นายกฯ เผยหากศาล รธน. ชี้ว่าหากหมายประชามติขัดรธน. ก็ต้องเลื่อนประชามติ ขณะที่นักกฎหมายมหาชนชี้ว่าอาจไม่ต้องเลื่อน แต่ศาล รธน. ต้องวางหลักการตีความให้ชัด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเที่ยงนี้ว่า จากกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ต้องรอผลการวินิจฉัยและหากจะต้องเลื่อนการทำประชามติรัฐธรรมนูญออกไป ก็ต้องเลื่อน ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุลนักวิชาการกฎหมายมหาชนชี้ อาจไม่ต้องเลื่อนลงประชามติ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความและวางแนวทางการตีความถ้อยคำที่เป็นปัญหาให้ชัดเจน
มาตราที่เป็นปัญหาในการตีความและกำลังจะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้แก่ มาตรา 61 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ที่ดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”
โดยก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับพิจารณาคำร้องของนายจอน อึ๊งภากรณ์และผู้ร่วมลงชื่ออีก 106 คน แล้วเห็นควรให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตราดังกล่าว ซึ่งเห็นว่ามีถ้อยคำที่เป็นปัญหาได้แก่ คำว่า “รุนแรง" "ก้าวร้าว" "ปลุกระดม" ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอนให้ประชาชนสามารถทราบถึงขอบเขตของสิทธิเสรีภาพได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนช่วงเที่ยงที่ผ่านมาว่า หากจะต้องเลื่อนการลงประชามติเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญก็จำเป็นต้องเลื่อนออกไป แต่อย่ากล่าวหาว่าตนเป็นผู้สั่งเลื่อน ทั้งนี้ต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อใด หากมีคำวินิจฉัยออกมาก่อนวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งเป็นกำหนดวันลงประชามติ แล้วชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องหยุดกระบวนการลงประชามติก่อน แต่ขณะนี้จะยังไม่มีการสั่งเลื่อนการทำประชามติ
ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีแนวทางพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวได้เป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก พิจารณาว่าเฉพาะบทบัญญัติมาตรา 61 วรรค 2 เท่านั้นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขัดทั้งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ก็อาจจะแก้กฎหมายประชามติเสียใหม่ ซึ่งต้องยืดเวลาที่จะทำประชามติออกไป
หรือแนวทางที่ 2 อาจชี้ว่าบทบัญญัติมาตรา 61 วรรค 2 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญภายใต้การตีความตามแนวที่ศาลรัฐธรรมนูญบอก ก็จะส่งผลให้มาตรา 61 วรรค 2 มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่องค์กรผู้ใช้กฎหมายจะต้องเอากฎหมายไปใช้ตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ ซึ่งก็อาจจะช่วยวางกรอบให้ กกต. ใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยศาล รธน. อาจวางแนวการตีความคำว่า "ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่" ให้แก่ กกต.
นายปิยบุตรอธิบายว่าแนวทางที่ 2 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญหลายประเทศใช้กัน เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เพราะในบางกรณี หากปล่อยให้กฎหมายตกไป อาจสร้างความสับสนอลหม่านในสังคมมากกว่าเดิม ศาล รธน จึงเลือกใช้วิธีนี้แทน ‪#‎ประชามติ‬

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.