ปริศนาปลาตายเป็นเบือในเวียดนาม แรงกดดันในการหาคำตอบจากผลพวงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลเวียดนามยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้ปลาและสัตว์ทะเลตายกันเป็นเบือในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่ชี้ว่า อาจเป็นผลมาจากมลพิษที่มนุษย์เป็นผู้ก่อหรือการแพร่พันธุ์ของสาหร่ายที่มีมากจนเกินพอดี แต่ก็ยังหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันไม่ได้
ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามถูกกดดันหนักให้หาคำอธิบาย ทำให้นายโหว ตวน เนียน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกมากล่าวขัดตาทัพว่า เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ซับซ้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก การค้นหาสาเหตุเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ และความเสี่ยงต่อความเสื่อมโทรมทางสภาพแวดล้อมโดยรวม
ปรากฏการณ์สัตว์น้ำตายเป็นเบือที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ยังสร้างความสนเท่ห์ให้กับนักวิทยาศาสตร์อยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งนี้ ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสารวิทยาศาสตร์ PNAS เมื่อปีที่แล้วชี้ว่า ยังหาหลักฐานมายืนยันให้แน่ชัดไม่ได้ว่าอะไรคือตัวการแท้จริงที่ทำให้เกิดเชื้อโรคระบาดขึ้นบ่อยครั้ง หรืออะไรเป็นสาเหตุทำให้สาหร่ายที่แพร่กระจายกลายเป็นสารชีวพิษไปได้
ผลการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ตายเป็นเบือที่เกิดขึ้น 727 ครั้งกับสัตว์เกือบ 2,500 ประเภทในช่วงปี 2483 - 2555 พบว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ กับสัตว์ปีก ปลาและสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยผลจากการวิเคราะห์ชี้ว่า สาเหตุของปรากฏการณ์ตายเป็นเบือร้อยละ 26 มาจากการเกิดเชื้อโรค และร้อยละ 19 เป็นผลจากมลพิษที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ นอกจากนี้ ยังมีการสรุปด้วยว่า สารชีวพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่พันธุ์ของสาหร่าย เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการตายของสัตว์ต่างๆ
แต่ถึงกระนั้น คำถามสำคัญที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ อะไรเป็นสาเหตุทำให้อัตราการเกิดเชื้อโรคเพิ่มสูงขึ้น หรือต้นเหตุของการแพร่พันธุ์ของสาหร่ายจนสูงถึงขั้นอันตรายคืออะไร มีเพียงคำตอบส่วนหนึ่งคือภาวะโลกร้อน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สัตว์น้ำตายเป็นเบือ เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปีที่แล้ว ทั้งจีน กัมพูชา และสิงคโปร์ ต่างประสบปัญหาดังกล่าวนี้ แต่ไม่มีประเทศไหนที่จะชี้ลงไปว่าเรื่องนี้เป็นผลของมลพิษที่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้น รวมถึง เหตุการณ์ปลาลอยตายเป็นแพในแม่น้ำใกล้เมืองเทียนจินของจีนหลังเกิดเหตุโรงงานเก็บสารเคมีระเบิด ผู้สื่อข่าวบอกว่า บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ทางการโทษว่าเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน หรืออุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น
สำหรับเวียดนามนั้น นักรณรงค์ด้านสภาพแวดล้อมกำลังเรียกร้องให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาค้นหาสาเหตุ ซึ่งพวกเขาเห็นว่า อาจช่วยอธิบายให้ลึกลงไปได้ด้วยถึงผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศน์โดยรวม รวมทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร และกระทบมาถึงผู้คน แต่ผู้สื่อข่าวชี้ว่า หากรัฐบาลของประเทศใดก็ตาม มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการต้นเหตุมลพิษ รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ก็คงไม่อยากให้มีการดำเนินการสืบสวนชี้ตัวผู้กระทำผิด
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยภาพรวม การค้นหาสาเหตุมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเวียดนามในระยะยาว เนื่องจากอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารทะเลของประเทศมีมูลค่าราว 7,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากว่า ปรากฏการณ์การตายเป็นเบือนี้ กำลังแพร่ลงสู่ทางใต้ของประเทศแล้ว


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.