Posted: 23 Nov 2018 02:49 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-23 17:49


กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล สัมภาษณ์และเรียบเรียง

คุณคิดว่ายาเสพติดเป็นสิ่งเลวร้ายหรือไม่ คุณคิดว่าผู้ใช้ยาเสพติดเป็นคนชั่วหรือไม่ คุณแยกออกหรือเปล่าระหว่างผู้ใช้ยากับผู้พึ่งพิงยา คุณรู้หรือไม่ว่าการเสพยาที่อย่างถูกวิธีเป็นอย่างไร คุณรู้หรือไม่ว่าเหตุใดผู้ต้องขังในเรือนจำไทยประมาณร้อยละ 80 เป็นผลจากคดียาเสพติด คุณรู้หรือไม่ว่าผู้ใช้ยาถูกตีตราและกระทำซ้ำจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มาทำความเข้าใจกับ วีระพันธ์ งามมี ผอ.มูลนิธิโอโซน ผู้จับงานประเด็นยาเสพติดมากว่า 18 ปี
กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายเกี่ยวยาเสพติดเขียนขึ้นจากอคติ ความหวาดกลัว วาระแอบแฝง โดยไม่ได้วางอยู่บนฐานองค์ความรู้
สังคมไทยถูกครอบงำด้วยมายาคติเรื่องยาเสพติดจนเกิดความตื่นกลัว กระทั่งมองไม่เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ยาและพึ่งพิงยา
ความรู้เรื่องยาเสพติดจะทำให้การเสพยามีความปลอดภัยและผู้เสพยังคงสามารถรับผิดชอบชีวิตตนเองได้

คนเสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร กฎหมายควรต้องปลดโทษทางอาญาสำหรับผู้เสพ

‘คนเสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร’ เป็นคำแสลงหูที่ฟังแล้วขัดกับความเป็นจริงที่สังคมไทยรับรู้โดยตลอด เรา ‘เชื่อ’ ว่าคนเสพยาเป็นคนเลว คนชั่วร้าย ทำลายสังคม และอื่นๆ อีกมาก ผู้ต้องขังในเรือนจำไทยที่กำลังล้นทะลักร้อยละ 80 เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ลองดูข้อมูลต่อไปนี้

“ข้อมูลปี 2552-2558 ตอนนั้นคดียาเสพติดอยู่ประมาณ 182,000 คดีต่อปี ยาม้า ยาไอซ์ กัญชา เฮโรอีน มีโคเคนเล็กน้อย พอมาแยกดูคดีที่เกี่ยวกับเฮโรอีนและโคเคนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีของกลางอยู่ 3 กรัม ไอซ์กับม้า 90-95 เปอร์เซ็นต์ของคดีมีของกลางน้อยกว่า 10 กรัม กัญชา 94.82 เปอร์เซ็นต์ มีของกลางน้อยกว่า 100 กรัม คุกเมืองไทยขังใคร?”

คือคำถามของ วีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน ที่จับงานประเด็นยาเสพติดมากว่า 18 ปี เขามีความเชื่อว่าในกรณียาเสพติด กระบวนการยุติธรรมทางอาญากำลังเป็นกระบวนการอำนวยความอยุติธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงเพื่อสนองผลประโยชน์ในเชิงนโยบาย

การพูดคุยนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการถอดรื้อมายาคติต่อยาเสพติดและผู้ใช้ยา ไปจนถึงการกะเทาะเปลือกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่กำลังสร้างสถานการณ์การทำให้เป็นอาชญากรรมมากเกินไป (Overcriminalization) กวาดต้อนคนเข้าสู่เรือนจำ
กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้อยู่บนฐานความรู้

“ผมรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเป็นหลักประกันได้จริงหรือ พอมาทำงานเรื่องยาเสพติด ผมรู้สึกว่านอกจากจะไม่เป็นหลักประกันแล้ว ยังเป็นกระบวนการอำนวยความอยุติธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมให้การทำงานของรัฐมีความสำเร็จและทำประโยชน์จากมัน ไม่ว่าจะเรื่องการเติบโตในการทำงาน งบประมาณ หรือฐานเสียงทางการเมือง แต่แลกด้วยอิสรภาพของคนในประเทศซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของชาติ ไม่ใช่แค่อิสระภาพธรรมดา มันเป็นการสูญเสียอิสรภาพโดยสิ้นเชิงและถูกกระทำซ้ำ”

