ซ้ายไปขวา: อัญชนา หีมมิหน๊ะ รจนา กองแสน นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หทัยรัตน์ พหลทัพ

Posted: 23 Nov 2018 09:11 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-11-24 00:11


นักปกป้องสิทธิฯ เล่าเรื่องราวความกดดัน การถูกคุกคามในเวทีของแอมเนสตี้ฯ หลาน ‘พลทหารวิเชียร’เผยเส้นทางเรียกร้องยุติธรรมถึงการให้น้าชายเป็นศพสุดท้ายในค่ายทหาร ขณะที่นักกิจกรรมชายแดนใต้ติดตามการซ้อมทรมานและสันติภาพภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษ นักปกป้องสิทธิฯ เหมือง จ.เลย ระบุถูกรัฐ-เอกชนคุกคาม ฟ้องปิดปาก 23 คดี ปกป้องชุมชนจากเหมืองทอง หวังเลิกสัมปทาน

23 พ.ย.2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติจัดงานเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายที่นักสิทธิมนุษยชนหญิงต้องเผชิญ” เป็นหนึ่งในเวทีเสวนาในงาน “จากรายงานของยูเอ็นถึงแนวทางการทำงานเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย” ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

สำหรับเวทีนี้ แอมเนสตี้ฯ เชิญอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงในพื้นที่สาม จ.ชายแดนใต้ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวผู้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้วิเชียร เผือกสม น้าชายที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร และรจนา กองแสน ตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มเหมืองแร่เมืองเลย เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยหทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส


ไทยติด 1 ใน 38 ประเทศ ‘น่าละอาย’ รายงาน UN กรณีคุกคามนักสิทธิฯ - ผู้เกี่ยวข้อง

เส้นทางวิบากจากเรียกร้องความยุติธรรม ถึงการให้น้าชายเป็นศพสุดท้ายในค่ายทหาร

นริศราวัลถ์กล่าวถึงที่มาที่ขึ้นมาคือการที่น้าชายถูกครูฝึกทหารซ้อมเสียชีวิตในค่ายทหารเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ตอนทราบข่าวนั้นเธอเรียนอยู่ปีสอง เพิ่งบรรลุนิติภาวะ จุดเปลี่ยนที่ทำให้ครอบครัวตัดสินใจลุกขึ้นมาสู้คือหลังจากที่มีผู้มีอำนาจในหน่วยงานต้นสังกัดมาเจรจาเรื่องค่าชดเชยเยียวยาเรื่องตัวเงินกับครอบครัว คำเดียวที่เป็นจุดเปลี่ยนคือ “เอางี้มั้ย เท่ากับศพที่แล้ว สามล้าน” ซึ่งเธอก็ถามกลับว่า “ศพที่แล้วสามล้าน น้าหนูสามล้าน แล้วศพหน้าท่านจะเอาเท่าไหร่” ข้อเสนอซึ่งต่อมาเพิ่มขึ้นเป็นสิบล้านบาท แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ที่บ้านเห็นด้วยกับการสู้คือยังมีหลานชายอีกคนที่ยังไม่ได้เกณฑ์ทหาร และไม่ได้เรียนรักษาดินแดน (รด.) เธอจึงถามครอบครัวว่า ถ้าคราวหน้าน้องเราเสียชีวิต บ้านเราจะเอาเท่าไหร่ ครอบครัวเลยสู้เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องนี้กับคนอื่น

