เผยธนาคารในเขตยูโรโซนมีปัญหาหนี้เสียท่วม อิตาลีหนักกว่าเพื่อน
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดีสำรวจภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) พบว่า การลงทุนยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารไม่ต้องการปล่อยกู้ เนื่องจากมีภาระหนี้เสียจำนวนมาก
โออีซีดีชี้ว่า ปัญหาของสถาบันการเงินในหลาย ๆ เรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหาใหญ่กำลังตามมา อย่างไรก็ตาม โออีซีดีระบุว่า แม้ยุโรปจะฟื้นตัวได้อย่างน่าทึ่งจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจในเขตยูโรโซนขยายตัวโดยไม่มีอุปสรรคในช่วงสามปีมานี้ แต่การขยายตัวนั้นไม่สดใสมากนัก และเป็นการขยายตัวที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากธนาคารกลางของยุโรปชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอย่างมาก
โออีซีดีระบุว่า การลงทุนในเขตยูโรโซนยังต่ำกว่าระดับของปี 2550 ซึ่งต่างไปจากสหรัฐฯ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของตลาดที่ต่ำ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจไม่ต้องการจะลงทุนมาก แต่นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้วก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของการเงิน ในบางประเทศภาคธุรกิจมีหนี้สินจำนวนมาก ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินมีปัญหาหนี้เสียในระดับสูง ทำให้ธนาคารไม่ต้องการปล่อยกู้รายใหม่
โดยประเทศที่มีปัญหาในเรื่องนี้หนักกว่าเพื่อนคือกรีซและอิตาลี แม้ว่าอีกหลายประเทศก็มีปัญหาเดียวกันนี้ด้วย ขณะที่ธนาคารในอิตาลีก็ดูจะมีปัญหายิ่งกว่าธนาคารในกรีซ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการณ์การเงินในช่วงที่ผ่านมา
ธนาคารอิตาลีมีหนี้เสียจำนวนมากเมื่อเทียบกับกองทุนสำรอง เห็นกันว่าธนาคารอิตาลีเป็นจุดอ่อนของยูโรโซน แม้ว่าเศรษฐกิจของอิตาลีจะเริ่มขยายตัวอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงิน รัฐบาลอิตาลีเองก็มีปัญหาภาระหนี้สินที่ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นรองก็แต่กรีซเท่านั้น ซึ่งทำให้ยากที่ทางการจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือธนาคารของตนได้หากจำเป็น
การมีสหภาพธนาคารของเขตยูโรโซนเป็นทางออกสำหรับปัญหานี้ โดยโออีซีดีอยากจะให้มีกองทุนที่จะเอาไว้รับมือกับปัญหา เพื่อปกป้องคุ้มครองบรรดาผู้ฝากเงินหากธนาคารล้ม แต่ในหลายประเทศแนวทางนี้ไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก โดยเฉพาะในเยอรมนี ที่มองกันว่าที่ผ่านมาต้องเข้าไปปลดหนี้ให้กับธนาคารของหลาย ๆ ประเทศ
สรุปแล้วรายงานของโออีซีดีบอกเราว่าแม้ว่าเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนจะพ้นเขตอันตราย แต่ก็ยังไม่เข้มแข็งเสียทีเดียว#Eurozone


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.