วีระพันธ์กล่าวว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมของการใช้องค์ความรู้ ใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ใช้บทเรียนที่ผ่านมาในอดีตเป็นต้นทุนในการนำพาประเทศ แต่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ในการออกแบบกระบวนการยุติธรรม เขาถามว่า “คุณเคยเห็นยาบ้าเม็ดกลมๆ มั้ย? กล้าพกไว้ 2 เม็ดมั้ย?” แน่นอนว่าไม่กล้า

วีระพันธ์หัวเราะ ก่อนกล่าวว่านั่นคือคำว่าไสยศาสตร์ ใช้ความรู้สึก ความตื่นกลัว เป็นกลยุทธ์การสร้างมายาคติให้เกิดความกลัว และสร้างธุรกิจบนความตื่นกลัวของคนในสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเท่ากับกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก

“เมตแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท วันดีคืนดี เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จับมันเป็นยาเสพติดเทียบเท่ากับเฮโรอีน คุณคิดว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้รัฐสภาตัดสินใจยอมรับในครั้งนั้น เหตุผลเพราะมีคนขับรถแก็สแล้วระเบิด ตรวจในปัสสาวะพบว่ามีเมตแอมเฟตามีน และสหรัฐฯ ประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติดก่อนหน้านี้”

กลายเป็นการใช้โอกาสเพื่อสร้างอำนาจหรือเพิ่มเครื่องมือเพื่อให้อำนาจตนเองในการทำงาน แต่กล่าวอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม จากวันนั้นถึงวันนี้ผู้ใช้ยาเพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคนเป็น 2 ล้านคน นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าเรื่องยาเสพติดในสังคมไทยไม่ได้อยู่บนฐานของความรู้ความเข้าใจ

กฎหมายและมาตรการทางอาญาที่บิดเบี้ยว

วีระพันธ์ อธิบายโครงสร้างของกฎหมายยาเสพติดว่า ในกฎหมายจะระบุว่าอะไรคือยาเสพติด อะไรคือฐานความผิดและการลงโทษในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด มีวิธีพิจารณาคดีหรือวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทำนอกเหนือที่กฎหมายให้อำนาจได้ จากนั้นก็ดำเนินการไปตามสายพานจนถึงเรือนจำ แต่เขาถามว่าถ้ากฎหมายบิดเบี้ยวตั้งแต่แรก จะเกิดอะไรขึ้น

“เมื่อยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ทุกคนพร้อมจะทำบนฐานความเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนชั่ว ทำอะไรกับมันก็ได้ ไม่มีการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นนักเขียนสำนวนมืออาชีพ มียอดแต่ละเดือนกำหนดมาว่าโรงพักนี้ต้องจับได้เดือนละเท่าไหร่ เป้าหมายเชิงปริมาณว่าจะต้องจับคดีสำคัญๆ แต่ก่อนนี้คดีเสพนับด้วย ตอนนี้ไม่ให้นับคดีเสพ ไม่เป็นไร เปลี่ยนเป็นเสพขับ นับยอดได้ ขี่มอร์เตอร์ไซค์มาแล้วโดนบังคับตรวจฉี่ เขาไม่แจ้งข้อหาเสพกับคุณ แต่จะแจ้งข้อมูลเสพยาเสพติดและขับขี่ยานพาหนะ 1 ปี 6 เดือน ล่อซื้อ 100 บาทถือเป็นคดีค้า จับต้นกระท่อมหนึ่งต้นถือเป็นคดีสำคัญ เพราะมันเป็นยาเสพติดและนายตั้งเป้ามาให้ ถ้าไม่ได้ตามเป้านายโดนด่า ถูกตัดเงินบำรุงโรงพักหรือไม่เติบโตในหน้าที่การงาน”

