อารมณ์ไม่ให้ ไม่ทันแชร์บทความนี้ตั้งแต่เช้า รำคาญบัณฑูร ล่ำซำ ผู้เข้าไปรับใช้ คสช.แล้วออกมาปราม "การเมืองฉุดเศรษฐกิจ" อยากให้ประชาชนยอมสยบรึไง คนรวยเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียวนี่หว่า (บทนำกรุงเทพธุรกิจเมื่อวานยังเอาไปขานรับ อ้างว่าความเชื่อมั่นกำลังฟื้น ถุย)

การเมืองฉุดเศรษฐกิจจริง การเมืองในยุค คสช.นี่ไง เพราะมันไม่ใช่การเมืองนิ่ง เป็นการเมืองบนปล่องภูเขาไฟ แล้วใครจะกล้าลงทุน ไม่ว่าไทยหรือฝรั่ง ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดอะไรขึ้น ทั้งจากปัญหาระดับบนระดับล่าง อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย คนมีเงินยังหนีไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน แม้อาจมีหลายปัจจัย เช่นค่าแรง วัตถุดิบ แต่เห็นกันชัดๆว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต

คนไทยไม่ใช่คนจีนหรือเกาหลีเหนือ เราพัฒนาเสรีภาพประชาธิปไตยมาไกล ฝืนกลับไปใช้ระบอบถอยหลังไม่ได้ ถ้าไม่กลับสู่ประชาธิปไตยก็ "วุ่นวาย" อยู่ย่างนี้ อย่ามาพูดเรื่องเศรษฐกิจ

คนพวกนี้ต้องจดบัญชีไว้ ไม่ว่านักธุรกิจหรือเทคโนแครตรับใช้เผด็จการ ต่อให้อ้างว่าเข้าไปทำความดี ทำเรื่องดี เป็นประโยชน์เป็นอนาคตประเทศ ก็ต้องร่วมรับผิดต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

00000

ใบตองแห้ง

บัณฑูร ล่ำซำ เตือนความขัดแย้งทางการเมืองจะบั่นทอนเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว เพราะมัวแต่ทะเลาะกันเรื่องกติกาจนไม่มีเวลาทำงาน อ้าว ตอนที่ท้าเดิมพันถ้าเศรษฐกิจโตไม่ถึง 3% ต้องเอาปี๊บคลุมหัว ไม่ได้คิดถึงปัจจัยทางการเมืองไว้หรือ

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญต้องมีความขัดแย้งอยู่แล้ว ถ้าไม่ขัดแย้ง เออออห่อหมกตามก้นกันหมด จะทำประชามติให้เปลืองงบทำไม แต่ทำแล้วจะวุ่นวายส่งผลกระทบแค่ไหน ก็อยู่ที่การจัดการให้ขัดแย้งอย่างสันติ ซึ่งก็คือต้องเปิดให้ “แข่งขันเสรี” โดยทุกฝ่ายต้องเคารพกติกา ผู้มีอำนาจต้องเป็นกลาง ไม่ใช่ประชามติปิดกั้น ชี้แจงข้างเดียว ห้ามรณรงค์รับไม่รับ อะไรนิดอะไรหน่อยจับ แทนที่จะใช้ประชามตินำประเทศกลับสู่ความสงบ ก็อาจกลายเป็นจุดชนวน

ใครที่ห่วงเศรษฐกิจถดถอย ก็ควรเรียกร้องผู้มีอำนาจว่า อย่าจุดชนวนขัดแย้งเกินเหตุ ทบทวนคำพูดตัวเอง ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว รับฟังเหตุผลคนอื่น อย่าคิดว่าต้องเอาให้ได้ตามเป้าเสียหมด เพราะสังคมประชาธิปไตยต้องอยู่ร่วมกัน

การเมืองฉุดเศรษฐกิจ พูดกี่ทีก็ถูกอีก แต่การเมืองฝ่ายไหน พูดอย่างไม่เข้าข้างใคร ฝ่ายไหนมีอำนาจก็ยกเป็นข้ออ้างไม่ให้อีกฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลทักษิณก็เคยพูดอย่างนี้นะครับ แต่ถ้าดูภาพรวม การเมืองฉุดเศรษฐกิจอย่างรุนแรงตั้งแต่เราออกนอกลู่ประชาธิปไตย ไม่ยอมรับกติกา ตั้งแต่รัฐประหาร 49 การเมืองเป็นเรื่องความนิยมของประชาชน แม้นักการเมืองแย่อย่างไรก็ต้องสู้กันที่ความนิยม ไม่ใช่ใช้อำนาจศาลอำนาจปืนจนสังคมไม่เหลือกติกา ต้องเอาคำสั่งรัฐประหารเป็นกติกา อย่างที่เป็นอยู่

อำนาจชั่วคราวอยู่นานไม่ได้หรอก แค่ 2 ปีก็น่าวิตกแล้วว่าจะเกิดวิกฤติ ต่อให้แก้ปัญหา IUU ได้ ก็แก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่“การเมืองนิ่ง” แต่เหมือนยืนบนปล่องภูเขาไฟ ที่ทุกคนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นวันไหน กระนั้นทุกคนก็รู้ ทั้งคนไทยคนต่างชาติว่านี่ไม่ใช่บรรยากาศที่น่าลงทุน

คนไทยไม่เหมือนคนจีน คนเกาหลีเหนือ เรามาไกลมากในเรื่องเสรีภาพการใช้ชีวิต เสรีภาพแสดงความคิดเห็น หลังยุคพลเอกเปรม ไม่เคยมีใครมีอำนาจได้โดยไม่ถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งทักษิณ 17 ล้านเสียงก็อยู่ได้แค่ 5 ปี ประเทศนี้ไม่มึใครผูกขาดอำนาจได้หรอกครับ เพียงแต่สังคมอยู่ในภาวะอับจนชั่วคราว ซึ่งถ้าไม่รีบหาทางออก การเมืองจะฉุดเศรษฐกิจยิ่งกว่านี้อีก

การพูดว่าการเมืองฉุดเศรษฐกิจ จึงไม่ควรพูดตัดตอน เพียงเพื่อบอกว่าอย่าทะเลาะกัน หยวนยอมตามผู้มีอำนาจเสียเถอะ เรื่องจะได้จบๆ จะได้แก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เพราะเอาเข้าจริงจะยิ่งวนในลูป ยิ่งฉุดประเทศให้ย่ำเท้า หาทางออกไม่เจอ ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถ “ปรองดอง” หาทางกลับสู่ประชาธิปไตยได้ ก็ต้องอกสั่นขวัญแขวนตลอดไปว่าวิกฤติรอบใหม่จะเกิดเมื่อไหร่

ถามจริง ใครคิดบ้างว่าโรดแมพส่วนขยาย 1+5 ปีจะสามารถ “เปลี่ยนผ่าน” ประเทศไทยอย่างราบรื่น ในเมื่อมีคนเห็นต่างอยู่มากมาย เพียงแต่ถูกสยบไว้ไม่ให้แสดงออก

ถ้าเห็นว่าการเมืองมีปัญหา ก็ต้องช่วยกันหาทางออก ไม่ใช่บอกว่าหยุดขัดแย้งเถอะ เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว พูดแบบนี้คนจะตั้งคำถามว่า นี่เห็นแก่ได้ หรือเห็นแก่ชาติบ้านเมือง

ใบตองแห้ง



source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/37226



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.