หากถามว่าประเทศไหนเป็น “ดินแดนอุดมคติ” ในสายตาคนไทย? เชื่อเหลือเกินว่าต้องมี “สิงคโปร์” ติดอยู่ด้วยเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสในโลกออนไลน์ ที่บ่นกันอยู่แทบทุกวันว่า “ขวานทอง” ของเรามีทรัพยากรเหลือเฟือ อะไรๆ ก็ดีทุกอย่าง แต่ดันโชคร้ายที่มี “ประชากรไร้คุณภาพ” อยู่เป็นส่วนใหญ่ เป็นต้น แล้วก็อยากให้นำ “โมเดล” แบบนั้นมาใช้กับไทยบ้าง ซึ่งด้านหนึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่า “ลีกวนยู” (Lee Kuan Yew) ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ได้ทำให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้กลายมาเป็นประเทศที่ผู้คนมีรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ด้วยนโยบายเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชาวสิงคโปร์ถือว่ามีความสามารถทางสติปัญญา (ไอคิว-IQ) สูงมาก ขณะที่มาตรฐานระบบการศึกษาก็สูงมากเช่นกัน เห็นได้จากการจัดอันดับศักยภาพในการแข่งขันโดย “เวิลด์ อีโคโนมิคส์ ฟอรั่ม” (WEF) ทุกๆ ปี สิงคโปร์จะติดอันดับต้นๆ ของโลกจากจำนวนร้อยกว่าประเทศเสมอ และทิ้งห่างเพื่อนร่วมอาเซียนอีก 9 ประเทศที่เหลืออย่างไม่เห็นฝุ่น แต่อีกด้านหนึ่ง การได้มาซึ่ง “ตัวเลขสวยๆ” เหล่านี้ ชาวแดนข้าวมันไก่ ก็ต้อง “แลก” กับอะไรหลายอย่างไปไม่น้อย
กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา “อาลัยลีกวนยู : ชำแหละมายาคติสิงคโปร์โมเดล” เมื่อเดือน เม.ย. 2558 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ถึงอีกมุมหนึ่งของสิงคโปร์ ที่คนไทยไม่ค่อยทราบนัก ว่าสังคมที่สวยหรูสวยงามของสิงคโปร์ อาจมิได้เกิดขึ้นมาจาก “ความรัก” หรือการคิดดีทำดีของชาวสิงคโปร์เอง แต่เกิดจาก “ความกลัว” การถูกลงโทษเสียมากกว่า
เช่น การที่บ้านเมืองดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นเพราะคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่กลัวถูกลงโทษ ถึงขนาดที่มีคำขวัญเชิงประชดประชันว่า “สิงคโปร์ : ดินแดนแห่งค่าปรับ” หรือมีเรื่องตลกร้ายที่เล่ากันในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ว่าคนสิงคโปร์จะทำอะไรเป็นระเบียบก็แต่ในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อออกไปยังประเทศอื่นๆ ก็จะไปละเมิดกฎระเบียบที่ประเทศเหล่านั้นทันที นัยว่าขอออกมา “ปลดปล่อย” เสียบ้างหลังต้อง “เก็บกด” จากที่บ้านมานาน
“ส่วนหนึ่งมันก็มาจากคนที่มีระเบียบวินัยจริงๆ แต่มองในอีกแง่นึง ก็คือคนส่วนใหญ่กลัวถูกลงโทษ เวลาเราไปเที่ยวสิงคโปร์ มันก็จะมีของที่ระลึกขาย ที่เขียนว่า Singapore is a Fine City ก็คือสิงคโปร์เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยค่าปรับยุบยิบหยุมหยิมเต็มไปหมดเลย ดังนั้นการสร้างระเบียบสังคม ส่วนนึงก็คือการใช้ความกลัวเข้ามาข่มขู่กำราบ
หรือมีเรื่องตลกของคนมาเลเซียที่ไม่ชอบคนสิงคโปร์ ก็เล่าให้ฟังว่าคนสิงคโปร์เวลาอยู่ในประเทศ เขาจะทิ้งขยะลงถังขยะ แต่พอข้ามไปฝั่งมาเลย์ปุ๊บ สิ่งแรกที่ทำคือทิ้งขยะลงพื้นเพื่อเป็นการปลดปล่อย ปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกกดทับด้วยกฎหมายมาตลอด อันนี้เป็นเรื่องที่เขาเล่าๆ กันนะคะ จริงเท็จแค่ไหนก็ไม่ทราบได้ แต่มันก็สะท้อนได้อย่างนึง คือคนสิงคโปร์ที่ดูมีระเบียบวินัย มันเกิดจากความกลัวในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกในใจที่อยากสร้างสังคมที่มีอารยะ” อาจารย์กรพนัช กล่าว