แต่ถ้าเป็นแบบใจบุญสุนทานที่สุดตามคำพูดของวีระพันธ์คือให้รับสารภาพจะได้ลดโทษลงครึ่งหนึ่ง ถ้าพยายามบ่ายเบี่ยง หัวหมอ ก็มีโอกาสจะโดนหนัก ยิ่งถ้ามีประวัติเสพยามาก่อน ศาลก็พร้อมจะเชื่อ

“แต่ศาลรู้มั้ยว่าตำรวจถูกนายกดดันเรื่องยอดมา มาตรการทางอาญาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติด แต่การนำมาตรการทางอาญามาใช้กำลังทำลายหลักประกันความเป็นธรรม สำหรับผม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาเสพติด แต่เป็นเรื่องการล่มสลายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

“คุณเขียนกฎหมายว่าครอบครอง 15 เม็ดเท่ากับครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่มีสิทธิต่อสู้ กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ผู้ใดครอบครองเมทแอมเฟตามีนซึ่งถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 เกินกว่า 15 เม็ดถือเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย เพิ่งแก้ปีที่แล้วว่าผู้ใดครอบครองเมทแอมเฟตามีนเกินกว่า 15 เม็ดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย มีสิทธิต่อสู้ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ขาย ก็รอด แต่สมัยก่อนไม่รอดครับ เขียนสำนวนไปแบบนี้ ศาลก็เปิดยี่ต๊อก 15 เม็ด 8 ปี แบบนี้เป็นกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า”

ผู้ใช้ยา ผู้พึ่งพิงยา และความรู้ที่ไม่ถูกพูดถึง

มูลนิธิโอโซนมีเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วประเทศประมาณ 193 คน 147 คน เป็นคนที่เคยมีประสบการณ์ใช้สารเสพติด การมีประวัติเสพยาหรือการเคยได้รับการบำบัด เพราะไม่ถือเป็นการขาดคุณสมบัติในการทำงานกับมูลนิธิ หรือถ้าวันนี้ยังเสพอยู่ ทางมูลนิธิก็ไม่สนใจเช่นกัน สนใจเพียงว่าคนคนนั้นอยู่ในภาวะพึ่งพิงยาหรือไม่

“ถ้าคุณพึ่งพิงยาแสดงว่ายาควบคุมคุณ คุณขาดยาไม่ได้ ถือว่าคุณป่วย ไปบำบัดก่อน ถ้านิ่งแล้ว คุณใช้ครั้งคราว เช้ามาทำงานกับเพื่อนได้ปกติ เราไม่สนใจ เราเชื่อว่าผู้ใช้ยาถ้าสามารถจัดการตัวเองได้ เขาก็สามารถจัดการชีวิตเขาได้ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในภาวะพึ่งพิงยา เราต้องช่วยเขาจัดการวางแผนเรื่องการใช้ยา

“ในทางการแพทย์คุยกันมานานแล้ว แม้แต่รายงานระดับโลกก็บอกว่า คนที่เสพยา 100 คน มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงยา ที่เหลือเป็นกลุ่ม Drug Users ใช้ครั้งคราว ใช้เพื่อสันทนาการ ผ่อนคลาย อ่านหนังสือ ลดปวด ใน 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้พึ่งพิงยาก็แยกเป็น 3 ระดับ พึ่งพิงยาในระดับเล็กน้อย พึ่งพิงยาในระดับปานกลาง และพึ่งพิงยาในระดับรุนแรง ซึ่งการจะแยกระดับได้ต้องทำการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่ทุกวันนี้ไม่มี”

