แพทย์คิดค้นวิธีตรวจเลือดใหม่ ช่วยเลือกยาต้านซึมเศร้าได้เหมาะกับคนไข้มากขึ้น
ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรพัฒนาวิธีการตรวจเลือด เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาต้านอาการซึมเศร้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับคนไข้แต่ละราย
ปัจจุบันแพทย์ต้องใช้วิธีการลองผิดลองถูกในการให้ยาต้านอาการซึมเศร้าแก่คนไข้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ราวครึ่งหนึ่งของยาชนิดแรกที่แพทย์ใช้รักษาคนไข้โรคซึมเศร้ามักใช้ไม่ได้ผล แต่ล่าสุดทีมนักวิจัยจากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้คิดค้นวิธีตรวจเลือดคนไข้เพื่อให้ทราบวิธีการรักษาที่แม่นยำและเหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด
โดยวิธีการนี้นักวิจัยจะตรวจเลือดเพื่อหาอาการอักเสบในคนไข้ โดยจะดูจากตัวชี้ระดับการอักเสบในเลือด 2 ชนิด คือ สาร Macrophage migration inhibitory factor (MIF) และสารอินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า (Interleukin-1beta) ซึ่งการศึกษาพบว่า คนไข้ที่มีตัวชี้ระดับการอักเสบเหล่านี้ในระดับสูง มักมีแนวโน้มไม่ตอบสนองต่อยาต้านอาการซึมเศร้าที่นิยมใช้กันทั่วไป เช่น ยากลุ่ม SSRI และยากลุ่มไตรไซคลิก ส่งผลให้ต้องได้รับการรักษาแบบเชิงรุกที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าในระยะเริ่มต้น
ปัจจุบัน นักวิจัยทดลองใช้การตรวจวิธีนี้กับอาสาสมัครที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากลุ่มเล็ก ๆ จำนวน 140 คน อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยตั้งเป้าจะทำการทดลองในกลุ่มใหญ่กว่านี้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำขึ้น
ศ.คาร์ไมน์ พาริอันเต หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย เพราะราว 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีตัวชี้ระดับการอักเสบในเลือด และควรได้รับการรักษาแบบเชิงรุก
http://www.bbc.co.uk/news/health-36459679


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.