วันนี้ (26 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อยืนยันเสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า
แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยืนยันเสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิที่กระทำได้
อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 25 เมษายนนี้ ได้มีเสวนาทางวิชาการว่าด้วยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและได้มีการเผยแพร่เอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญใน 7 ประเด็น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ายึดเอกสารและพยายามเชิญตัวนักวิชาการไปสถานีตำรวจ ต่อมา พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการ “ก่อความวุ่นวาย” ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และมีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ อีกทั้งยังชี้นำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเอาผิด และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ คสช.และกกต.แสดงท่าทีชัดเจนว่า หลังจากนี้ จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ใดก็ตามที่แสดงความคิดเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ขอยืนยันในจุดยืนดังต่อไปนี้
1. การเผยแพร่เอกสารวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในงานเสวนาดังกล่าว และการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะมีต่อไปอีกนั้น เป็นหนึ่งในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การพูด เขียน อภิปราย เผยแพร่เอกสาร งานศิลปะ ฯลฯ ตราบเท่าที่วิธีการเหล่านี้เป็นไปอย่างสันติและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
2. หาก คสช. เห็นว่า การวิจารณ์เหล่านั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง คสช. ก็ควรจะชี้แจงเหตุผลที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง หรือจัดเวทีให้ทั้งสองฝ่ายอภิปรายกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่ไม่ควรใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เช่น พรบ.ประชามติ มาเป็นเครื่องมือคุกคามและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
3. ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการฯได้เคยเรียกร้องไปแล้วว่า กระบวนการทำประชามติต้องเปิดกว้าง และไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่าย คสช.และกกต.ไม่ควรอ้างพรบ.ประชามติให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐสามารถประชาสัมพันธ์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ แต่กลับใช้อำนาจปิดกั้น ข่มขู่ ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
4. เครือข่ายนักวิชาการฯ ใคร่ขอเตือนคสช. ว่า การทำประชามติภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปิดกั้นคุกคามเสรีภาพ และบังคับให้ประชาชนได้รับข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวนั้น ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติในที่สุด แต่คสช.ก็ไม่อาจที่จะอ้างความชอบธรรมใด ๆ ให้แก่ผลประชามติและร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เนื่องจากเป็นกระบวนการประชามติที่มีลักษณะด้านเดียว ปิดกั้นความรับรู้ของประชาชน และจึงขาดความชอบธรรม
สุดท้าย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองขอสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มต่อร่างรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ คสช.และ กกต.ยุติการคุกคามการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
26 เมษายน 2559


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.