มายาคติอันเกิดจากความไม่รู้ อันเกิดจากการไม่พูดคุยเรื่องยาเสพติด อันเกิดจากการสร้างความตื่นกลัว ทำให้ยาเสพติดน่ากลัวเกินความเป็นจริง วีระพันธ์ยกตัวอย่างฝิ่นทางภาคเหนือประกอบด้วยแอลคาลอยด์มากกว่า 30 ชนิด แต่แอลคาลอยด์ที่สำคัญคือมอร์ฟีนและโคเดอีนหรือยาแก้ปวด โคเดอีนทำให้ผู้ใช้อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือติดต่ำมาก แต่มอร์ฟีนมีความสามารถในการทำให้ติดหรือพึ่งพิงสูง แต่ไม่ใช่ว่าใช้แล้วจะติดทันที โดยปกติแล้วอย่าใช้ต่อเนื่องกันเกิน 3 วัน ขณะที่เฮโรอีนเป็นสารสังเคราะห์โดยนำมอร์ฟีนไปทำปฏิกิริยากับกรดชนิดหนึ่ง มีความแรงกว่ามอร์ฟีน 25-30 เท่า มันจึงทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือถอนยาที่รุนแรง

แต่ความเชื่อที่ว่าหากใช้เฮโรอีนเพียงครั้งเดียวก็ทำให้ติดได้ วีระพันธ์บอกว่าไม่เป็นความจริง มันต้องอาศัยเวลา ไม่มีอะไรฉีดครั้งเดียวแล้วควบคุมร่างกาย พอฤทธิ์มันหมดทำให้ร่างกายอยู่ไม่ได้ ดังนั้น มันต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เช่นการฉีดติดต่อกัน 3-5 วันเป็นเรื่องที่ควรระวัง แพทย์ในโรงพยาบาลฉีดมอร์ฟีนให้สองสามวันต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดปริมาณเพื่อให้ร่างกายปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

วีระพันธ์ยกตัวอย่างยาม้าว่า ไม่เคยมีรายงานว่าเมตแอมเฟตามีนตัวเดียวทำให้เกิดภาวะทางจิต แต่คนที่มีประวัติครอบครัวหรือประวัติความเจ็บป่วยทางจิต ถ้าใช้เมตแอมเฟตามีนก็มีโอกาสที่มันจะกระตุ้นให้เกิดการกำเริบ เนื่องจากเมตแอมเฟตามีนไปรบกวนแบบแผนการนอนหลับ พักผ่อนไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ถ้าจบเฮโรอีนซึ่งกดทั้งระบบก็สามารถหลับได้ หรือผู้หญิงที่ต้องให้นมลูกและใช้เมตแอมเฟตามีนจะไม่มีนม ถ้าหยุดไม่ได้ อาทิตย์หนึ่งควรใช้ไม่เกินกี่วัน ก่อนใช้ กินให้อิ่ม กินน้ำบ่อยๆ นี่คือองค์ความรู้ที่จะช่วยให้คนปลอดภัย ไม่ใช่จับคนเข้าคุก

“การที่สังคมไทยปฏิเสธการพูดคุยเรื่องยาเสพติดอย่างตรงไปตรงมา รอบด้าน นั่นต่างหากที่ทำให้เขาอยู่ในภาวะเสี่ยง เมื่อไหร่ที่คุณรู้จักมัน ความปลอดภัยมาทันที แต่ทุกวันนั้นสังคมไทยไม่ให้พูด เยาวชนก็ไปเรียนรู้กันเอง ถูกบ้าง ผิดบ้าง”

คนเสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร

ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่กำลังพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.ให้ใช้ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างวิธีพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความสำคัญในการจำแนกผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกิจยาเสพติด กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มใช้แรงงาน ติดหนี้ ไม่มีงานทำ ต้องใช้เงินก้อน แล้วรับจ้างขน อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบคือกลุ่มเสพ กลุ่มติด ลองเสพ มีครอบครองเล็กน้อยสำหรับการเสพเฉพาะตัว

“แต่กลุ่มนี้ก็ถูกชี้อีกว่าพวกเสพก็ขาย เช่น ถ้าผมเอามา 10 เม็ด เม็ดละ 200 ถ้าผมขายเม็ดละ 250 ขายสัก 8 เม็ด ได้เงินคืนแล้ว เหลือเสพไว้ 2 เม็ด แต่ตอนคุณไปขาย คุณถูกล่อซื้อ ถูกระบุว่าเป็นคนขาย แต่ไปดูบัญชีธนาคาร ดูบ้าน ดูทรัพย์สิน ไม่มีอะไรหรอก บางคนอาจไม่ชอบคำพูดผม แต่เขาก็เหมือนดีลเลอร์ ดีกว่าเขาไปขโมยของคุณไปขายแล้วเอาเงินมาเสพยา

