Posted: 16 Nov 2018 07:46 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-16 22:46


สุรพศ ทวีศักดิ์

เมื่อเรามองศาสนาจากสายตาปัจจุบัน ซึ่งมักสะท้อนจากความเชื่อตามการตีความของบรรดานักเผยแผ่ศาสนา ย่อมจะเห็นการแยกศาสนาออกจากอำนาจและความรุนแรง ทำนองว่าศาสนาที่แท้จริงนั้นคือคำสอนอันเป็น “แก่นแท้” ที่สอนให้เราเป็นคนดี มีศีลธรรม มีความเมตตากรุณา มีปัญญารู้แจ้งสัจธรรม ละกิเลส มีอิสรภาพทางจิตวิญญาณ เข้าถึงนิพานและพระเจ้า

คำอธิบายที่เราได้ยินเสมอๆ คือ ถ้าหากศาสนาจะเกี่ยวข้องกับอำนาจและความรุนแรง นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของศาสนา แต่เป็นความผิดของ “คน” ที่ใช้ศาสนาในทางที่ผิด เช่นชนชั้นปกครองนำศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสร้างอำนาจครอบงำกดขี่ผู้ใต้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจรัฐและผู้นำศาสนาอ้างศาสนาในการทำสงครามและการก่อการร้าย แม้แต่การกดขี่ทางเพศก็หาเป็นความผิดของศาสนาแต่อย่างใดไม่ เป็นความผิดของ “คน” ที่ใช้ศาสนาอย่างผิดๆ ทั้งนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาที่ “ตัวคำสอน” ของศาสนาต่างๆ เราพบว่าทุกศาสนาล้วนยืนยันว่าคำสอนของศาสนาตนเองสอน “ความจริงสัมบูรณ์” (absolute truth) และ “ความดีสัมบูรณ์” (absolute good) อันได้แก่ ความจริงที่ให้คำตอบที่ถูกต้องที่สุดเกี่ยวกับชีวิต โลก และสรรพสิ่ง เป็นความจริงแท้แน่นอนที่พิสูจน์ว่าผิดไม่ได้ ส่วนความดีสัมบูรณ์นั้นคือความดีที่เป็นกฎตายตัวที่ไม่เพียงแต่พาชีวิตให้ประเสริฐสูงส่งพบความสุขที่แท้จริงในโลกนี้เท่านั้น หากแต่ยังพาเข้าถึงสวรรค์ของพระเจ้าในโลกหน้าและนิพพานได้ด้วย

ขณะเดียวกันศาสนาก็สอนเรื่อง “ความชั่ว” หรือบาปที่ให้ผลข้ามภาพข้ามชาติได้เช่นเดียวกับความดีหรือบุญ แต่ผลของบาปคือการลงโทษแก่ความชั่วที่มนุษย์กระทำ อันได้แก่ ความทุกข์ทรมานในนรก สำหรับมนุษย์ผู้อยู่ใต้กฎแห่งกรรม นอกจากความดี ความชั่วในชาติที่แล้วจะส่งผลให้เราเกิดมามีสถานะสูง ต่ำทางชนชั้นแตกต่างกันในชาตินี้แล้ว มันยังมีพลานุภาพส่งเราไปขึ้นสวรรค์หรือลงนรกหลังความตายอีกด้วย และสำหรับผู้ที่อยู่ใต้กฎของพระเจ้า ชีวิตในชาตินี้ก็เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว แต่ชีวิตหลังความตายคือชีวิตนิรันดร์ ซึ่งมีให้เลือกเพียงสองทางเท่านั้นคือไม่ชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์ก็ในนรก

ประเด็นคือ โทษทัณฑ์ต่อ “คนบาป” ในนรกนั้นทารุณโหดร้ายมาก มันจึงไม่แปลกหรือเป็นเรื่องที่ “สมควรแล้ว” ที่เราจะใช้วิธีลงโทษอย่างทารุณโหดร้ายต่อคนบาปในโลกนี้ เช่นในกฎหมายมนูธรรมศาสตร์บัญญัติให้ลงโทษแก่คนวรรณะศูทรที่ปลอมตัวเป็นคนวรรณะพราหมณ์มาเรียนคัมภีร์พระเวทย์ด้วยการ “ใช้เลื่อยตัดร่างกายออกเป็นสองท่อน” ถ้าแอบสาธยายพระเวทย์ก็ให้ตัดลิ้น หรือใช้น้ำทองแดงกำลังเดือดกรอกปาก

สำหรับศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว บาปเพียงจากการบูชารูปเคารพของเทพเจ้าอื่นก็สมควรถูกปาหินให้ตาย หรือเพียงเป็นพวก “นอกรีต” ก็อาจถูกแขวนคอหรือเผาทั้งเป็นต่อหน้าสาธารณชน ในสังคมพุทธยุคอโศกและอยุธยา (เป็นต้น) ก็นำวิธีลงโทษสัตว์นรกมาออกแบบวิธีการลงโทษโจรผู้ร้ายอย่างทารุณเช่นกัน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าสำหรับศาสนานับถือพระเจ้าองค์เดียว ชีวิตในโลกนี้เป็นสิ่งชั่วคราว ชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์คือสิ่งสำคัญสูงสุด มันจึงคุ้มค่าที่เราจะต้องอดทนทำความดีหรือกระทั่งตายเพื่อพระเจ้าถ้าหากสุดท้ายแล้วผลตอบแทนคือชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์ ในทางกลับกัน สำหรับคนบาปหรือคนทรยศต่อพระเจ้านั้น ไหนๆ เขาก็จะต้องทุกข์ทรมานในนรกชั่วนิรันดร์อยู่แล้ว การลงทัณฑ์ในนามของพระเจ้าต่อบาปที่เขาทำขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็ย่อมไม่ต่างจากลงทัณฑ์ต่อสัตว์นรกที่ต้องรับทุกข์ทรมานชั่วนิรันดร์อยู่แล้ว เมื่ออนาคตของเขาคือตกนรกแน่ๆ คนบาปที่ถูกลงทัณฑ์ในนามของพระเจ้าจึงไม่ได้มีความเป็นคนเหลืออยู่แล้ว

ส่วนคนบาปในศาสนาที่เชื่อกฎแห่งกรรม ก็ถือ “คนทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว” และผลชั่วในนรกก็รุนแรงโหดร้ายสุดๆ อยู่แล้ว หากเอาคำบรรยายวิธีลงโทษในนรกมาใช้กับคนทำชั่วบนโลกนี้ก็ย่อมเป็นการสมควร เพราะคนจะได้กลัวบาปกรรมและกลัวตกนรก ดังนั้นพระสงฆ์จึงเทศนาบ่อยๆ ว่า “คุกก็คือนรกในโลกนี้ทีแสดงว่ากรรมให้ผลทันตา” หลังจากตายไปแล้ว คนชั่วก็ยังต้องไปรับโทษในนรกอีก

จริงที่ว่าแม้ศาสนาที่เชื่อ “กฎพระเจ้า” และศาสนาที่เชื่อ “กฎแห่งกรรม” จะสอนเรื่องความรัก ความเมตตากรุณา และการให้อภัย แต่สำหรับคนบาปที่ต้องรับโทษทัณฑ์จากพระเจ้าและกฎแห่งกรรม อย่างดีที่สุดศาสนาก็สอนให้เรา “วางอุเบกขา” คือวางจิตใจให้รู้สึกว่าเขาสมควรได้รับผลบาปที่ทำลงไป อย่างร้ายคือช่วยกันสาปแช่งหรือแสดงความสะใจที่คนบาปถูกลงโทษอย่างสาสม (ดังนั้นการลงโทษคนบาปจึงต้องแขวนคอ หรือเผาทั้งเป็นต่อหน้าสาธารณ์)

นอกจากนี้ศาสนายังสอนให้เราฆ่าคนชั่วโดยปราศจาก “ความรู้สึกผิด” ใดๆ ด้วย เช่นในคัมภีร์ “ภควัตคีตา” ของฮินดูสอนว่า เวลาเราทำหน้าที่นักรบเผชิญหน้ากับ “ฝ่ายอธรรม” เมื่อเรายิงลูกธนูไปปักอกศัตรูมันเป็นเพียงวัตถุ ก.แทรกเข้าไปในวัตถุ ข.คือร่างกายของคนถูกยิงเท่านั้น เราไม่ได้ฆ่าใคร เพราะ “อาตมัน” ที่เป็นตัวตนแท้จริงในร่างกายของเขาไม่อาจถูกทำลายได้ เมื่อร่างกายเขาถูกทำลายลง อาตมันที่เป็นตัวตนของเขาจริงๆ ก็ไม่ได้ตาย เราจึงไม่ได้ฆ่าใคร ในบ้านเราพระนักปราชญ์ท่านหนึ่งสอนว่าเวลาเพชฌฆาตเล็งปืนยิงเป้านักโทษประหาร ถ้ายิงด้วย “จิตว่าง” หรือ “ทำหน้าที่ด้วยจิตว่าง” จากความโกรธเกลียดก็ไม่ได้ผิดบาปอะไร

ในประวัติศาสตร์จึงไม่เคยมีศาสนาใดๆ เรียกร้อง “สิทธิมนุษยชน” ให้นักโทษ ตรงกันข้ามแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนคือแนวคิดที่เกิดจากการต่อต้านการกดขี่เสรีภาพและความรุนแรงในนามศาสนา ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณจนตลอดยุคกลางหรือยุคประเพณี

