สองนักวิชาการเชียงใหม่เตรียมตัวขึ้นศาลทหาร หลังตำรวจเสนอสำนวนต่ออัยการศาลทหาร
ชี้จะเป็นคดีแรกในเชียงใหม่ คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. อีกด้านก็มีความพยายามในอันที่จะให้นักวิชาการที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ยอมลงชื่อในบันทึกความเข้าใจ แต่ทั้งสองต่างปฏิเสธ ยืนยันว่าไม่ได้ทำความผิดและไม่ต้องการยอมรับในเอ็มโอยูว่าได้กระทำผิดและถูกมัดมือไม่ให้แสดงออกเพิ่มเติม
เช้าวันนี้ 2 มิ.ย. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำสำนวนการสอบสวนส่งให้กับอัยการของศาลทหารในคดีที่เจ้าหน้าที่เสนอให้สั่งฟ้องนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สองคน คือ นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งอัยการได้นัดฟังการตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 6 ก.ค.
คดีดังกล่าวนี้หากเดินหน้าจะถือว่าเป็นคดีแรกในเชียงใหม่ที่มีการนำตัวนักวิชาการขึ้นศาลทหารในฐานะที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.
ทีมทนายความของนักวิชาการทั้งคู่ระบุว่า ในการเตรียมตัวสู้คดี ทนายความได้นำเสนอเอกสารหลักฐานไปไม่น้อย รวมทั้งเสนอชื่อพยานไปสี่ปากเป็นนักวิชาการทั้งสิ้น
นายอรรถจักร์และนายสมชายกล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาตลอดจนในการพบปะกันหนนี้ได้มีความพยายามที่จะไกล่เกลี่ย เนื่องจากคำสั่ง คสช.เองก็เปิดให้ทำได้ โดยไกล่เกลี่ยในรูปแบบจะให้ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู ซึ่งไม่ต้องการลงชื่อ เนื่องจากเอ็มโอยูมีเนื้อหาให้ยอมรับว่าสิ่งที่ได้ทำไปคือการออกแถลงการณ์เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อ 31 ต.ค.2558 เป็นความผิด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน แต่ทั้งสองคนต่างยืนยันว่า ไม่ว่าเนื้อหาของแถลงการณ์ในวันนั้น หรือการอ่านแถลงการณ์ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอันเป็นเรื่องปกติที่นักวิชาการพึงทำ และไม่มีท่วงทำนองยั่วยุอย่างใด จึงไม่เข้าข่ายความผิดแม้จะยึดตามเนื้อหาของคำสั่ง คสช.เอง
นายสมชายและนายอรรถจักร์ระบุว่า ในการเตรียมตัวต่อสู้คดีนี้ ตนยึดหลักว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นความผิด ไม่ว่าจะโดยบรรทัดฐานในยามปกติ หรือในอารยะประเทศ “หากว่าสิ่งที่เราทำโดยบริสุทธิ์ใจ ถ้ามันกลายเป็นความผิด เราสองคนก็จะยอมรับ แล้วสังคมก็จะตัดสินและตั้งคำถามกันเอง” นายอรรถจักร์กล่าว
ส่วนนายสมชายระบุว่า ขณะนี้มีประชาชนที่แสดงออก เคลื่อนไหว และถูกลงโทษทั้งที่ไม่สมควรถือเป็นความผิดเป็นจำนวนมาก ในฐานะที่ตนเป็นนักวิชาการถือว่ามีสถานะที่พิเศษมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว “สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าคนที่อยู่ในสถานะแบบนี้ยังโดน คนที่แย่กว่าเราน่าจะโดนมาก เราเองอาจจะกังวลบ้าง แต่ที่น่าจะกังวลมากกว่าคือเรื่องเสรีภาพ เพราะส่วนหนึ่งที่เราพยายามสู้คือ เราพยายามจะเปิดช่องให้การแสดงความเห็นมันเกิดขึ้นได้”
นายสมชายกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีเพื่อนนักวิชาการด้วยกันอีก 6 คนที่ร่วมอ่านแถลงการณ์ด้วย แต่พวกเขาได้ลงนามในเอ็มโอยูไปกับเจ้าหน้าที่ สำหรับการทำบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูกับเจ้าหน้าที่มักจะมีเงื่อนไขพ่วงเข้ามาด้วย เช่นห้ามการเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมือง ซึ่งคนส่วนหนึ่งลงนามในเอ็มโอยูแต่ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม ในขณะที่คนอีกส่วนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความอ่อนไหวต่อแรงกดดัน ไม่เหมือนคนที่อยู่ในพื้นที่ที่สื่อให้ความสนใจมากอย่างเช่นในกรุงเทพฯ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.