"คสช. กำลังหนีการตรวจสอบ"

นายกรัฐมนตรีนอกจากจะเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์แล้ว ยังชอบยกตัวเองว่าเป็นผู้เสียสละเข้ามาเพื่อกอบกู้วิกฤตของบ้านเมืองที่ผู้อื่นก่อขึ้นไว้ เรียกร้องให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ตัวเองและพรรคพวกกลับทำในทางตรงกันข้าม เช่น สั่งให้ดำเนินคดีกับนายกยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวแต่กลับออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 นิรโทษกรรมตัวเองและพรรคพวกไว้ลวงหน้า หรือกรณีออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 โดยอ้างว่าเพื่อใช้จัดการกับผู้มีอิทธิพลแต่ไม่นำมาใช้กับตัวเองและพรรคพวก เช่น กรณีการทุจริตในโครงการขุดลอกคูคลองของ อผศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทัพเอง โดย คสช. เป็นผู้เห็นชอบให้ อผศ. ได้รับงานจากรัฐโดยไม่ต้องประกวดราคา ทั้ง อผศ. และ คสช. จึงเป็นตัวการร่วมกันในความผิดฐานหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา ซึ่งความผิดดังกล่าวอยู่ในบัญชีแนบท้ายท้ายคำสั่งของตัวเอง

หากใครได้อ่านค่านิยม 12 ประการที่นายกรัฐมนตรีนำมาสั่งสอนให้คนปฏิบัติตาม จะไม่พบข้อหนึ่งข้อใดที่พูดถึงความรับผิดชอบ (accountability) ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดของหลักนิติธรรมที่ใช้ในการปกครองประเทศ ล่าสุดจึงเห็นนายกรัฐมนตรีออกมาเรียกร้องให้คนที่อยู่ต่างประเทศกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ตัวเองและพรรคพวกกลับอาศัยมาตรา 279 ของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกเสียงประชามติซึ่งบัญญัติให้บรรดาประกาศ คำสั่งหรือการกระทำของ คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายหลบหนีการตรวจสอบ อันเป็นพฤติกรรมของคนที่พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ที่สำคัญคือเป็นคนที่วางยุทธศาสตร์ชาติให้คนไทยต้องเดินตามอีก 20 ปี เห็นแบบนี้แล้วใครจะรับร่างรัฐธรรมนูญก็ตามสะดวก สำหรับผมเป็นตายอย่างไรก็ "ไม่รับ" ครับ

วัฒนา เมืองสุข
พรรคเพื่อไทย
9 มิถุนายน 2559

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.