สันติภาพภาคใต้ เสียงสะท้อนจากคนทำงานภาคประชาสังคม:
ถ้าทำให้เสียงคัดค้านการพูดคุยในฝ่ายมาราเข้มแข็งขึ้น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่จะเปลี่ยนการต่อสู้ให้เป็นวิถีทางสันติก็จะยิ่งห่างออกไป
ภายในเวลาไม่กี่วัน เกิดเหตุการณ์สามประการกับการพูดคุยสันติภาพภาคใต้ที่ส่งผลสะเทือนต่อตัวกระบวนการเอง ประการแรก คือการปรับตัวบุคคลที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของทีมไทยออก นั่นคือพลโทนักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขานุการคณะพูดคุยของไทย ถัดมาคือการที่ฝ่ายไทยแจ้งว่าไม่พร้อมจะลงนามยอมรับร่าง Terms of reference หรือทีโออาร์ ที่เรียกได้ว่าจะเป็นกติกาของการพูดคุย ทำให้การพบปะกันระหว่างทีมพูดคุยสันติสุขของไทยกับกลุ่มมารา ปาตานีเมื่อ 27 เม.ย.ที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้า และล่าสุด คือการที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมากล่าวถึงปัญหาการพูดคุยสันติภาพภาคใต้ว่าไม่สามารถจะทำตามข้อเรียกร้องหลายเรื่องได้ ไม่ว่าเรื่องให้ยอมรับชื่อกลุ่มมารา ปาตานี หรือการกำหนดให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ภาพของการพูดคุยล่าสุดจึงดูเหมือนจะไม่ชัดเจนว่าจะก้าวไปในทิศใด
บีบีซีได้คุยกับรอมฎอน ปันจอร์ แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ในฐานะที่เป็นผู้ที่ทำงานเกาะติดในเรื่องของความพยายามสร้างสันติภาพในพื้นที่ ร่วมมือกับบรรดากลุ่มภาคประชาสังคมเพื่อผลักดันและมีส่วนร่วมในเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบผลสะเทือนของปรากฎการณ์นี้ต่อความรู้สึกของคนที่ขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้
รอมฎอนแสดงความเสียดายที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องทีโออาร์ หลังจากที่ใช้เวลาร่วมครึ่งปีในการพูดคุยเฉพาะเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญเขาชี้ถึงการเสียโอกาสจากการที่เครือข่ายกลุ่มผู้หญิงเพิ่งจะออกมานำเสนอในเชิงนโยบายให้ทั้งไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งหากยังมีการพูดคุยกันอยู่ ข้อเสนอนี้น่าจะนำไปสู่การพูดคุยในระดับถัดไปได้ ขณะที่ทีมไทยเองก็เคยเปิดเผยไว้ว่า ขั้นตอนต่อไปของการพูดคุย คือการสร้างความเชื่อมั่นไว้ใจกันมากขึ้นด้วยการยุติความรุนแรงในบางพื้นที่บางเวลาเพื่อพิสูจน์ความจริงใจและความสามารถในการควบคุมพื้นที่ของกลุ่มผู้เห็นต่าง แม้จะทำได้แค่บางส่วนแต่ก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเชิงบวก ซึ่งจุดนี้ทำให้ประชาชนที่เฝ้าติดตามกระบวนการมีความคาดหวังว่า ความรุนแรงจะค่อยๆลดลงและเปลี่ยนไปสู่การต่อสู้ด้วยวิถีทางการเมือง
รอมฎอนเห็นว่า การเปลี่ยนตัวคนที่เป็นกำลังสำคัญในทีมออก การไม่ลงนามในทีโออาร์ และถ้อยแถลงล่าสุดของฝ่ายไทย ทั้งหมดนี้ถือเป็นสัญญาณเชิงลบจากฝ่ายไทยทั้งสิ้น “สิ่งที่เราไม่รู้จริงๆก็คือ รัฐบาลไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร ปฎิกิริยาของอีกฝ่ายจะมาแบบไหน ที่เราไม่อยากเห็นคือปฎิกิริยาในเชิงใช้ความรุนแรง” รอมฎอนเห็นว่า การ “ส่งสัญญาณ” ทางการเมืองเช่นนี้ควรกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะเรื่องของการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขเป็นเรื่องที่ผู้คนคิดต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือนอกพื้นที่ การส่งสัญญาณกับเรื่องเช่นนี้จึงไม่ควรจะกลายเป็นการเชื้อเชิญให้มีการใช้กำลังจากฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่ฝ่ายไทยควรจะต้องทบทวนตรวจสอบได้คือ ในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลสะเทือนอย่างไรต่อฝ่ายที่เป็น “คู่สนทนา”
