ที่มาภาพ http://www.facebook.com/eecwecan
Posted: 20 Nov 2018 06:49 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatia.com)
Submitted on Tue, 2018-11-20 21:49
'อนุสรณ์' ค้านเปิดช่องนักลงทุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อแลกกับการลงทุน ด้าน สนง.กก.พัฒนานโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โต้ 'อาลีบาบา' ถือครองที่ดิน ไม่ใช่แลกกับการลงทุน ยันไม่สูญเสียอธิปไตย ขณะที่ TCIJ เปิดข้อมูล ปี 62 ก่อสร้างภาครัฐมูลค่ารวม 9.5 แสนล้าน กระจุกตัว EEC 72%
20 พ.ย.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนานโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ออกแถลงชี้แจงกรณีนักวิชาการคัดค้านนักลงทุนต่างชาติซื้อที่ดินแลกกับการลงทุนใน EEC ระบุว่า
1.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอุตสาหกรรมได้อนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการอยู่แล้ว และต้องขายเมื่อเลิกกิจการ
โดยข้อเท็จจริงแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอุตสาหกรรมได้อนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินอยู่แล้ว แต่เป็นการซื้อและครอบครองเฉพาะในช่วงที่ประกอบกิจการ ซึ่งเมื่อเลิกประกอบกิจการก็ต้องขายที่ดินนั้นออกไป เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 มาตรา 27 ผู้ได้รับการส่งเสริมแม้เป็นบริษัทต่างชาติก็จะได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร หากเลิกกิจการโอนกิจการนั้นให้แก่ผู้อื่น ต้องจำหน่ายที่ดินภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 44 กำหนดให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรมแม้เป็นบริษัทต่างชาติ ก็สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหรือในเขตประกอบการเสรี แต่หากเลิกกิจการหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น ต้องจำหน่ายที่ดินภายในเวลา 3 ปี ประเทศไทยก็ได้มีบริษัทต่างชาติที่ซื้อที่ดินมาเพื่อประกอบการมากกว่า 30 ปี ดังนั้นโดยหลักการแล้ว การให้บริษัทอาลีบาบาถือครองที่ดินในระยะเวลาที่มาลงทุนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และควรให้สามารถให้ลงทุนในที่ดินได้เช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติอื่นๆ
2. กรณีอาลีบาบาเป็นการดำเนินการโดยปกติไม่ได้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำการถือครองที่ดินกับการลงทุน หรือสูญเสียอธิปไตยแต่อย่างไร เรื่องนี้จึง “ไม่ใช่เป็นการแลกการถือครองที่ดินกับการลงทุนของกลุ่มอาลีบาบา” แต่เป็น “การดำเนินการโดยปกติในการส่งเสริมการลงทุน” ซึ่งเป็นงานประจำของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องพิจารณา ขนาด รูปแบบ การลงทุน ควบคู่ไปกับการให้สิทธิประโยชน์ด้านการถือครองที่ดิน ภาษี การนำเข้าเครื่องจักรและอื่นๆ ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนที่ดำเนินการมาตลอด
อนุสรณ์ ค้านเปิดช่องนักลงทุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อแลกกับการลงทุน
เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการหาช่องว่างทางกฎหมายส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมาย BOI มาตรา 27 เพื่อให้ อาลีบาบา หรือกลุ่มทุนข้ามชาติต่างๆ สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและซื้อที่ดินได้เพื่อแลกกับการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC นั้น เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ว่าไม่ควรเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อแลกกับการลงทุน การให้เช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปีนั้นถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่มากเกินพอแล้ว และการให้เช่าที่ดินยาวขนาดนั้นก็ต้องทบทวนด้วย ไม่ว่าจะมีการซื้อและถือกรรมสิทธิ์หรือเช่าระยะยาวมากๆจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของไทย เกิดความไม่สมดุลในเศรษฐกิจภายใต้โลกาภิวัตน์และอาจส่งผลกระทบในทางสังคมและการเมืองรวมทั้งความมั่นคงในอนาคตได้
นักเศรษฐศาสตร์ชี้จะแก้ความเหลื่อมล้ำ ภาษีที่ดินต้องมีอัตราก้าวหน้ากว่าฉบับผ่าน สนช.
