจริญ นำความผาสุขสู่พี่น้องประชาชน ภายใต้ ระบอบการปกครองประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางและเพื่อประโยชยน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่มาก ไม่น้อย ไปกว่านี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.