รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ สนับสนุน “เหยื่อข่มขืนแสตนฟอร์ด” อีกด้านยอดคนร่วมลงชื่อถอดถอนผู้พิพากษาฐาน “ลงโทษน้อยไป” ได้เกินล้านชื่อแล้ว
คดีข่มขืนในมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดยังคงอยู่ในความสนใจของสาธารณะ ล่าสุดนายโจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งจดหมายเปิดผนึกแสดงพลังสนับสนุนหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย) คดีนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก หลังจากที่มีการเผยแพร่ถ้อยแถลงของเหยื่อที่กล่าวในศาลแต่เป็นการพูดกับผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง โดยคำแถลงของเธอที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ BuzzFeed มีผู้อ่านจำนวนหลายล้านคน และส่งผลให้มีบุคคลสำคัญหลายคนออกมาสนับสนุนเธอ
ในจดหมายที่ตั้งชื่อว่า “จดหมายเปิดผนึกถึงหญิงสาวผู้กล้าหาญ” นายไบเดนกล่าวชมเชยความกล้าหาญของเหยื่อที่ตัดสินใจเผยแพร่คำแถลงที่เธอกล่าวต่อศาลถึงความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเธอ นอกจากนั้น นายไบเดนตำหนิว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีหญิงสาวถึงหนึ่งในห้าที่ถูกทำร้ายทางเพศปีแล้วปีเล่า เขากล่าวกับเหยื่ออีกด้วยว่า “มีคนจำนวนหลายล้านที่สะเทือนใจกับเรื่องราวของคุณ พวกเขาจะไม่มีวันลืมคุณอย่างเด็ดขาด”
คดีข่มขืนที่ว่านี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนม.ค. ปีที่แล้ว โดยมีนายบร็อค เทิร์นเนอร์ นักศึกษาวัย 20 ปีซึ่งเป็นนักว่ายน้ำของมหาวิทยาลัยถูกกล่าวหาว่าละเมิดทางเพศหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังหมดสติ แต่บังเอิญมีนักศึกษาชาย 2 คนผ่านมาพบเข้าจึงตะโกนให้เขาหยุดพร้อมทั้งวิ่งไล่จับตัวเขาเอาไว้ได้ คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมาให้จำคุก 6 เดือนจากความผิด 3 ข้อหาโดยหนึ่งในข้อหาคือพยายามล่วงละเมิดทางเพศขณะเหยื่อหมดสติ
หลังจากที่ศาลตัดสิน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าโทษน้อยเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับโทษสูงสุดจำคุก 14 ปี ยิ่งมีการเปิดเผยจดหมายจากพ่อของจำเลยที่ขอความปราณีต่อศาล เสียงวิจารณ์ก็ยิ่งหนาหูขึ้น ทั้งนี้ ในข้อความตอนหนึ่งของจดหมายที่กล่าวแถลงต่อศาล นายเทิร์นเนอร์ผู้บิดาชี้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุตรชายว่าจะมีอย่างมากจาก “การกระทำเพียงแค่ 20 นาทีของชีวิตทั้งชีวิตกว่า 20 ปี” และชี้ว่าการที่บุตรชายต้องถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีประวัติก่อความผิดทางเพศไปตลอดชีวิต มีผลกระทบต่อเขาไปตลอดชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน
ทั้งคำพิพากษาและจดหมายของบิดานายเทิร์นเนอร์ สร้างความไม่พอใจต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียจนกลายเป็นการระดมรายชื่อเรียกร้องให้ถอดถอนผู้พิพากษาแอรอน เพอร์สกีย์ ออกจากตำแหน่ง โดยมีการล่ารายชื่อหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รายชื่อมากกว่าล้านชื่อแล้ว ส่วนอีกสองกลุ่มได้รายชื่อ 115,000 และ อีกราย 175,000 ตามลำดับ ผู้ล่ารายชื่อเองมองว่า การลงชื่อร่วมกันเรียกร้องให้ปลดผู้พิพากษานี้อาจจะไม่มีผลโดยตรง แต่จะเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดมากกว่า เสียงตำหนิผู้พิพากษาประเด็นหลักคือบอกว่า การตัดสินของเขาไม่ส่งสัญญาณว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าคนทำจะมีสถานะทางสังคม ชาติพันธุ์ เพศหรือเงื่อนไขอื่นใด
นอกจากนี้ ก็มีพลังสนับสนุนจากวงการการแสดง รวมถึงนักแสดงของรายการดังทางโทรทัศน์ “Girls” ที่ออกวิดีโอสนับสนุนเหยื่อและผู้หญิงทั่วไปที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายทางเพศ ทั้งนี้ นายไบเดน เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนล่าสุดที่กล่าวแสดงตัวสนับสนุนเหยื่อข่มขืนรายนี้ด้วย
ภาพประกอบ: ภาพแรก นายโจ ไบเดน รองปธน.สหรัฐฯ
ภาพที่สอง นายบร็อค เทิร์นเนอร์



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.