เธอยังเล่าถึงความลำบากเมื่อเริ่มตามหาความยุติธรรมให้น้าชายว่า ช่วงแรกยังหาหน่วยงานสนับสนุนไม่ได้ คลำทางไปเรื่อย ร้องทุกข์สื่อไปหมด ทุกหัวก็บอกเดี๋ยวจะตอบกลับมา ทำให้สุดท้ายเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมที่กำลังสู้อยู่นั้นถูกเพิกเฉยจากสังคม ทั้งนี้เธอหนีไม่พ้นระบบอุปถัมป์เพราะได้รุ่นพี่ที่เป็นนักเรียนเก่าช่วยเหลือในเรื่องช่องทางที่จะเข้าถึงสื่อและผู้มีอำนาจ โดยได้นำเรื่องยื่นให้ พณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะรุ่นพี่นักเรียนเก่า นอกจากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หน่วยงานที่เธอเคยยื่นเรื่องร้องเรียนก็ได้ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คณะที่เธอเคยศึกษาอยู่เพื่อจัดเสวนาเรื่องการซ้อมทรมาน ซึ่งก็ได้ความรู้ว่าไม่ต้องเก็บศพไว้ แต่ให้เอาไปชันสูตร ในส่วนของเธอนั้น เธอและครอบครัวที่เป็นผู้เสียหายต้องดำเนินการเองทุกอย่าง ทั้งที่ตามหลักหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเยียวยาให้ความเป็นธรรม แต่กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นส่วนขัดขวางไม่ได้รับความยุติธรรม ครอบครัวต้องแอบนำศพไปชันสูตรเอง

เธอเล่าต่อไปว่า โดนคุกคามหลายแบบหลังจากเดินหน้าถามหาความยุติธรรม ตั้งแต่เอาซองกระสุนส่งมาที่บ้าน ข่มขู่ว่าคนตายตายแล้ว คนเป็นยังอยู่ ถ้าดำเนินเรื่องอยู่ คนเป็นก็จะตายตามคนตาย บอกผ่านคนในหมู่บ้านหรือครอบครัวมาเจรจา มีรถตู้มาดักตามที่งานศพ ช่วงนั้นหน่วยต้นสังกัดก็จะให้กำลังพลมาดูแลในงานศพ แม่ก็จดรายละเอียดไว้เยอะ อย่างเช่นทะเบียนรถ หลังจากนั้นเวลาผ่านไป 5-6 เดือนตอนขับรถกลับบ้านก็ยังมีรถทะเบียนที่แม่จดไว้โผล่มา เคยร้องเรียนไปทางกองทัพก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีการคุกคาม นอกจากนั้นยังมีการปลอมตัวเป็นคนขายไอศกรีมไปถามหาที่อยู่บ้าน นอกจากนั้นยังส่งเช็คให้ยาย ผู้เป็นแม่ของวิเชียร พร้อมข้อความพรรณาเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ตายจนยายรับเช็ค แล้วก็นำเรื่องนี้ไปต่อสู้ในชั้นศาลว่าได้มีการเยียวยาแล้ว ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ทหารพาเธอจากที่ทำงานในกรุงเทพฯ ไปยังค่ายทหารที่ จ.นราธิวาส ในส่วนของตัวเองจึงต้องเตรียมตัวไว้ เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนก็ต้องแจ้งคนนั้นคนนี้จนเหนื่อยที่จะบอก จนคิดว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่รู้ความยุติธรรมที่ตามหาหรือชีวิตตัวเองจะไปก่อนกัน แต่เชื่อว่าถ้าวันหนึ่งนริศราวัลย์ตายไปแล้ว ก็จะมีคนลุกขึ้นมาทำต่อ

นริศราวัลถ์ระบุว่า ตอนนี้กรณีของวิเชียรได้รับการเยียวยาแล้วในคดีแพ่งแล้วจำนวน 7 ล้านบาท ส่วนหลานชายก็ปลดประจำการแล้ว ในค่ายทหารก็มีกฎห้ามกองทัพแตะเนื้อต้องตัวทหารใหม่ หรือใช้ไม้เรียว ซึ่งก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงหลังการตายของวิเชียร เพียงแต่ข่าวเรื่องการแก้ไขกลายเป็นมุมเล็กๆ ที่ไม่มีการนำเสนอมาก ตอนนี้ก็คิดว่าสู้กับอำนาจรัฐและกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว อันที่จริงคดีของวิเชียรควรจบตั้งนานแล้ว แต่เป็นเพราะเธอคนเดียวที่ทำให้คดีไม่จบ เนื่องจากติดตามเรื่องและขยายผล แล้วตัดสินใจไม่ให้อัยการทหารสั่งฟ้องว่ามีผู้กระทำผิด 10 นาย เพราะเห็นว่ามีหนึ่งคนที่คิดว่าน่าจะเป็นแพะ จนล่าสุดอัยการสั่งฟ้องสองคนจากทั้งหมดแต่เดิม 10 คน