อย่างไรก็ตาม บทลงโทษคนบาปบนโลกมนุษย์ตามความเชื่อทางศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าศาสนาไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “อำนาจ” อย่างซับซ้อน จะว่าเพราะชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือก็ถูก แต่ถ้าพูดให้ถูกที่สุดคือ “ศาสนาคือประดิษฐกรรมของชนชั้นปกครอง” เองอยู่แล้ว โบราณสุดก็คือหัวหน้าเผ่าสร้างความเชื่อทางศาสนาปกครองคนในเผ่าของตน ส่วนศาสนาในอารยธรรมอินเดียนั้น พระศาสดา ฤๅษี นักบวชล้วนเป็นคนในวรรณะกษัตริย์และวรรณะพราหมณ์ ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวตระกูลอับราฮัมที่พัฒนามาเป็นยูดาย คริสต์ อิสลาม ผู้นำศาสนา ศาสดา หรือศาสนทูตก็คือผู้นำชนเผ่า ชาติพันธุ์ จนลายมาเป็นผู้นำนครรัฐ จักรวรรดิ และรัฐชาติต่างๆ

ไม่มีผู้ปกครองในโลกยุคโบราณและยุคกลางที่เป็น “คนไม่มีศาสนา” หากพวกเขาไม่เป็นเทพ โอรสของเทพ สมติเทพ ก็เป็นธรรมราชา หรือเป็นชนชั้นปกครองที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือศาสนาผสม

ต่อให้ผู้นำที่ไม่ถูกสถาปนาขึ้นโดยศาสนา เขาก็ต้องใช้อำนาจคล้อยตามความเชื่อทางศาสนาอยู่นั่นเอง เพราะในยุคเผด็จการก็ไม่มีผู้ปกครองที่อยู่ในอำนาจได้นานโดยไม่ใช้อำนาจและตัดสินใจคล้อยตามความเชื่อทางศาสนาของคนส่วนใหญ่ เพราะเผด็จการก็ย่อมอยู่ได้ด้วยการยอมรับของคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ผ่าน “การโหวต” หากผ่านการคล้อยตามความเชื่อทางศาสนาที่คนส่วนใหญ่เชื่อ ดังนั้นหากเผด็จการยุคเก่าจะบัญญัติกฎหมายหรือใช้วิธีลงโทษอย่างทารุณโหดร้าย เช่นตัดหัวเสียบประจาน เผาทั้งเป็นคนชั่ว นั่นก็คือการใช้อำนาจหรือตัดสินใจคล้อยตามความเชื่อทางศาสนาของคนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ทำสงครามก็มักอ้างศาสนาของคนส่วนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ในขณะที่ศาสนาสถาปนาสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิของชนชั้นปกครอง (เช่นอำนาจเทวสิทธิ์, ธรรมราชา ฯลฯ) ศาสนาก็สถาปนาอำนาจของสถาบันศาสนาเอง เช่นอำนาจศาสนจักร อำนาจคณะสงฆ์ กลุ่มผู้นำศาสนาต่างๆ เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์หรือการอุปถัมภ์จากรัฐ และขยายอำนาจความเชื่อทางศาสนาครอบคลุมทั้งสังคมด้วยการสร้างความเชื่อทางศีลธรรมและจารีตประเพณีต่างๆ

อำนาจของศาสนาจึงลึกซึ้งและซับซ้อนมาก เป็นอำนาจที่ยึดครอง “หัว(สมอง)คน” และ “อยู่เหนือหัว” คน เพราะศาสนาสถาปนาสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครองให้อยู่เหนือหัว หรือเป็นเจ้าชีวิตผู้ใต้ปกครองมายาวนานหลายพันปี

ด้วยเหตุนี้ ศาสนา อำนาจ และความรุนแรงจึงไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดจากกันได้ตั้งแต่เริ่มกำเนิดศาสนาและตลอดพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ในโลกสมัยใหม่ที่อำนาจกดขี่และความรุนแรงในนามศาสนาลดน้อยลงไปได้ ก็เป็นเพราะสังคมมนุษย์ได้เรียนรู้ความโหดร้ายในอดีตจึง “ถอดเขี้ยวเล็บ” ของศาสนาออกไป คือแยกศาสนจักรออกจากการมีอำนาจรัฐ ไม่เอาหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นหลักการปกครอง เอาหลักการโลกวิสัย (secularism) คือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาใช้แทน

กระนั้นก็ตาม ในยุคปัจจุบันเราก็มักได้เห็นการกดขี่และความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามศาสนาอยู่เสมอๆ เมื่อศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองและชาติพันธุ์ หรือถูกชุมชนทางศาสนาหนึ่งๆ ใช้หลักความเชื่อทางศาสนาละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรีและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเป็นต้น

ดังนั้นการหยุดการกดขี่และความรุนแรงในนามศาสนา เอาเข้าจริงแล้ว ก็อาจไม่เคยสามารถจะหยุดได้ด้วยหลักคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของศาสนาเอง แต่หยุดได้ด้วยการวางระบบให้ศาสนาอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.