ทบทวนแนวทางแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในรอบ 1 ปี แม้รัฐมาถูกทางแต่เหยื่อยังไม่ได้รับการคุ้มครอง
องค์กรด้านสิทธิหลายแห่งร่วมถกในเวทีสัมมนา "1 ปี วิกฤติผู้อพยพชาวโรฮิงญา : การอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน" พบไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาหลายด้าน แต่กระบวนการยุติธรรมยังไม่เปิดโอกาสให้เหยื่อค้ามนุษย์ได้เป็นโจทก์ร่วม แม้จะเป็นผู้เสียหายโดยตรง ยังมีการกักตัวผู้ลี้ภัยแบบไม่มีกำหนดเวลา ขณะที่นโยบายผลักดันเรือออกจากฝั่งทำให้ผู้ลี้ภัยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ซ้ำอีก
นายปภพ เสียมหาญ ทนายความและผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนากล่าวว่า จากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่เดินทางเข้ามายังไทย ส่วนใหญ่เป็นไปโดยสมัครใจ เพราะเชื่อว่าจะได้เดินทางต่อไปยังมาเลเซียซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องการ สำหรับการกระทำของผู้ลักลอบนำชาวโรฮิงญาเข้าประเทศนั้นถือว่าเข้าลักษณะความผิดข้อหาค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.การปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ปรากฏว่าการดำเนินคดีส่วนใหญ่กลับเป็นไปตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาหลักฐานมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ นอกจากนี้ในบางคดีจำเลยยังได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจำคุกเป็นระยะเวลาไม่นาน ขณะที่ผู้เสียหายยังถูกกักอยู่ที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน

นายปภพกล่าวอีกว่า กระบวนการยุติธรรมไทยไม่เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นโจทก์ร่วม เพราะรัฐไทยถือว่าคดีค้ามนุษย์เป็นความผิดต่อรัฐ ดังนั้นผู้อพยพที่เป็นเหยื่อจึงเป็นได้เพียงพยานในคดีเท่านั้น นายปภพเห็นว่ากระบวนการคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์ควรมีความรัดกุมมากขึ้นเพื่อให้พยานไม่ต้องถูกคุกคาม ข่มขู่ หรือทำร้าย ขณะเดียวกันควรจัดเตรียมล่ามที่มีมาตรฐาน มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องเพื่อกันล่ามที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เสียเอง
น.ส. พุทธณี กางกั้น จากกลุ่มฟอติฟายไรท์ ระบุว่าไทยมีความพยายามอย่างทลายขบวนการค้ามนุษย์ นำตัวคนผิดมาลงโทษ และชดเชยให้กับผู้เสียหายภายใต้เงื่อนไขว่าต้องชดเชยเมื่อคดีจบ ซึ่งก็อาจจะใช้ระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม กลุ่มฟอติฟายไรท์ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติแนวทางส่งกลับอย่างไม่เป็นทางการ หรือการผลักดันเรือออกจากชายฝั่ง เพราะไม่เป็นผลดีต่อผู้เสียหาย เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ลี้ภัยจะเข้าไปสู่มือของผู้ค้ามนุษย์อีกครั้ง
ข้อมูลจากเครือข่ายองค์กรเพื่อประชากรข้ามชาติชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มีชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากบริเวณพรมแดนประเทศเมียนมาและบังกลาเทศแล้วกว่า 170,000 คน ‪#‎โรฮิงญา‬‪#‎ค้ามนุษย์‬


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.