ภัยเงียบต่อฝูงปลา
ลูกปลาชอบกินพลาสติกเหมือนเด็กวัยรุ่นชอบทานอาหารจานด่วน
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุปซอลา ในสวีเดน เปิดเผยผลงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า ลูกปลาวัยอ่อนมีพฤติกรรมชอบกินพลาสติกขนาดจิ๋วที่รั่วไหลลงสู่ทะเลมากกว่าอาหารตามธรรมชาติ คล้ายกับพฤติกรรมที่เด็กวัยรุ่นชื่นชอบอาหารจานด่วนที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ผลการศึกษาชิ้นนี้ตีพิมพ์ในสารสาร Science โดยนักวิจัยทดลองใส่ลูกปลาวัยอ่อนของปลาเพิร์ชในบ่อน้ำที่มีพลาสติกพอลิสไตรีนปนเปื้อน และพบสิ่งที่น่าประหลาดใจที่ว่า พลาสติกดูเหมือนจะทำให้ลูกปลามีพฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ ลูกปลาเลือกที่จะกินพลาสติกมากกว่าแพลงก์ตอนสัตว์ เพราะหลงผิดคิดว่าพลาสติกเป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานสูงและจะต้องกินเข้าไปในปริมาณมาก
ดร.โอโอนา เลินสเต็ดท์ ห้วหน้าทีมวิจัย บอกว่า ลูกปลาที่เกิดในน้ำที่มี “ไมโครพลาสติก” ปริมาณมากจะมีขนาด “เล็ก เชื่องช้า และโง่” กว่าปลาที่อยู่ในน้ำสะอาด ส่งผลให้พวกมันอ่อนแอและเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่ามากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ไข่ปลาในน้ำสะอาดมีอัตราความสำเร็จในการฟักตัวราว 96% แต่จะลดลงเหลือเพียง 81% หากอยู่ในน้ำที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนในปริมาณมาก
ทีมนักวิจัยชี้ว่า ผลการค้นพบครั้งนี้น่าจะเชื่อมโยงกับปัญหาประชากรปลาเพิร์ชและปลาไพค์ ในทะเลบอลติกที่ลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลทำให้อัตราการตายของลูกปลาเพิ่มสูงขึ้น พร้อมชี้ว่า หากพลาสติกส่งผลต่อลูกปลาทุกสายพันธุ์ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การห้ามใช้ “ไมโครบีดส์” ในผลิตภัณฑ์สำหรับขัดผิวและผลิตภัณฑ์ความงามอื่นๆ เช่น ยาสีฟัน มาสคารา และลิปสติกบางชนิด เป็นต้น ‪#‎ไมโครบีดส์‬


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.