กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเกินกว่าเหตุหรือไม่ ?
เมื่อ “กรกนก คำตา” นักศึกษาสาว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ที่ถูกอัยการสั่งฟ้อง และนำตัวส่งไปยังเรือนจำ ก่อนศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Pup Kornkanok Khumta เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะถูกคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง
ถูกดำเนินการเสมือนนักโทษ ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าผิด อีกทั้งเป็นคดีเกี่ยวกับการเมืองอยู่ระหว่างการยื่นประกัน
โดยกรกนกโพสต์ว่า “เมื่อเข้าไปถึงเขตเรือนจำถูกคนที่มีลักษณะเหมือนพยาบาล พร้อมผู้คุมสั่งให้ตรวจภายในทันที สั่งให้นั่งลงกับพื้นด้วยเสียงอันดัง พร้อมให้ถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด ก่อนโยนผ้าถุงให้หนึ่งผืน ท่ามกลางผู้คุมนับร้อย”
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนเจ้าหน้าที่รู้ว่าการยื่นขอประกันผ่านแล้ว แต่ไม่มีใครแจ้ง ซ้ำกลับนำตัวเข้าสู่กระบวนการเป็นนักโทษครบทุกอย่าง ทั้งที่ไม่จำเป็น ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำต้องถูกเปลือยกายให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น ทุกอย่างถูกบังคับให้ทำรวดเร็ว ทุกพื้นที่ห้ามกระทำการใดๆ หากไม่ได้รับอนุญาต เช่น ห้ามนั่งหรือนอนโดยพลการ ตอนทุ่มครึ่ง อยู่ในเรือนนอนนักโทษ เพชร 1/1 พร้อมนอนกับนักโทษอีก 50 คนแล้ว จึงได้รับการปล่อยตัว
จากกรณีดังกล่าว นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า การตรวจตัวผู้ต้องขังอย่างละเอียดเป็นหลักเกณฑ์ และระเบียบปฏิบัติ ในส่วนที่มีรายละเอียดว่าให้มีการถอดเสื้อผ้าหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นขั้นตอนของเรือนจำ ลักษณะที่บอกว่ามีการเปลือย หมุนตัวในการตรวจค้น เป็นขั้นตอนตามหลักปกติ ไม่ใช่การเปลือยกายให้คนอื่นเห็น แต่เป็นเปลือยกายในผ้าถุง เพื่อตรวจว่าซุกซ่อนหรือเหน็บยาเสพติดไว้ในที่จุดซ่อนเร้น ตรงไหนบ้าง เพราะบางคนซุกซ่อน ซิมการ์ด ยาเสพติดไว้ในช่องคลอดเข้าไปในเรือนจำ ถ้าถามว่าทำไมต้องทำกันถึงขนาดนั้น เพราะต้องป้องกัน เข้มข้น เข้มงวด เป็นมาตรฐานทุกเรือนจำ
“ที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องตลก เป็นเรื่องจริง ที่ต้องป้องกันสิ่งเหล่านี้ ระเบียบเมื่อก่อนจนทุกวันนี้ ความละเอียดในการตรวจค้นผู้ต้องขังเปลี่ยนไปจะละเอียดมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักศึกษา กรมราชทัณฑ์ ถือหลักเกณฑ์เดียวกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ไม่ว่าคดีใดที่ต้องนำตัวเข้าเรือนจำ ต้องผ่านการตรวจค้นตัวอย่างละเอียด” ปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ และว่า กรมราชทัณฑ์ไม่มีเรือนจำสำหรับคดีการเมือง จึงไม่สามารถแยกการปฏิบัติจากผู้ต้องขังปกติ
“หากจะไม่ให้ตรวจค้นแบบละเอียดเช่นนี้ ในอนาคตจะต้องลงทุนซื้อเครื่องมือตรวจสแกนร่างกาย เหมือนกับสนามบิน ราคาแต่ละเครื่องก็แพง ต้องถามสังคมว่าคุ้มค่าหรือไม่ ทั้งนี้การปฏิบัติกับผู้ต้องขังต้องปฏิบัติภายในเงื่อนไข คือ ต้องไม่มีลักษณะในการกลั่นแกล้ง ไม่เป็นลักษณะการกระทำรุนแรง ต้องไม่ใช่การประจานหรือทำให้อับอาย และต้องไม่เป็นการกระทำอนาจาร” นายชาญเชาวน์บอก และว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เป็นแบบอย่างเดียวกันตามมาตรฐานสากล ทุกคนต้องถูกตรวจค้นก่อนเข้าเรือนจำ แม้กระทั่งผู้คุมต้องถูกตรวจมากน้อยต่างกันไป ผู้ต้องขังที่ออกไปขึ้นศาล หรือออกงานกองนอกจะต้องถูกตรวจเข้มทุกรายไป
นายชาญเชาวน์ยังชี้แจงที่ถูกตั้งคำถามว่า การกระทำแบบนี้ล้าสมัยหรือไม่ว่า คงไม่ใช่ เพราะการตรวจแบบนี้เป็นหลักปฏิบัติสากล แต่ขอย้ำว่าต้องไม่ใช่การอนาจาร หรือกลั่นแกล้งหากเห็นว่าได้รับปฏิบัติที่รู้สึกว่าเป็นการอนาจาร ให้แจ้งเรื่องหรือทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงยุติธรรมได้ ทางกระทรวงพร้อมจะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง
