นักท่องเที่ยวตะวันตกเริ่มหันหลังให้ทัวร์ขี่ช้างในเอเชีย
ทัวร์ขี่ช้างนับเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ในประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวประเภทสะพายเป้หลังหรือแบ็คแพ็คเกอร์ อย่างไรก็ตาม แอนนา โจนส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่าตอนนี้ ความนิยมต่อกิจกรรมดังกล่าวในหมู่นักท่องเที่ยวตะวันตกเริ่มซาลง และล่าสุดเพิ่งมีการรณรงค์ทางออนไลน์ให้ทางการกัมพูชายกเลิกกิจกรรมขี่ช้างที่กัมพูชา หลังจากช้างแก่เชือกหนึ่งล้มและตายขณะกำลังให้บริการนักท่องเที่ยวท่ามกลางอุณหภูมิร้อนจัด 40 องศาเซลเซียส มีผู้ร่วมลงชื่อถึง 50,000 ชื่อแล้ว
ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่าช้างเป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และหากช้างทำร้ายคนก็มีโอกาสสูงที่จะถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำช้างมาใช้ในกิจกรรมท่องเที่ยว บอกว่าไม่มีทางที่พวกมันจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม การนำช้างมาใช้ลากซุง หรือให้บริการท่องเที่ยวหมายถึงการนำพวกมันออกจากป่าตั้งแต่ยังเล็ก ๆ และทำลายจิตวิญญาณความเป็นสัตว์ป่าของพวกมันผ่านกระบวนการอันทารุณโหดร้าย การที่ช้างต้องทำหน้าที่เป็นพาหนะให้นักท่องเที่ยวย่อมส่งผลต่อสรีระร่างกายของพวกมันไม่ว่าจะท่อนขา หรือหลัง ช้างในเอเชียซึ่งปกติจะมีหลังโค้งนูน อาจแบนราบได้หากต้องรับน้ำหนักอยู่บนหลังเป็นเวลานาน ๆ ช้างเหล่านี้ยังมีโอกาสจะตายขณะอายุน้อย
อย่างไรก็ดี นายอลิกซ์ เอลเลียตต์ จาก World Animal Protection บอกว่าทัศนคติของนักท่องเที่ยวที่มีต่อทัวร์นั่งช้างเปลี่ยนไปมาก หากดูจากความเห็นที่โพสต์กันทางออนไลน์ โดยเฉพาะจากเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง TripAdvisor จะเห็นว่านักท่องเที่ยวจะตกใจเมื่อรู้ว่าการขี่ช้างสร้างความโหดร้ายให้กับพวกมันเพียงใด แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีผู้โพสต์ข้อความแสดงความชื่นชมกิจกรรมนั่งช้างในเว็บไซต์เดียวกัน ที่ผ่านมา World Animal Protection ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมให้บริษัททัวร์กว่า 100 แห่งยกเลิกกิจกรรมขี่ช้าง และเป้าหมายต่อไปคือรณรงค์ให้เว็บไซต์อย่าง TripAdvisor ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นและยกเลิกการให้เรทติ้งกิจกรรมที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพของสัตว์ ด้าน TripAdvisor บอกว่าเว็บไซต์ไม่ได้ส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับสัตว์ใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย และขึ้นกับรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะดูแลการประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวสนใจจะใกล้ชิดสัตว์อย่างช้าง ก็มีทางเลือกอื่นที่ทำได้ เช่น เยี่ยมชมที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างอย่างในเมืองไทย ซึ่งให้ความช่วยเหลือหรือซื้อช้างที่ถูกนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์มาดูแล
ด้านนายเจฟฟ์ แมนเชสเตอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัททัวร์อินทรีพิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นบริษัททัวร์แห่งแรกที่ยกเลิกทัวร์ขี่ช้างหลังพบหลักฐานว่าช้างที่ถูกนำมาให้บริการนั้นไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม บอกว่า การยกเลิกไม่ให้นำช้างมาใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยสิ้นเชิง จะส่งผลกระทบต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าของช้างและควานช้าง เขาบอกว่า รัฐบาลควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อหาทางเลือกอื่นให้คนเลี้ยงช้าง อย่างเช่น โครงการที่มีในไทย อย่างไรก็ดี นายแมนเชสเตอร์บอกว่าแม้นักท่องเที่ยวตะวันตกจะลดความนิยมทัวร์นั่งช้าง แต่นักท่องเที่ยวในเอเชียเองกลับนิยมมากขึ้น และตราบใดที่ความต้องการยังมีอยู่ช้างก็ยังต้องให้บริการอยู่ต่อไป


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.