อัพเดทเนื้อหา 16.09 น.
ศาลทหารไม่ให้ประกันตัว 8 แอดมินเพจล้อการเมือง อีกด้านศาลอาญามีคำสั่ง การเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่กระทำอย่างเปิดเผยสุจริตไม่ถือว่าผิดแต่ประการใด
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว 8 ผู้ต้องหา ซึ่งประกอบไปด้วย น.ส.ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ นายชัยธัช รัตนจันทร์ นายนพเก้า คงสุวรรณ นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ นายโยธิน มั่งคั่งสง่า นายธนวรรธน์ บูรณศิริ นายศุภชัย สายบุตร และนายหฤษฏ์ มหาทน ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดในมาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพในช่วงเช้าวันนี้ 29 เม.ย. ทางทนายของทั้ง 8 ผู้ต้องหาคือนายอานนท์ นำภาได้ยื่นขอประกันตัวรายละ 100,000 บาท แต่หลังจากที่ศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณา ล่าสุดทนายความได้โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเวลา 15.50 น.ว่า ศาลตกลงไม่ให้ประกันตัวบุคคลทั้งแปด
บุคคลที่ถูกจับและดำเนินคดีทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนจัดทำเพจในเฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นภัย ด้านนายอานนท์ ทนายความของพวกเขาได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเปิดเผยว่า ในคำร้องขอฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” มีภาพตัดต่อล้อเลียนนายกรัฐมนตรี ขณะที่ทนายความคัดค้านโดยระบุว่า การล้อเลียนไม่ถือว่าเป็นความผิดในเรื่องของความมั่นคงตามมาตรา 116 ต่อมานายอานนท์โพสต์ด้วยว่า ศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังพวกเขาไว้ในระหว่างสอบสวน 12 วัน ขณะนี้ทนายความรอคำสั่งศาลในเรื่องการประกันตัว
ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลในเพจของกลุ่มว่า ในขณะที่ไปศาล นายหฤษฎ์ มหาทน ผู้ต้องหาที่ 8 แถลงต่อศาลเพื่อประกอบการคัดค้านการฝากขังว่า ในช่วงที่อยู่ในค่ายทหารนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารผลัดกันสอบสวนตลอดเวลาและเจ้าหน้าที่ได้กล่าวกับนายหฤษฏ์เองว่า ได้สอบสวนหมดสิ้นแล้ว จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังเพิ่มเติม ตลอดจนกลุ่มตนก็ไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนีแต่อย่างใด พร้อมทั้งยินดีร่วมมือหากจะมีการสอบปากคำเพิ่มเติม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวในเพจของกลุ่มว่า ผู้ต้องหาหนึ่งในแปดระบุว่า แม้เพจที่ทำขึ้นมาจะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ไม่ควรถูกกล่าวหาว่ามีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องที่ควรทำได้ในสังคมประชาธิปไตย
ส่วนที่ศาลอาญาซึ่งทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ร้องต่อศาลว่าการควบคุมตัวบุคคลทั้งแปดเป็นไปโดยมิชอบและขอให้ปล่อยตัว เนื่องจากพฤติกรรมการเข้าจับกุมไม่มีหมายจับ ประกอบกับการตรวจค้นเป็นไปอย่างอุกอาจ วันนี้ศาลอาญาพิจารณาไต่สวนแล้วระบุว่า การจับกุมตัวบุคคลทั้งแปดของเจ้าหน้าที่กระทำในเวลากลางวัน เป็นไปอย่างเปิดเผยและสุจริต อีกทั้งเป็นการเข้าควบคุมตัวในด้านความผิดด้านความมั่นคงที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจกระทำได้ตามคำสั่งของคสช.ที่ 3/58 อย่างไรก็ตาม น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ยื่นเรื่องกล่าวว่า ทางทนายความจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาเพิ่มเติมว่า จะอุทธรณ์คำสั่งหรือไม่ พร้อมกันนั้นชี้ว่า การที่ทนายความและญาติยื่นเรื่องร้องเรียนเชื่อว่ามีผลให้เจ้าหน้าที่ปรับวิธีการทำงานอยู่บ้าง สังเกตเห็นได้จากที่มีการขอหมายจับหนึ่งวันหลังจากที่มีการจับกุมและญาติร้องเรียนทันที ทั้งๆที่การขอหมายจับนี้สามารถทำได้ล่วงหน้า เชื่อว่าหากไม่มีความเคลื่อนไหวจากทีมทนาย บุคคลทั้งหมดอาจยังอยู่ในการควบคุมโดยที่ยังไม่มีขั้นตอนใดๆ
นี่เป็นภาพของพวกเขาช่วงก่อนเข้าสู่ศาล สองภาพหลังเป็นภาพหลังจากออกมาจากศาล



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.