หลานสาวของวิเชียรกล่าวว่า การเป็นผู้หญิงนั้นเป็นประโยชน์กับการเผชิญกับคู่กรณีที่เป็นทหาร เพราะว่าการเป็นทหารนั้นไม่ยอมรับการทำร้ายผู้หญิงอยู่แล้ว จึงได้รับการปกป้องจากทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าคู่กรณีจะที่มากระทำรุนแรงก็ย่อมไม่ได้รับการยอมรับกับทหารด้วยกันอยู่แล้ว เลยคิดว่ายังเป็นเกราะปกป้องเธออยู่ การไปติดต่อที่กองทัพยิ่งได้รับเกียรติ สงวนท่าที ประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ ขออย่ามองคู่กรณีเป็นศัตรู หรืออยู่ในสถานะของการต่อต้านกัน เธอเองก็เคยมีท่าทีเช่นนั้นกับกองทัพแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น ต่อมาเปลี่ยนความคิดว่า ถ้าเดินเข้าหาอย่างเป็นมิตรด้วยความคิดที่อยากให้สถาบันอย่างกองทัพดีขึ้นก็ถูกรับฟังมากขึ้น เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่มีใครที่ไม่อยากให้องค์กรตนเองแย่ลง หน่วยงานรัฐก็ไม่อยากทำผิด แต่เขาไม่มีข้อมูล องค์ความรู้ สิ่งสำคัญคือการเติมเต็มองค์ความรู้ให้หน่วยงานรัฐ
ถูกรัฐ-เอกชนคุกคาม ฟ้องปิดปาก 23 คดี ปกป้องชุมชนจากเหมืองทอง หวังเลิกสัมปทาน

รจนา กล่าวว่า เมื่อก่อนทำงานในโรงงานที่ จ.ปทุมธานี แต่เมื่อเดือน พ.ค. 2557 ที่บ้านมีชายฉกรรจ์ 300 กว่าคนเข้าบุกทำร้ายร่างกายชาวบ้านที่ตั้งเวรยามไม่ให้ขนแร่ทองคำออกนอกพื้นที่ ทั้งที่เหมืองหมดอายุการใช้พื้นที่ไปแล้ว แต่ยังมีสินแร่บนเหมืองอยู่ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าหาที่มาไม่ได้ก็เลยตั้งเวรยาม ตอนนั้นทำงานอยู่ก็ตกใจว่าทำไมบ้านเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ผู้หญิงก็ถูกข่มขู่ว่าจะถูกข่มขืน มีข่าวว่าแกนนำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแม่เธอโดนตั้งค่าหัว จึงลาออกและกลับบ้านโดยที่ไม่รอโบนัสสิ้นปี เดือน ต.ค. ปีเดียวกันก็กลับบ้าน แต่รู้สึกว่ากลับมาช้ามาก เพราะการต่อสู้หนักมาก ได้ยินพ่อๆ แม่ๆ ในชุมชนเล่าว่ามีคนมาคุกคาม วางระเบิดหน้าบ้าน มีคนเอายาเบื่อหมามาให้หมาที่บ้านตายเพื่อให้ยุติการต่อสู้ โดนกระทำอย่างมาก เธอเองก็โดนคดีมากกว่า 23 คดี เรียกร้องค่าเสียหายสามร้อยกว่าล้าน เคยร้องเรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีแต่ยิ่งกลายเป็นว่าถูกเจ้าหน้าที่จับตามองมากกว่าเดิม ไม่มีความเป็นส่วนตัว ทำให้ความรู้สึกที่มีกับรัฐก็แย่ ไม่รู้ว่ามาดูแลหรือสอดแนมเรื่องราวที่ชุมชน

