ประชากรโลก 83% ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางแสง
งานศึกษาชิ้นล่าสุดจากเยอรมนีบ่งชี้ว่า ประชากรโลกราว 83% อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางแสง อันเกิดจากแสงสว่างจากไฟถนน และแสงไฟตามบ้านเรือน ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการอาศัยอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างในตอนกลางคืนมากเกินไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์ของเยอรมนี ศึกษาเรื่องนี้โดยใช้ข้อมูลจากภาคพื้นดินและข้อมูลดาวเทียมมาทำแผนที่โลกซึ่งแสดงจุดที่มีมลพิษทางแสงไว้ ผลการศึกษาพบว่า ประชากรในสิงคโปร์ คูเวต และกาตาร์ อยู่ในดินแดนที่ท้องฟ้ายามค่ำคืนสว่างไสวจากแสงไฟฟ้ามากที่สุด ขณะที่ประเทศที่ปลอดจากมลพิษทางแสงมากที่สุดในโลก ได้แก่ ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และมาดากัสการ์
ดร.คริสโตเฟอร์ ไคบา หนึ่งในทีมนักวิจัย บอกว่า แสงเทียมในสิ่งแวดล้อมของเรามาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น แสงจากไฟถนน แสงไฟฟ้าตามร้านค้าและบ้านเรือน ตลอดจนแสงไฟจากรถยนต์ และแสงจากป้ายโฆษณาไฟฟ้า
การศึกษาครั้งนี้ยังพบด้วยว่า 99% ของประชากรในยุโรปและในสหรัฐฯอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างกว่าแสงธรรมชาติจากดวงดาวเกือบ 10% ขณะที่ประชากรอีกราว 14% อยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างมากเกินไป จนร่างกายไม่ยอมใช้กลไกการมองเห็นสำหรับตอนกลางคืน แต่เปลี่ยนไปใช้รูปแบบการมองเห็นที่มักใช้ในตอนกลางวันแทน ซึ่งชาวสิงคโปร์ทั้งประเทศเข้าข่ายนี้ ขณะที่สัดส่วนของประชากรในยุโรปที่มีปัญหานี้อยู่ที่ 20% สหราชอาณาจักร 26% และสหรัฐฯ 37%
ทีมวิจัยเตือนว่าปัญหามลพิษทางแสง ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน แต่ยังทำให้คนเราเกิดภาวะการนอนหลับผิดปกติ รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการดูดาวด้วย ทำให้ปัจจุบันประชากรในพื้นที่ 1 ใน 3 ของโลกไม่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงแนะนำให้ใช้แสงเทียมอย่างพอเหมาะ และควรใช้ระบบไฟที่สามารถหรี่แสงไฟลงเองได้เมื่อไม่มีผู้ใช้งาน
(ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ - แสงสว่างจากทางด่วนและอาคารต่าง ๆ ในเมืองกวางโจว ประเทศจีน)


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.