วอยส์ออนไลน์ รายนงานว่า เครือข่ายประชาชนและนักวิชาการ รวมถึงขบวนการต่อสู้ด้านสิทธิที่ดินทำกิน จัดเสวนา “นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับผลกระทบต่อวิถีชุมชน การแย่งยึดที่ดิน” ในวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย สมนึก จึงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก กล่าวว่า การผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้นมีมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นรัฐบาล ได้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ในการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ราคาที่ดินราคาสูงขึ้นจนรัฐบาลไม่สามารถซื้อที่ดินเอกชนมาทำโครงการได้ จึงต้องไปไล่ยึดและไล่ที่ดินชาวบ้าน
เมื่อชาวบ้านออกมาต่อสู้คัดค้าน ทำให้ถูกฟ้องร้อง เป็นผลให้ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผน บรรดานักลงทุนจึงหดหาย หลายโครงการก็ต้องชะลอตัวหรือเจ๊ง เช่น ที่แม่สอด จ.ตาก มีการอ้างอิงคำกล่าวของนักลงทุนที่ไม่ระบุชื่อ แต่บอกว่า ไม่กล้าเข้าไปลงทุน เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนที่ยังมีความขัดแย้ง ที่ถือเป็นเรื่องเสี่ยงในการลงทุน หรือที่นครพนมที่เมื่อเกิดการฟ้องร้องแล้วเป็นบทเรียนให้รัฐบาลจนมีการกันที่ดินชุมชนที่เป็นปัญหาออกมา
อย่างไรก็ตาม ในภาคตะวันออก รัฐบาลมีบทเรียนจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว จึงมีการออกกฏหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีการใช้อำนาจ คสช. ประกาศเขตส่งเสริมเพื่อรองรับกิจการพิเศษ 19 แห่ง 75,000 ไร่ เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายไว้สูงมาก โดยเฉพาะการกำหนดผังเมืองในพื้นที่เป้าหมายได้เอง ใช้พื้นที่ สปก.ได้โดยไม่ต้องเพิกถอน รวมทั้งมีการออกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายคำสั่ง โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ที่ 47/2560 ที่เป็นข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้นายทุนสามารถซื้อที่ดินได้ในราคาถูก
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดพื้นที่สมาร์ทซิตี้ หรือการพัฒนาอุตสหกรรม 4.0 ในกิจกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง ที่เปลี่ยนผังเมืองเป็นสีเขียวแล้วนายทุนไปรวมรวมที่ดินไว้ในราคาถูก แล้วนำไปขอตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่ตอนนี้ใช้พื้นที่ไปแล้วกว่า 9.8 หมื่นไร่ แต่เมื่อไปดูในนิคมก็เป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ที่ไม่สอดคล้องกับความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ที่ล้วนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
“ก่อนหน้านี้ถ้าทำอุตสาหกรรมต้องทำอีไอเอ สิ่งแรกดูผังเมือง ถ้าผังเมืองไม่อนุญาติก็ไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อรื้อผังเมืองทิ้งไป กระบวนการต่างๆ ก็ฉลุย ตอนนี้ที่ดินกว่า 3.2 แสนไร่ เป็นของนายทุนที่เตรียมทำอุตสหกรรม หรือกำลังนำที่ดินของชาวบ้านไปให้ต่างชาติเช่าระยะยาว พ.ร.บ.อีอีซี จึงไม่จบแค่ 3 จังหวัดแน่นอน อย่างเช่น อุตสาหกรรมพืชพลังงานสามารถขยายไปภาคอีสานที่มีอ้อย หรือที่ตอนนี้ 3 จังหวัดภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ต้องนำน้ำจากจันทบุรี ตราด มาใช้ ผลกระทบจึงไม่ใช่แค่ที่ดิน แต่ส่งผลไปถึงจังหวัดอื่นด้วย ทั้งการสูญเสียที่ดินป่าไม้เพื่อสร้างเขื่อน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพเชื่อมต่อภาคตะวันออก ที่ตลอดแนวก็ต้องถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมฯ เช่นกัน" สมนึก กล่าว
TCIJ เปิดข้อมูล ปี 62 ก่อสร้างภาครัฐมูลค่ารวม 9.5 แสนล้าน กระจุกตัว EEC 72%
16 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง TCIJ รายงานว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่านับตั้งแต่ที่ภาครัฐประกาศแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ระยะเร่งด่วน (Action Plan) ในปี 2559-2561 รวมถึงการเร่งรัดผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมจำนวนโครงการเป็นจำนวนมาก และมีเงินลงทุนรวมเป็นหลักหลายล้านล้านบาท ปัจจุบันหลายโครงการมีความคืบหน้า โดยมีโครงการที่สร้างเสร็จแล้วได้แก่ ท่าเทียบเรือ A ของท่าเรือแหลมฉบัง และในส่วนของงานโยธารถไฟฟ้าสายสีแดง และบางโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเช่น โครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 ทั้ง 7 เส้นทาง, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา ในส่วนของสัญญาที่ 1, รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครจำนวน 3 เส้นทาง อาทิ สายสีแดง, สายสีชมพู, และ สายสีเหลือง ในขณะที่หลายโครงการมีความคืบหน้ามากขึ้นทั้งที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนแล้วและอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมที่จะเริ่มก่อสร้าง รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะได้รับอนุมัติในช่วงที่เหลือของปี สะท้อนถึงเม็ดเงินส่วนเพิ่มจากเงินงบประมาณประจำปีที่มีแนวโน้มจะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับทิศทางการลงทุนและก่อสร้างของภาครัฐในปี 2562
ทั้งนี้ ในปี 2562 จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจมีช่วงเวลาที่ความต่อเนื่องของการดำเนินการโครงการต่างๆ อาจจะดำเนินการได้ช้าลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ข้างต้น อยู่ภายใต้แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นจึงเชื่อว่าโครงการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะได้รับการสานต่อหรือผลักดันให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่น่าจับตาคือ โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 ที่มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 950,200 ล้านบาทแสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมของการพัฒนารายพื้นที่ที่ภาครัฐเน้นเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคือพื้นที่ EEC ที่มีโครงการรัฐเป็นมูลค่ารวมเกือบ 684,018 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72 ของมูลค่าโครงการที่อยู่ในแผนงานการก่อสร้างทั้งหมดของปี 2562 ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ชนะการประกวดราคา อันประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามท่าอากาศยาน, โครงการท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดเฟสที่ 3, และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับผ่าน พ.ร.บ.EEC
นอกจากนี้ ในส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัตินอกเหนือจากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ EEC แล้ว ที่สำคัญยังมีโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ ที่คาดว่าจะก่อสร้างเป็นเส้นทางแรกจากทั้งหมด 9 เส้นทาง รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ที่จะมีการประมูลภายในช่วงต้นปีและเชื่อว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เช่นเดียวกัน
แสดงความคิดเห็น