ประการต่อมา..สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีปัญหาด้าน “คุณภาพชีวิตของแรงงาน” เพราะในสมัยของลีกวนยู ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้แรงงาน “ต่อรอง” ใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ห้ามจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อไม่ให้มีการประท้วงเรียกร้องจนภาคธุรกิจเสียศักยภาพในการแข่งขัน หรือสวัสดิการทางสังคมที่พบว่าเอาจริงๆ แล้วก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร
“ถ้าใครไปสิงคโปร์บ่อยๆ คนแก่ที่นั่นที่ไม่มีสวัสดิการอะไร อายุ 60 70 80 แล้วก็ยังต้องทำงานอยู่ ถ้าเราไปกินอาหารตามร้านต่างๆ จะเห็นคนแก่เดินขายทิชชู่ หรือเป็นคนเก็บจานเก็บชาม เพราะว่ารัฐไม่มีสวัสดิการอะไรให้กับคนเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่าสิงคโปร์มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก
ในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่กับคนรวย ขณะที่คนจนก็ยังมีจำนวนไม่น้อย อันนี้เป็นข้อมูลจากวารสาร Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น รายงานว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน สูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีไทยเป็นอันดับ 2” อาจารย์กรพนัช ระบุ
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่เคยไปศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในสิงคโปร์หลายปี กล่าวว่า หากใครไปสิงคโปร์ ขอให้ลองออกจากย่านท่องเที่ยวหรือย่านช็อปปิ้งหรูหรา แล้วจะได้เห็น “ชีวิตจริง” ของคนทีนี่ ซึ่งเต็มไปด้วย “ความเครียด” มากมาย
“เพื่อนของดิฉันที่เป็นคนสิงคโปร์แบบ Lower Middle Class (ชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง) บอกว่าสิงคโปร์นั้นทุกอย่างคือมันนี่ (Money-เงินตรา) ถ้ายูมีมันนี่ ยูก็อยู่ได้ ถ้ายูไม่มีมันนี่ ยูก็ออกไป” อาจารย์มรกตวงศ์ กล่าว
หากสิทธิต่างๆ ของชาวสิงคโปร์เองว่าแย่แล้ว นักวิชาการรายนี้ กล่าวว่า สิทธิของแรงงานข้ามชาติกลับแย่ยิ่งกว่า เช่น มีการใช้ความรุนแรงกับแรงงานโดยนายจ้าง แต่ตัวนายจ้างผู้ก่อเหตุได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าลูกจ้างที่ถูกทำร้าย หรือเมื่อแรงงานป่วยก็ไม่มีสวัสดิการใดๆ ดูแลรักษา รวมถึงการจ้างงานแบบจ่ายค่าจ้างน้อยๆ ถ้าอยากได้เงินมากๆ ก็ต้องทำล่วงเวลา (โอที-OT) แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น ด้วยชีวิตที่เคร่งเครียดดังกล่าว ได้ทำให้ชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อย มีความคิดบางอย่างที่ค่อนข้าง “สุดโต่ง” จนน่ากลัว
“คนสิงคโปร์ถามว่า ฉันจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลเพื่อไปสร้างสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ แล้วทำไมเราต้องไปแบ่งให้คนที่เป็นแรงงานมาใช้ด้วย? ซึ่งเราก็อาจจะถามกลับเช่นกันว่า แล้วรถไฟฟ้าที่คุณนั่ง เอชดีบี (HDB-บ้านจัดสรรโดยรัฐบาลสิงคโปร์) ที่คุณอยู่ ออชาร์ด (Orchard-ย่านท่องเที่ยวชื่อดังของสิงคโปร์) ที่คุณไปเดินช็อปปิ้ง และอื่นๆ เนี่ย มันน้ำพักน้ำแรงใคร? ทำไมคุณถึงมองคนไม่เท่ากัน?”
