ภาพถ่ายหลังความตาย
การถ่ายภาพผู้เป็นที่รักซึ่งสิ้นลมหายใจไปแล้วไว้เป็นที่ระลึก โดยจัดอิริยาบถให้เหมือนกับคนเป็น สำหรับคนในยุคนี้คงถือว่าเป็นการเล่นแผลง ๆ และผิดปกติอย่างมาก แต่หากย้อนไปในยุควิคตอเรียของอังกฤษ การทำเช่นนี้กลับเป็นวิธีช่วยบรรเทาความทุกข์โศกของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นหนทางหนึ่งในการแสดงความระลึกถึงผู้ที่จากไป
การถ่ายภาพคนที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นมีหลายแบบ มีทั้งการถ่ายภาพเดี่ยว หรือถ่ายร่วมกับครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ หากผู้ตายเป็นทารกหรือเด็กเล็ก ก็อาจมีการนำศพมาจัดแต่งให้ดูราวกับว่ากำลังนอนหลับสนิท หรือจัดศพให้ยืนในแนวตั้ง ก่อนจะถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก บางภาพเป็นหญิงสาวที่เสียชีวิตเพราะวัณโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากในยุคนั้น ศพของเธอก็ถูกนำมาจัดวางในท่าเอนหลังเพื่อให้ช่างภาพเก็บภาพไว้เช่นกัน
ทั้งนี้ โรคระบาดอย่างคอตีบ ไทฟอยด์ และอหิวาตกโรค ล้วนเป็นสาเหตุการตายของคนจำนวนมากในยุควิคตอเรีย ขณะที่การสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไทฟอยด์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย เมื่อปี 1861 (พ.ศ.2404) ได้สร้างความโทมนัสอย่างแสนสาหัสต่อพระองค์ ทำให้ทรงไว้ทุกข์อย่างแทบจะเป็นการถาวร โดยทรงฉลองพระองค์สีดำตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ
นอกจากการถ่ายภาพผู้ตายแล้ว การระลึกถึงผู้วายชนม์ของคนทั่วไปที่นิยมทำกันในรูปแบบอื่น ๆ มีอาทิ การตัดปอยผมเก็บใส่ไว้ในจี้คล้องคอหรือแหวน การทำหน้ากากใบหน้าผู้เสียชีวิต การวาดภาพเหมือน และปั้นรูปเหมือนผู้ตาย
ในช่วงกลางทศวรรษ 1800 นั้น การถ่ายภาพเป็นที่นิยมและเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมีกำลังทรัพย์จะทำได้ ทว่าหลายคนไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพคนรักไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ และทารกจำนวนไม่น้อย ที่เสียชีวิตลงจากโรคอย่างหัด คอตีบ ไข้อีดำอีแดง และหัดเยอรมัน ภาพถ่ายใบแรกของครอบครัวจึงอาจเป็นภาพถ่ายขณะที่ลูกเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อเก็บไว้เตือนความทรงจำ
อย่างไรก็ดี เมื่อระบบบริการสาธารณสุขดีขึ้น เด็ก ๆ มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ความต้องการถ่ายภาพประเภทนี้ก็เริ่มลดน้อยถอยลง ครอบครัวหันมานิยมถ่ายภาพร่วมกันขณะที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ การถ่ายภาพร่วมกับคนที่ตายไปแล้วจึงต้องกลายเป็นอดีตไปโดยปริยาย ‪#‎MomentoMoriPhotography‬

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.