“ถ้าทำให้เสียงที่สงสัยคัดค้านการพูดคุยในฝ่ายมาราเองแข็งแกร่งขึ้น อันนี้จะยิ่งทำให้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยที่ต้องการเปลี่ยนการใช้ความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี เป้าหมายนี้จะยิ่งห่างไกลออกไป มันจะยิ่งทำให้เสียงสนับสนุนการพูดคุยในมาราหรือบีอาร์เอ็นอ่อนแรงลง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศก็ไม่ต้องการให้เกิดสิ่งนี้ นี่คือความท้าทายสำคัญ”
รอมฎอนให้ความเห็นอีกว่า ในขณะนี้ หากรัฐบาลยังต้องการเดินหน้าในเรื่องการพูดคุยต่อไป ยังมีเรื่องที่ถือว่าเป็นความท้าทาย เรื่องสำคัญคือเรื่องของการหาคนที่จะมาทำงานนี้ให้กับรัฐบาล ซึ่งเขาเห็นว่าหาได้ไม่ง่ายนักสิ่งสำคัญคือต้องให้เวลาคนทำงานในด้านนี้สะสมประสบการณ์ ความรู้ ความไว้วางใจทั้งจากฝ่ายที่จะคุยด้วยและเครือข่ายทั่วไปที่จะสนับสนุนการทำงานของตน
“งานแบบนี้เป็นงานทางความคิดและเป็นงานการเมือง มีลักษณะเฉพาะ มันยึดโยงโดยธรรมชาติว่าต้องมีหุ้นส่วน ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องรู้ว่าจะคุยกับใคร และจะไว้ใจได้หรือไม่ และมันไม่ใช่แค่สองคน เพราะมันมีคนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบไม่ว่าทางบวกหรือลบ หน้าที่นี้ไม่ใช่จะเอาใครมาทำได้ง่ายๆ ต้องสะสมทั้งบารมี ประสบการณ์ ความไว้วางใจ”

“วิธีคิดแบบนี้ทหารน่าจะเข้าใจ เวลาทำสงคราม ต้องใช้คนที่ไว้ใจ รู้สภาพ รู้สถานการณ์ข้าศึก รู้จักตัวเอง จุดอ่อนตัวเอง จุดที่เข้มแข็ง และรู้ว่าจะรับมือจุดแข็งของอีกฝ่ายได้อย่างไร”
เขาเห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีปัญหาเรื่องเปลี่ยนคนทำงานในเรื่องการพูดคุยมาหลายครั้ง แม้กระนั้นกระบวนการก็ยังสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้ทีละน้อยๆ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายก็สะสมความไว้วางใจกันมาได้เรื่อยๆ กับทีมพูดคุยของฝ่ายไทยชุดปัจจุบันเขามองว่าอาจจะยังไม่เชี่ยวชาญมากเนื่องจาก “กระบวนการสันติภาพมันไม่ได้เป็นกระแสหลักในกองทัพตั้งแต่แรก” แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ที่มีการเปลี่ยนตัวคนทำงานคนสำคัญอีกคนหนึ่งออกไป ความท้าทายของฝ่ายไทยคือ จะหาใครมาทำงานที่มีลักษณะเฉพาะดังกล่าวนี้ดังที่ว่า
กับคำถามที่ว่า มองว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยไม่พร้อมจะลงนามในทีโออาร์ จะเป็นเรื่องของปัญหาการยอมรับในประเด็นต่างๆตามที่นายกรัฐมนตรีพูด หรือว่าเป็นเรื่องของความไม่พอใจของไทยเพราะมีการยกระดับการติดต่อของฝ่ายมารา ปาตานีกับกลุ่มองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซีหรือไม่ เรื่องนี้รอมฎอนเห็นว่า สาธารณะไม่มีทางรู้เรื่องประเด็นการเมืองภายในเช่นนี้ของทั้งสองฝ่ายได้ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีและจุดยืนของกระทรวงต่างประเทศเป็นเรื่องที่ควรจับตาเพราะสำคัญยิ่งสำหรับการตัดสินใจใดๆของรัฐบาลไม่ว่าชุดใด ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศมักกังวลกับเรื่องของการที่จะมีการยกระดับไปสู่ต่างประเทศทั้งในเรื่องของประเด็นและตัวบุคคล ในขณะที่อีกด้านก็ต้องการจะตัดความช่วยเหลือของประเทศมุสลิมออกไป ส่วนกลุ่มผู้เห็นต่างเองก็ต้องการสถานะทางการเมืองและการยอมรับ จึงพยายามผลักดันสถานะตัวเองในต่างประเทศ
รอมฎอนเห็นว่า ปัญหานี้ต้องแก้ไขด้วยการทำให้ช่องทางการสื่อสารเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้สามารถต่อรอง ทักท้วงหรือพูดคุยกันได้ สิ่งสำคัญนั้น เขาเสริมว่า แต่ละฝ่ายควรอดทนกับความเห็นต่าง ไม่ว่าในกลุ่มของตนเองหรือกับฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับต้องพยายามรักษาสภาพที่ติดต่อกันไว้ได้ต่อไป ประเด็นปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาการยอมรับซึ่งกันและกันที่แสดงออกผ่านถ้อยคำในเอกสารรวมทั้งประเด็นเรื่องโอไอซีก็อาจคลี่คลายได้หากยังพูดคุยกันต่อไปและทั้งสองฝ่ายอดทน


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.