นักวิชาการผู้เคยใช้ชีวิตในสิงคโปร์รายนี้ ตั้งข้อสังเกต และกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับสิงคโปร์แล้ว การเรียกร้องสิทธิ แม้จะเป็นสิ่งที่ควรมีควรได้ก็ตาม อาจถูกมองว่าเข้าข่าย “บุคคลอันตรายผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” และจะถูกทางการใช้ทุกวิถีทางเพื่อ “เล่นงาน” ไม่ให้มีที่ยืนในประเทศนี้กันเลยทีเดียว
“นักข่าวสิงคโปร์อยากไปอยู่โต๊ะข่าวต่างประเทศ ไม่ค่อยมีใครอยากอยู่โต๊ะการเมืองในประเทศ เพราะเขาไม่สามารถแสดงจิตวิญญาณของนักสื่อสารมวลชนได้ ตามมาตรฐานที่พึงมีของคนเป็นนักข่าว หรือการเรียกร้องสิทธิสวัสดิการทางสังคม เรารู้ว่าสิงคโปร์จ่ายเงินเดือนข้าราชการแพงมาก แพงจนไม่ต้องไปโกงใคร แต่สิ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงกัน คือคนที่มีฐานะไม่ค่อยดีในสิงคโปร์ เขาก็ไม่มีสวัสดิการสังคม
มีหนุ่มสาวสิงคโปร์ 2 คน ประท้วงเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนสิงคโปร์ ที่เขาหักเก็บจากเงินเดือนเพื่อที่จะให้มาใช้ในบั้นปลายชีวิต หรือใช้สวัสดิการที่คุณพึงจะได้รับกับรัฐ และจริงๆ กลุ่มคนที่ประท้วงก็ไม่ได้มีแค่นี้ แต่มีผู้สูงอายุด้วย ต้องการเรียกร้องรัฐบาลให้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้แฟร์กับคนชั้นล่าง แต่เขาก็โดนคุกคาม เขาทำงานที่โรงพยาบาลแล้วโดนขอให้ออก ข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง”
อาจารย์มรกตวงศ์ ทิ้งท้ายด้วยประเด็นนี้ พร้อมกับฝากให้ติดตามกันต่อไปว่า หลังการถึงแก่อสัญกรรมของลีกวนยู สังคมสิงคโปร์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? และมากน้อยแค่ไหน? เพราะ “ลีเซียนลุง” (Lee Hsien Loong) ผู้นำประเทศคนปัจจุบันนั้นมีนิสัยยืดหยุ่นกว่าลีกวนยูผู้เป็นบิดา ขณะที่คะแนนเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ที่สมัยของลีกวนยูถูกกดทับมาตลอด ก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้ เราเข้าใจได้ว่าหากพิจารณา ณ เวลานั้น ดินแดนที่ไม่มีอะไรเลยอย่างสิงคโปร์ ทางเดียวที่จะอยู่รอด คือต้องทำให้คน “แกร่งและเก่ง” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภายใต้ความเจริญล้ำหน้าเพื่อนบ้านในภูมิภาค ชาวสิงคโปร์นั้นมีราคาต้องจ่ายไปไม่น้อย เช่น เมื่อปี 2555 “แกลลัปโพล” (Gallup Poll) สำนักโพลเก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา สำรวจพบว่า ชาวสิงคโปร์เป็นผู้ที่ “เย็นชา-ไร้อารมณ์” มากที่สุดในโลก
หรือผลสำรวจ “ดัชนีความเอื้อเฟื้อ” (World Giving Index) 2013 (ปี 2556) พบว่าสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 64 ของโลกและอันดับ 6 อาเซียน ตามหลังเมียนมา (อันดับ 2 โลก-อันดับ 1 อาเซียน) , ฟิลิปปินส์ (อันดับ 16 โลก-อันดับ 2 อาเซียน) , อินโดนีเซีย (อันดับ 17 โลก-อันดับ 3 อาเซียน) , ไทย (อันดับ 38 โลก-อันดับ 4 อาเซียน) และ สปป.ลาว (อันดับ 41 โลก-อันดับ 5 อาเซียน) และหากไปดูตัวชี้วัดด้าน “การบริจาคเงิน” (Donating Money) สิงคโปร์จะอยู่อันดับ 17 โลกและอันดับ 4 อาเซียน ตามหลังทั้งเมียนมา ไทยและอินโดนีเซีย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศร่ำรวยกว่า
การอยากเห็นประเทศของเราเจริญอย่างบ้านเมืองอื่นๆ นั้นไม่ผิด..แต่ต้องไม่ลืมว่า “ไม่มีที่ใดสมบูรณ์แบบ”!!!
รับรู้ทั้ง “มุมมืด-ด้านสว่าง” แล้วเลือกเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทยมาปรับใช้ น่าจะดีกว่า!!!
แสดงความคิดเห็น