มรดกใคร?
นักวิชาการแนะไทย-กัมพูชาควรเปิดใจกว้างยอมรับว่า “โขน” เป็นวัฒนธรรมที่ต่างรับเอาของอินเดียมาประยุกต์ใช้
นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ นักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอให้มีการขึ้นทะเบียน “โขน” ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขณะเดียวกันมีการแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียของกัมพูชาในเชิงคัดค้าน ว่า ถือเป็นการแสดงความไม่มีวุฒิภาวะของทั้งสองชาติ เพราะทั้งไทยและกัมพูชาล้วนรับเอาอิทธิพลดังกล่าวมาจากอินเดียและนำมาประยุกต์ให้เป็นการแสดงของตัวเองทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรเปิดใจกว้างและยอมรับว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดสืบต่อกันได้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และตายได้เช่นกัน
นายอัครพงษ์ เสนอให้ทั้งไทยและกัมพูชาแยกกันจดทะเบียน “โขน” ตามแบบฉบับของแต่ละชาติ โดยไม่ต้องถกเถียงว่าชาติใดเป็นต้นตำรับ เพราะการถกเถียงกันแสดงให้เห็นถึงการ “ไม่บรรลุวุฒิภาวะ” ในการสร้างความรู้ความเข้าใจทางวัฒนธรรม และการกล่าวหาว่าชาติอื่นแย่งวัฒนธรรมชาติตนไปนั้นถือว่าไม่ได้รักชาติอย่างถูกวิธี
“ผมหมายถึงทั้งไทยและกัมพูชา เราต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องการสร้างชาติ คนที่ออกมาตื่นเต้นหรือกล่าวหาคนอื่นว่าแย่งวัฒนธรรมของชาติตนเองไป ไม่ใช่คนที่รักชาติอย่างถูกวิธี คือคนที่ใช้ความเป็นชาติเพื่อไปทำลายชาติอื่น ไม่ใช่คนไทยแท้ไม่ใช่คนกัมพูชาแท้ เป็นเรื่องของคนใจแคบ เห็นชาติตัวเองดีกว่าคนอื่น เป็นการยกตนข่มท่าน”
ทั้งนี้ นายอัครพงษ์เห็นว่าไทยยังควรจะจดทะเบียน “โขน” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อยู่ต่อไป ซึ่งถือเป็นของความรักชาติที่มาควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ การจดทะเบียนจะช่วยแสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมที่ดีของไทย และหาทางส่งเสริมคุณค่า นายอัครพงษ์เห็นว่าไทยควรวางเฉยต่อท่าทีของกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเอาวัฒนธรรมร่วมไปหลายอย่างไปจดทะเบียน อาทิ หนังใหญ่ และการแสดงโขนในแบบของกัมพูชาที่เรียกว่าละโคนพระกรุณา เป็นต้น เพราะการตอบโต้ไม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์
(เครดิตภาพ : คุณ Pou Pepee Supaporn)
แสดงความคิดเห็น