“มีธุรกิจไหนทำกำไรได้มหาศาล ต้นทุน 35 สตางค์ต่อเม็ด ขาย 200 ปีหนึ่งผลิต 4 พันล้านเม็ด ปีที่แล้วจับได้ 200 ล้านเม็ด อยากขึ้นอีก เดี๋ยวปีนี้ให้จับได้ 220 ล้านเม็ด จาก 4 พันล้านเม็ดกันไว้ให้เลย แล้วไปจ้างขนให้จับ หรือจะแกล้งไล่ล่า แล้วเขาหนีไป วางไว้ตามหลักกิโล 1 ล้านเม็ด แล้วก็มาเคลมไปว่าเม็ดละ 2 บาท ได้หน้า ได้ผลงาน ได้เงิน ลงตัวหมด ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้จับพวกค้ากับผลิตอยู่แล้ว จับแต่ตัวเล็กๆ”

คดียาเสพติดถือเป็นคดีอาญาร้อยละ 90 ของคดีเหล่านี้เป็นปลาซิวปลาสร้อย รัฐต้องจ่ายเงินสำหรับดำเนินคดียาเพสติดต่อคดีประมาณ 76,600 บาท คิดเป็น 14,000 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 90 เป็นแค่กลุ่มปลาซิวปลาสร้อยในเครือข่ายยาเสพติดขนาดใหญ่ หมายความว่ารัฐต้องจ่ายเงินปีละกว่า 12,000 ล้านบาทเพื่อไล่ล่าทรัพยากรอันมีค่าของประเทศเข้าไปอยู่ในคุก

“ผมถามว่าคุณเอาไปขังทำไม พ.ร.บ.บำบัดฟื้นฟูปี 2545 จับเสร็จ ส่งฟ้องศาล ระหว่างรอตรวจพิสูจน์คุณก็ขังเขาไว้ในแดน 13 ในคุก จับเขาแก้ผ้า ตรวจทวาร กร้อนผม ตกงาน ขณะที่ยังรอการตรวจพิสูจน์ว่าคนคนนี้ควรจะไปทางไหน ทั้งที่ยังไม่มีข้อหา คนกลุ่มนี้ออกมา ถูกตีตรา บางทีลูกเมียทิ้ง กลับบ้านไม่ได้ ไปไหน ก็ไปที่ที่ไปได้ มีเพื่อนเคยใช้ยาก็ไปใช้ยา ไม่มีเงินก็เสนองานให้ มีมาเฟียคุ้มกะลาหัว ก็กลับไปสู่กระบวนการเดิม ผมถึงบอกว่าธุรกิจยาเสพติดไทยไม่ต้องทำอะไร แค่มียามาหย่อน เดี๋ยวมันก็ไปตามกระบวนการของมัน

“พูดบนฐานของการยอมรับความเป็นจริง คนที่ร่างก็เป็นคนใช้กฎหมาย ก็มีอคติบนฐานความตื่นกลัว ตื่นตระหนก ไม่แปลกถ้าเขาจะเขียนออกมายังไงหรือจะยอมให้อะไรเกิดขึ้น ที่แน่ๆ คือไม่ยอมให้ปลดโทษทางอาญาในความผิดฐานเสพ นั่นคือสิ่งที่เราเรียกร้อง คนเสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร ควรใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษเพื่อป้องปราม แต่กระแสสังคมไม่ยอม จริงๆ ไม่ใช่ กระแสสังคมก็มาจากที่ ป.ป.ส. สร้าง ถึงแม้ประมวลกฎหมายนี้ผ่าน คนเสพก็ยังคงมีความผิดทางอาญาอยู่”

