ไทยยังมีชื่ออยู่ในบัญชีจับตากรณีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เปิดเผยรายชื่อประเทศที่อยู่ในบัญชีจับตาเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นพิเศษ หรือ พีดับเบิลยูแอล เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) โดยในปีนี้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในรายชื่อดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่งในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจังจากรัฐบาลสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่การถูกคว่ำบาตรทางการค้าได้ หากสหรัฐฯนำเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก
ประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพีดับเบิลยูแอลล่าสุด มีทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อาร์เจนตินา จีน ชิลี อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย คูเวต รัสเซีย ยูเครน และเวเนซุเอลา โดยจีน อินเดีย และรัสเซียนั้น ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างร้ายแรงที่สุด และแทบไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเพียงพอ โดยปล่อยให้มีการละเมิดผลงานทางดนตรี ภาพยนตร์ และวัตถุมีลิขสิทธิ์อื่น ๆ ของชาวอเมริกันอย่างแพร่หลาย
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯจะดำเนินการทบทวนบัญชีรายชื่อพีดับเบิลยูแอลเป็นประจำทุกปี และประกาศผลดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ 42 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยแบ่งระดับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็น 2 ระดับ คือ บัญชีจับตา หรือดับเบิลยูแอล (Watch List : WL) และบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ซึ่งเป็นระดับที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารุนแรงมากขึ้น ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพีดับเบิลยูแอล จะต้องเข้าสู่การหารือทวิภาคีกับสหรัฐฯ เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ในปีนี้ เอกวาดอร์และปากีสถานได้รับการถอดถอนชื่อออกจากบัญชีจับตาดังกล่าว เนื่องจากเอกวาดอร์นำกฏหมายอาญา ซึ่งว่าด้วยความผิดฐานปลอมแปลงสินค้าในปริมาณมากกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง ส่วนปากีสถานนั้น มีการก่อตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.