สหรัฐฯพัฒนาวิธีเพาะเลี้ยงอวัยวะมนุษย์ในตัวอ่อนหมู
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองเดวิสของสหรัฐฯ กำลังพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงอวัยวะของมนุษย์ในตัวอ่อนหมู เพื่อนำไปใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในอนาคต โดยวิธีการเพาะเลี้ยงนี้ จะใช้การตัดต่อยีนบางส่วนออกจากเซลล์ตัวอ่อนหมู และนำเซลล์ต้นแบบของมนุษย์เข้าไปไว้แทน เพื่อให้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นอวัยวะของมนุษย์ที่อยู่ในตัวอ่อนหมูอย่างสมบูรณ์
คาดว่าวิธีการดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ และแก้ปัญหาภูมิคุ้มกันของคนไข้ปฏิเสธอวัยวะที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไปอย่างสิ้นเชิง โดยในขั้นต้นนี้กำลังพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงตับอ่อนของมนุษย์ในตัวอ่อนหมู โดยใช้เทคนิคการตัดต่อยีน ตัดเอายีนที่จะสร้างตับอ่อนของเซลล์ตัวอ่อนหมูออกไป แล้วนำเซลล์ต้นแบบไอพีเอส ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้จากร่างกายของคนไข้นำมาย้อนวัยให้กลับเป็นเซลล์ต้นแบบอีกครั้ง ฉีดเข้าไปในตัวอ่อนหมูแทน ซึ่งจะทำให้ตัวอ่อนหมูเติบโตขึ้นโดยมีตับอ่อนของมนุษย์อยู่แทนที่ตับอ่อนหมูตามปกติ
ศาสตราจารย์วอลเทอร์ โลว์ จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตาของสหรัฐฯระบุว่า หมูนั้นเป็นเครื่องมือเพาะเลี้ยงอวัยวะของมนุษย์ที่มีความเหมาะสมตามธรรมชาติ และเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาเทคนิคนี้เพื่อใช้เพาะเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต และปอด โดยอวัยวะที่เพาะได้จะมีพันธุกรรมเหมือนกับของคนไข้ทุกประการ แต่มีความเยาว์วัยและแข็งแรงกว่า ทำให้คนไข้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะไม่ต้องรับยากดภูมิคุ้มกันอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังมีปัญหาในด้านจริยธรรม โดยมีผู้ตั้งคำถามว่า เซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์ที่ใส่เข้าไปอาจแพร่กระจายไปยังสมองของหมู ทำให้หมูมีสมองที่คล้ายมนุษย์มากขึ้นได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีผู้ตั้งคำถามว่า เทคนิคนี้จะทำให้เกิดธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงอวัยวะจากหมู ซึ่งเป็นการทรมานสัตว์เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การทดลองในขั้นนี้ยังไม่มีการปล่อยให้ตัวอ่อนหมูที่ดัดแปลงแล้วเติบโตจนสมบูรณ์ โดยเมื่อตัวอ่อนมีอายุได้ราว 28 วัน ก็จะทำลายทิ้งเพื่อนำเนื้อเยื่อมาวิเคราะห์ ‪#‎GeneEditing‬ ‪#‎StemCells‬ ‪#‎GrowHumanOrgansInsidePigs‬


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.