ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: บรรยากาศเสี่ยง "อันตราย" ที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้!
.
[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ อ่านตอนใหม่ได้ที่ >>http://ilaw.or.th/node/4093]
.
ช่วงเช้าของวันนี้ (27 เมษายน 2559) มีรายงานผ่านโลกออนไลน์เป็นระยะว่า ประชาชนคนธรรมดาถูกจับกุมและพาตัวไปจากบ้านตั้งแต่เวลารุ่งเช้า อย่างน้อย 10 คน 
.
โดยบุคคลที่ถูกจับตัวไป บางคนเป็นช่างภาพ บางคนเป็นเจ้าของกิจการ บ้างก็เป็นนักเขียน แต่สิ่งที่คล้ายกันในหมู่พวกเขาก็คือ “ความสนใจต่อเหตุการณ์บ้านเมือง”
.
แต่ท่ามกลางความสับสนของการใช้อำนาจจับกุมตัวบุคคลดังกล่าว ไอลอว์มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลและความชอบธรรมในอำนาจที่จะจับกุม ตรวจค้น ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน รวมไปถึงการควบคุมตัวในครั้งนี้ว่า มันมีปัญหาในแง่ “อำนาจที่ใช้กับฐานความผิดไม่สอดคล้องกัน”
.
กล่าวคือ การจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าว หากเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จริง ฐานความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ 3/2558 หรือ13/2559 ที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ได้ นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่เป็นความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊ก ย่อมไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทหารไม่สามารถอ้างอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อใช้กับกรณีนี้ได้
.
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติที่ให้อำนาจไว้ และกลับกลายเป็นคนที่ละเมิดมันเสียเอง
.
อีกทั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายศาล ไม่มีการแจ้งข้อหา หรือการกระทำความผิด และไม่ให้สิทธิในการพบทนายความหรือติดต่อญาติ ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการบังคับให้สูญหาย การซ้อมทรมาน และการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว
.
รวมไปถึงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยทหาร เช่น การข่มขู่ให้รับสารภาพระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหาร นอกจากนี้ กลไกต่างๆ ซึ่งต้องตรวจสอบถ่วงดุลก็ไม่สามารถทำงานได้อีก
.
สิ่งหนึ่งที่เกิดเป็นคำถามในสภาวะเช่นนี้ก็คือ "ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่บรรยากาศเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ใช่หรือไม่"


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.