วีระพันธ์กล่าวว่า ร้อยละ 90 เป็นผู้ใช้ มีเพียงร้อยละ 10 ที่เป็นผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งควรมีระบบบริการสุขภาพรองรับคนกลุ่มนี้ แต่สำหรับคนร้อยละ 90 ที่ยังรับผิดชอบชีวิตตนเองได้ก็ใช่ว่าไม่ต้องทำอะไร เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐตรวจพบสามารถเขียนใบสั่งให้ไปพบแพทย์ ให้แพทย์วินิจฉัยว่าติดหรือไม่ ถ้าไม่ติด แพทย์ก็มีโปรแกรมให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดสัก 6 ชั่วโมง สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นโมเดลที่เขาทดลองนำเสนอ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี

กฎหมาย อคติ ความตื่นกลัว และการถูกกระทำซ้ำของผู้ใช้ยา

“สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้เป็นผลพวงจากทัศนคติของคนทั้งสังคม ชีวิตผู้ใช้ยากี่คนที่ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติด โปรแกรมบำบัดทั้งหมดออกแบบ ดำเนินการ จัดสรรงบประมาณโดยรัฐ พอไม่สำเร็จเป็นความผิดของขี้ยา มันเป็นธรรมหรือเปล่า

“อย่าเอาเรื่องการตรวจปัสสาวะเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จ เขาเขียนตารางการตรวจทุก 2 สัปดาห์ก็เว้น 3 วันก่อนไปตรวจ ศรีธนญชัยเหรอ ไม่ใช่ครับ เลิกยาได้ 3 วันผมถือเป็นความสำเร็จ ถ้าคุณรู้ มีความรับผิดชอบว่าต้องทำอะไร วางแผนให้ตัวเองแต่เนิ่นๆ ถ้าคิดแบบนี้ชีวิตก็ไปได้ มันเป็นเรื่องของมนุษย์คนหนึ่งรู้ว่าจะต้องทำอะไร มีการวางแผน มันสะท้อนความรับผิดชอบ สังคมไทยต่างหากที่ยังคงมีอคติต่อเรื่องนี้ พอคนส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระบวนการยุติธรรมจะทำอะไร สังคมก็พยักหน้าว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาดีแล้ว ทำถูกแล้ว ไม่ต้องตรวจสอบ”

ช่วงแรกๆ ของการประกาศสงครามกับยาเสพติดมีผู้เสพ 400,000 คน ขณะนี้เพิ่งขึ้นเป็น 2 ล้านคน ป.ป.ส. ยอมรับด้วยว่าทุกวันนี้มีการผลิตเมตแอมเฟตามีนประมาณ 4,000 ล้านเม็ดต่อปี เม็ดละ 250 บาท 1 ล้านล้านบาท ครึ่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศ วีระพันธ์ให้ข้อมูลและมันสะท้อนว่า...

“ถ้าต้นทางคือกฎหมายและขยับมาอีกคือผู้ใช้กฎหมายเกิดความไม่เป็นธรรม เพราะมีวัตถุประสงค์เฉพาะ มีวาระของตนเอง วิธีพิจารณาคดียาเสพติดไม่ให้ใช้ดุลยพินิจ เขียนแบบปิดปาก ตำรวจส่งอะไรให้ศาล ศาลก็พิจารณาแค่นั้น ไม่ไต่สวน ไม่สอบสวน มีใบรับสารภาพมาก็ไม่สนใจ ทั้งที่กฎหมายเขียนว่าศาลจะไม่เอาคำสารภาพในชั้นสอบสวนมาพิจารณาก็ได้ ทนายอาสาพออ่านสำนวนเสร็จก็มีหน้าที่แค่กล่อมให้รับสารภาพ เพื่อลดโทษเหลือครึ่งหนึ่ง เพราะทนายความก็ยึดตัวหนังสือในกระดาษ เพราะคิดว่าตัวหนังสือในกระดาษคือความเป็นธรรม แต่ไม่ได้ถามว่าก่อนมาเป็นตัวหนังสือ ใครเขียน เขียนบนองค์ความรู้ ความเข้าใจ หรือเขียนบนฐานอคติ ตื่นตระหนก หรือมีวัตถุประสงค์บางอย่าง”
สิ่งที่ควรจะเป็น