“ที่ผ่านมามีการร้องมายังกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ต้องขังหญิง ร้องมาว่าถูกกระทำการรุนแรง ระหว่างตรวจหายาเสพติดและวัตถุต้องห้าม เรื่องเหล่านี้สังคมไม่ได้รับรู้ ในการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ บางทีอาจจะดูว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่เพื่อเป็นการสกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมายเข้าเรือนจำ บางครั้งอาจกระทบสิทธิบางอย่าง กระทรวงยุติธรรมพร้อมรับฟังข้อเสนอท้วงติงเพื่อนำมาปรับปรุง และจะกำชับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบ” ปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ให้ความเห็นว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสตรีเข้ามามาก ในกรณีที่คล้ายๆ กับนักศึกษาหญิงที่ถูกกรมราชทัณฑ์คุมตัวเพื่อรอประกันแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น รวมทั้งตรวจภายในด้วย
“โดยเฉพาะเป็นเรื่องของความผิดที่ไม่ร้ายแรง และไม่ใช่เรื่องของคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด บางครั้งอาจเป็นเพียงกรณีหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่พอกรณีของผู้ต้องหาไม่ยอมความ แล้วส่งตัวไปศาลเพื่อรอประกัน บุคคลนั้นๆ จะถูกส่งไปยังที่ควบคุมของกรมราชทัณฑ์ในทันที โดยผู้หญิงจะถูกตรวจค้น รวมทั้งตรวจภายใน เรื่องแบบนี้อาจทำให้ผู้หญิงเกิดความอับอาย ทั้งที่ความจริง หากผู้ต้องคดีถูกคุมตัวเพื่อรอประกันเพียง 2 ชั่วโมง ควรจะมีพื้นที่ที่ให้พักพิงฝากขังได้ ไม่จำเป็นต้องลงไปใต้ถุนของกรมราชทัณฑ์” นางอังคณากล่าว และว่า แต่เข้าใจดีว่า กฎ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์นั้นมีความเถรตรงในการทำงานมาก จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎ แต่ที่ผ่านมาถูกร้องเรียน เนื่องจากบริเวณนั้นไม่มีความมิดชิด ซึ่งตนได้พาไปร้องศาลอาญาและ กสม.ยังทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อหารือในทางออกของเรื่องนี้ด้วย
“ดิฉันได้หารือกับปลัดกระทรวงยุติธรรมไปแล้วมีความเห็นตรงกันว่า กรณีผู้ต้องคดีรอประกัน น่าจะดูแลให้เหมาะสม ไม่จำเป็นจะต้องตรวจภายใน โดยเฉพาะกับผู้หญิง ควรจะตรวจภายในกรณีที่เป็นเรื่องที่น่าสงสัยจริงๆ ว่า บุคคลคนนั้นอาจจะซุกซ่อนอะไรไว้ภายในจริง ๆ สิ่งสำคัญที่กังวลคือ กรณีของเพศหญิงที่อาจจะยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แต่จะต้องถูกตรวจภายใน ทั้งทวารหนักด้วย อาจทำให้ผู้หญิงเราเกิดความทุกข์ทรมานใจ” นางอังคณากล่าว
และยังเผยด้วยว่า จากการหารือกับปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า กรณีที่ผู้ต้องหาที่รอประกัน และดูว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือไม่มีผลเสียต่อเรือนจำ น่าจะยกเว้น และมีห้องรับรองฝากขังสำหรับกรณีรอประกัน ตาม “ข้อกำหนดกรุงเทพ”ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ดำริให้จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครอง และดูแลผู้ต้องขังหญิง และผู้กระทำผิดหญิง
“รวมทั้งจะนำกฎของแมนเดลา (Mandela Rule) มาเป็นบรรทัดฐาน มีกฎระเบียบพื้นฐาน อาทิ การรักษาความปลอดภัยของผู้ต้องขัง การค้นตัวจะต้องไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กรณีที่จะต้องค้นตัวในช่องคลอดหรือทวารหนักจะต้องกระทำได้ในกรณีที่เห็นควรว่าจำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ถ้าจำเป็นจะต้องตรวจภายในของเพศหญิง ห้องตรวจภายในจะต้องเป็นที่ลับ และเจ้าหน้าที่จะต้องเป็นเพศเดียวกับผู้ต้องหา การกระทำจะต้องเป็นไปอย่างเคารพให้เกียรติ ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอที่ กสม.นำเสนอต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และจะนำมาใช้จริง” นางอังคณากล่าว
พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “นักศึกษาหญิงที่เห็นว่าถูกละเมิดสิทธิจากการกระทำดังกล่าว สามารถมาร้องเรียนต่อ กสม.ได้ เรายินดี เพราะเท่าที่ดิฉันคุยกับผู้บัญชาการเรือนจำหญิง ท่านก็มีความเป็นกังวลเช่นกัน”
ประเด็นที่เกิดกับ “กรกนก คำตา” และผู้หญิงอีกหลายคน กระบวนการยุติธรรมไทยและ กสม.จะจับมือกัน สร้าง “ความเป็นธรรม” อย่างไร ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตาม
source :- http://www.matichon.co.th/news/120033
แสดงความคิดเห็น