Posted: 19 Nov 2018 05:34 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-19 20:34

การนำเสนอหัวข้อ "ล้านนา" ไม่เท่ากับเชียงใหม่ ที่มาภูมินามและความหมายในบริบทรัฐจารีต
โดย วิชญา มาแก้ว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมทางวิชาการ Decentralizing Lanna: ออกจากศูนย์อำนาจล้านนา ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง


โดยการนำเสนอของวิชญา (1) เป็นการทบทวนข้อถกเถียงภูมินาม "ล้านนา" (2) กำเนิดของภูมินาม "ล้านนา (3) ความหมาย "ล้านนา" ที่ผันแปร การช่วงชิงเพื่อผูกขาด "ล้านนา"

โดยจะเป็นการใช้ประวัติศาสตร์หาคำตอบถึงที่มาที่ไปของคำว่า “ล้านนา” ว่าถือกำเนิดขึ้นในบริบทใด เมื่อคำนี้บังเกิดขึ้นแรกสุด มันถูกให้ความหมายและถูกใช้งานอย่างไร ตลอดจนความหมายและการใช้งานนั้นได้เคลื่อนจากเดิมอย่างไรหรือไม่ ในยุคต่อๆ มา

ทั้งนี้วิชญา จำแนกให้เห็นชุมชนการเมืองก่อนที่จะเป็นอาณาจักรที่ประกอบไปด้วย เครือข่ายโยนรัฐ เครือรัฐหริภุญไชย นครรัฐพะเยา และนครรัฐน่าน-ปัว

ขณะที่ในหลักฐานโบราณก่อนใช้คำว่า "ล้านนา" พบการใช้คำว่า "ลวราช" "เมืองลาว" ใน "พื้นเมืองเชียงใหม่" หรือ เมืองไทย เมืองยวน เมืองขุนน้ำ ใน "มูลสาสนา" หรือ "แคว้นพิง" "แคว้นโยน" ในชินกาลมาลีปกรณ์

วิชญาเสนอว่าคำว่า "ล้านนา" เริ่มปรากฏในบันทึกโบราณ ในความหมายถึงตำแหน่งผู้ปกครอง เช่น "เจ้าล้านนา" ในพื้นเมืองน่าน หรือ "เจ้าพระญาสรีสุวัณณล้านนาเชียงแสน" ในพื้นเมืองเชียงแสน จารึกวัดเชียงสา พ.ศ. 2096 (ค.ศ. 1553) จารึกว่า "สองแผ่นดิน ล้านช้าง ล้านนา..."


พระราชสาส์นของจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน (ครองราชย์ ค.ศ. 1385-1401) ทวงบรรณาการจากพญาแสนเมืองมา (ครองราชย์ ค.ศ. 1398-1402) โดยเป็นครั้งแรกที่ปรากฏการใช้คำว่า "เจ้าล้านนา" (ที่มา: จากแฟ้มนำเสนอของวิชญา มาแก้ว)

นอกจากนี้วิชญายังแสดงหลักฐานสำคัญจากจีนในสมัยราชวงศ์หมิง อย่างเช่น หมิงสื่อลู่ และบันทึกพระราชสาส์น เริ่มเรียกผู้ปกครองจากเชียงใหม่ว่า "เจ้าล้านนา" "ท้าวล้านนา" มาตั้งแต่สมัยพญาแสนเมืองมา (ครองราชย์ พ.ศ. 1928 - 1944/ ค.ศ. 1385 - 1401) โดยจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของราชวงศ์หมิง (ครองราชย์ ค.ศ. 1398-1402) เขียนพระราชสาส์นทวงบรรณาการในอักษรจีนและฝักขาม โดยเรียกผู้ปกครองเชียงใหม่ว่า "เจ้าล้านนา" ส่วนจักรพรรดิจีนเรียกว่า "เจ้าลุ่มฟ้า"

ทั้งนี้การใช้คำว่า "เจ้าล้านนา" "ท้าวล้านนา" เป็นสถานะของเจ้าผู้ปกครองที่อยู่เหนือผู้ปกครองพันนาอื่นๆ และใช้นำเสนอตัวเองต่อหน่วยการเมืองที่ใหญ่กว่าคือราชวงศ์หมิง (เรียกจักรพรรดิจีนว่า "เจ้าลุ่มฟ้า") เพื่อสะท้อนตัวตนและสร้างสิทธิธรรม ขณะที่ส่วนอื่นๆ ยังมีการใช้ "เมืองไท" "เมืองยวน" "เมืองพิง" "เมืองเชียงใหม่" "เมืองเชียงราย" "เมืองเชียงแสน"

ขณะที่ล้านนาในสมัยพม่าปกครอง เริ่มนิยามดินแดนนี้ในฐานะ มณฑลของชาวยวน และล้านนา 57 หัวเมือง และหลังการปฏิรูปในสมัยพระเจ้าตลุนมิน ของราชวงศ์ตองอู (ครองราชย์ ค.ศ. 1628 - 1648) เริ่มแบ่งการปกครองออกเป็น 2 เขต คือ ล้านนาเชียงแสน และล้านนาเชียงใหม่

เมื่อถึงยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง ผู้ปกครองเชียงใหม่เริ่มใช้คำว่า "ล้านนา" ด้วยทั้ง พญาจ่าบ้าน และพระเจ้ากาวิละและชนชั้นนำกลุ่มเจ้าเจ็ดตน โดยพระเจ้ากาวิละตั้งตนเป็น "กระสัตเมืองไท เปนไทเป็นใหญ่ในล้านนา 57 เมือง"

ขณะที่เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ มีคำว่า "ทศลักษณเกษตร" หรือ "ล้านนา" ในเฉลิมพระนาม โดยพระนามในสุพรรณบัฏคือ "เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตรวรฤทธิ์เดช มหาโยนางคราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่" ขณะที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย มีราชทินนามว่า "เจ้าแก้วนวรัฐ ประพัทธ์อินทนันทพงษ์ ดำรงนพิสีนครเขตร ทศลักษณเกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงษาธิบดี"

ขณะที่เจ้าผู้ครองนครน่านอย่างพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ใช้พระนาม "ไชยนันทบุระมหาราชวงษาธิบดี" โดยพระนามตามจารึกสุพรรณบัฎคือ "พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุระมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ ณ นันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน"



รวมสรุปความจากเวทีวิชาการ Decentralizing Lanna



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.