เพื่อไทยร้อง คสช.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เปิดทางประชาชนรับฟังข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญรอบด้าน ขณะที่ตำรวจจับกุมประธานกองทุนในจังหวัดขอนแก่น ผู้ถูก กกต.ยื่นฟ้องข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ประชามติ เป็นรายแรก
วันนี้ (28 เม.ย.) พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามาตรา 61 ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีความได้ทุกกรณีตามอำเภอใจ เพื่อเอาผิดผู้แสดงความคิดเห็น ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ในลักษณะข่มขู่ห้ามการแสดงความเห็น หรืออภิปรายข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอยู่อย่างต่อเนื่องด้วย
พรรคเพื่อไทยย้ำว่ามาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติไว้ แต่มาตรา 61 ของกฎหมายฉบับนี้ กลับกำหนดข้อห้ามที่เข้มงวด ขัดต่อหลักการในมาตรา 7 เสียเอง และยังกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้สูงมาก โดยให้จำคุกถึง 10 ปี
พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้รัฐบาล และ คสช. ต้องแก้ไข มาตรา 7 และมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และ คสช. ต้องแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และ/หรือประกาศของหัวหน้า คสช. หรือ คสช. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนที่เป็นไปโดยสุจริตและในทางวิชาการ ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรีบเผยแพร่ระเบียบปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประชามติ โดยระเบียบดังกล่าวต้องยึดเจตนารมณ์ตามมาตรา 7 ให้ถือว่าการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นของบุคคลโดยสุจริตและในทางวิชาการ เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่สำนักข่าวไทยรายงานว่าตำรวจสถานีทุ่งสองห้องในกรุงเทพมหานครได้แถลงการจับกุม นางจีรพันธุ์ ตันมณี อายุ 59 ปี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณี เพื่อสิทธิคนออทิสติก ซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่านางจีรพันธุ์ถูกจับกุมในข้อหาโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กชักจูงประชาชนให้ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เข้าแจ้งความกับ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 (1)
สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่านางจีรพันธุ์ เข้าใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลเหมือนวันเลือกตั้ง จึงคิดว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวก่อนถึงวันลงประชามติจะไม่มีความผิด แต่มาทราบภายหลังว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.แล้ว โดยปกติตนเป็นคนสนใจเรื่องผลประโยชน์ของบ้านเมืองบ้าง และโพสต์ข้อความดังกล่าวอยากให้ประชาชนสนใจ ซึ่งกลุ่มของตนก็เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ไม่รู้ว่าจะมีคนให้ความสนใจ จึงอยากฝากเตือนเป็นอุทาหรณ์ว่าควรจะใช้ถ้อยคำที่สุภาพมากกว่านี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.