รจนาเล่าต่อไปว่า ปัจจุบันเหมืองก็ปิดไปแล้ว 5-6 ปี แต่อายุการใช้พื้นที่ป่าของเหมืองได้หมดไป คดีตอนนี้จาก 23 คดีก็สะสางเหลือหนึ่งคดีที่ยังอยู่ในขั้นไต่สวน ส่วนมากที่เหมืองฟ้อง แต่ก็มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ฟ้องเช่นกัน โดยทำตัวเหมือนว่าเป็นนายทุนเอง เพราะข้อหาที่ฟ้องก็มาจากการขอใบอนุญาตใช้พื้นที่ของเหมือง พอไปแสดงความเห็น อบต. ก็บอกว่าพื้นที่มีความขัดแย้ง พูดเรื่องนี้ไม่ได้ ก็เลยฟ้อง เมื่อชาวบ้านโดนฟ้องหมิ่นประมาทเยอะก็ท้อ เพราะเสียเงินและเวลากับการเดินทาง แทนที่จะได้ทำไร่ทำนา แต่พอสู้กันไปแล้วก็เห็นผลว่าเหมืองไม่ได้ดำเนินการต่อก็มีกำลังใจ กลุ่มชาวบ้านเองก็ถือว่าคนที่ดำเนินคดีนั้นถือว่าเป็นตัวแทนของชาวบ้านคนอื่น ใครโดนคดีก็แห่กันไปทั้งหมด

ต่อคำถามว่ากลัวหรือไม่ที่ถูกฟ้องหลายคดี รจนาตอบว่าจะกลัวไปทำไม เพราะที่บ้านก็ถึงขั้นชีวิต คือใช้น้ำ กินข้าวปลาอาหารที่นั่นไม่ได้แล้ว ถ้าหยุดสู้ ชีวิตก็คงจะเลวร้ายไปอีก ภูเขาสองลูกติดหมู่บ้านที่เหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตก็หายไปแล้วเพราะผลกระทบจากสารเคมีจนไม่รู้จะฟื้นฟูขึ้นมาเมื่อไหร่ คงจะสู้จนกว่าชีวิตจะหาไม่

นักปกป้องสิทธิฯ จาก จ.เลย ทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐทบทวนเรื่องเหมืองทองที่ชุมชน เพราะแม้ปิดเหมืองแล้วแต่ยังเหลือสัมปทานถึงปี 2571 จึงอยากให้ยกเลิกสัมปทานที่เหลือ เพราะกังวลว่าผู้ประกอบการจะกลับมาทำเหมือง และยังขอให้รัฐทบทวนสัญญาเมื่อปี 2535 ที่ผูกขาดการสำรวจทำเหมืองได้ตลอดชีพ รัฐควรทบทวนว่ารัฐทำกับผู้ประกอบการเหมือง แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย นอกจากนั้นอยากให้รัฐเข้ามาฟื้นฟูสภาพชุมชน ทรัพยากรให้กลับมาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงเหมือนก่อน ไม่ควรเข้าข้างทุน ให้มาดูด้วยว่าชาวบ้านอยู่อย่างไร

แรงกดดันบนเส้นทางสู่สันติภาพภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษและการซ้อมทรมาน