แล้วกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดควรมีรูปร่างหน้าตาแบบใด วีระพันธ์กล่าวว่า การเสพสารเสพติดไม่ใช่การกระทำผิดทางอาญา สมมติว่ามีคนเอามีดแทงตัวเองสามแผล ไม่โดนจับ แต่สูบกัญชาเข้าตัวเองทำไมถึงมีโทษจำคุก 2 ปี กัญชาก็ซื้อเอง สูบในบ้าน ทำไมคนคนนี้ถึงถูกยัดเยียดสถานะอาชญากร ดังนั้น ต้องจำแนกให้ชัดเจนว่าใครใช่หรือไม่ใช่อาชญากร

ประการที่ 2 กำหนดดฐานความผิดให้ชัด ไม่ใช่ปลูกกัญชาที่บ้าน 3 ต้น ตั้งข้อหาเขาว่าผลิตสารเสพติดให้โทษ

ประการต่อมาวิธีพิจารณาคดีต้องเปิดโอกาสให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์

“ไม่ใช่ปิดปาก ไม่สืบสวน ไม่สอบสวน ปล่อยให้มีการเขียนสำนวนนี่นั่น ปล่อยให้สู้ 3 ศาลสิ คดียาเสพติดส่วนใหญ่ 2 ศาล เพราะให้สิทธิแค่นี้ นี่ก็เป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีเปิดช่องให้นิดหน่อย บางคดีจึงไปสู่ฎีกาได้”

ประการสุดท้าย การลงโทษต้องได้สัดส่วนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

“การ Overcriminalization จะเป็นตัวการสำคัญในการทำลายทรัพยากรมนุษย์ ก่อนจะพูดว่าการดำเนินนโยบายด้านยาเสพติดด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของสาธารณะ เอาเรื่องความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ก่อน ถ้ามนุษย์ไม่มีความมั่นคง สาธารณะไม่มีทางมั่นคง

“รัฐบาลทำให้ยาเสพติดเป็นสิ่งเลวร้าย ประชาชนก็คิดว่าเอาคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไปจัดการซะ การทำให้เป็นเรื่องน่าเกลียด น่ากลัว ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีค่า ไม่มีศักดิ์ศรี ตายไปซะก็ดี สังคมก็ไม่ได้คิดว่านี่เป็นปัญหา แล้วจะไปตรวจสอบทำไม”
ผู้ใช้ยาล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับทุกคน

“เมื่อใดก็ตามที่เห็นคุณค่า เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับคุณ อะไรก็ตามที่อยู่บนพื้นฐานแบบนั้นควรนำมาใช้ ไม่ใช่มองว่าคนเสพยาเป็นคนชั่ว จะช่วยมันทำไม การมีห้องสำหรับเสพยา เข็มที่สะอาด การได้รับการปรึกษาโดยไม่ถูกรบกวนจากผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ทำให้เกิดกระบวนการที่เขาสามารถดูแลตนเองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตตัวเองได้ ไม่มีใครอยากเป็นภาระใคร ไม่มีใครอยากโกหกไปตลอดชีวิต ไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นคนชั่วไปตลอดชีวิต

“ผมไม่อยากไปแตะผู้ค้า ผู้ผลิต แต่ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ครอบครองเล็กน้อยเพื่อการเสพเฉพาะตัว ช่วงชิงเขามาอยู่กับเรา แต่การใช้กระบวนการทางอาญาแบบนี้มันเหมือนการผลักไสเขาให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ถ้านี่เป็นสงคราม แพ้ย่อยยับ

วีระพันธ์ทดลองเสนอว่า ถ้าองค์การเภสัชกรรมผลิตยาบ้าเองต้นทุนเม็ดละ 35 สตางค์ ขาย 5 บาท ผู้ใช้ต้องมาขึ้นทะเบียน จ่ายยาให้ไม่เกิน 2 วันต่อสัปดาห์ ตามหลักทางการแพทย์ถ้าใช้เมตแอมเฟตามีนด้วยปริมาณเท่านี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับผู้เสพ


“คนเสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร” วีระพันธ์ ย้ำอีกครั้ง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.