อัญชนาเล่าว่า เมื่อปี 2551 สามีน้องสาวถูกกล่าวหาคดีความมั่นคง ซึ่งเป็นไปตามบริบทสาม จ.ชายแดนแดนใต้ และถูกตำรวจที่เป็นลูกค้าประจำอุ้มไปจากร้านอัดฉีดที่เขาทำงานเป็นช่าง เป็นเวลาสามชั่วโมงที่ไม่น้องสาวไม่สามารถติดต่อสามีได้ ซึ่งตอนนั้นอัญชนาทำงานขายขี้ยางก็ช่วยหาความช่วยเหลือ และจากนั้นก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาและได้รับความช่วยเหลือจากหลายส่วน เมื่อเรื่องราวจบลง ครอบครัวก็ตัดสินใจตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้กระทบจากการใช้กฎหมาย ตอนแรกก็ทำเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้ความรู้ ให้การศึกษา แต่ไปๆ มาๆ พบว่ามีสิ่งที่เรียกว่าการซ้อมทรมาน ทำให้สนใจในเรื่องผลกระทบการซ้อมทรมานว่าสร้างความปวดมากกว่าที่เห็นจากร่างกาย เลยเก็บข้อมูลเรื่องการซ้อมทรมานด้วย หลังได้ข้อมูลมากมายก็รวมเป็นรายงาน เมื่อแรกนั้นไม่ได้เปิดเผย แต่เมื่อตัดสินใจเผยแพร่ ก็มีผลกระทบกับผู้เกี่ยวข้องและการทำงานเพราะสิ่งที่ทำนั้นเป็นผลกระทบโดยตรงกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการซักถามกระบวนการกฎหมายพิเศษที่ใช้ในภาคใต้

อัญชนา หีมมิหน๊ะ เป็นหนึ่งในจำเลยร่วมกับพรเพ็ญ คงขจรเกียรติและสมชาย หอมลออ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กรณีที่ทั้งสามจัดทำและเผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558” จากนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องทั้งสามด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและให้ข้อมูลเท็จบนอินเทอร์เน็ต

เมื่อ 1 ก.ค. 2560 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เชื่อว่าเป็นทหารไปพบอัญชนาและเตือนไม่ให้โพสท์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนโซเชียลมีเดีย ในส่วนคดีความนั้น กอ.รมน. ภาค 4 ได้ถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทไปเมื่อเดือน พ.ย. 2560 และข้อกล่าวหาอื่นๆ นั้นอัยการศาล จ.ปัตตานีไม่สั่งฟ้องไปเมื่อปี 2560


อัยการสั่งไม่ฟ้อง 3 นักปกป้องสิทธิฯ ผู้ออกรายงานซ้อมทรมานชายแดนใต้

อัญชนาเล่าว่า มีการใช้เฟซบุ๊คและไลน์ส่งข้อความโจมตีองค์กรว่าเป็นพวกต้านรัฐ พวกบิดเบือน และเธอถูกเรียกพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง มีการไปพบที่บ้านและติดตามการเดินทางของเธอ ทุกครั้งที่มีการโพสท์เฟซบุ๊คเรื่องการใช้ความรุนแรงที่เป็นประเด็นหลักก็จะมีการส่งคนมาที่บ้าน ทำให้รู้ว่าเราอยู่ในใจเขาตลอดเวลา

ผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจยังกล่าวว่า สันติภาพอยู่ในใจเราและเป็นคำที่ใหญ่ หนทางไปสู่สันติภาพนั้นก็ยาวและมีอุปสรรค แต่จะขอเป็นจุดเริ่มต้นโดยไม่ใช้ความรุนแรง จากการเก็บข้อมูลนั้นเชื่อได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำเชิงระบบอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนกลุ่มเดียว เป็นความท้าทายที่เราจะยุติมัน แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนอื่นด้วย

อัญชนาเสนอว่า การทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น เข้าใจกลไกของยูเอ็นเรื่องการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ลงนามเอาไว้ จะทำให้มีผลสู่ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ศาลคือกลไกสำคัญ ไม่ให้มีการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งนักสิทธิฯ หรือคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิฯ เธอยังกล่าวด้วยว่า ความคิดว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงสมควรถูกซ้อมทรมานนั้นยังมีอยู่ในสังคม แต่การซ้อมทรมารนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ เหตุที่ยังมีการทำการซ้อมทรมานซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เป็นเพราะยังไม่มีการนำตัวผู้กระทำความผิดมากระทำความผิดตามกฎหมายได้เลย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.