ประมวลโลกปี 2016: สิทธิ 'ความหลากหลายทางเพศ' มีทั้งสิ่งที่ดีและถดถอย
Posted: 23 Dec 2016 06:42 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

แม้ว่าเมื่อปี 2015 ในสหรัฐอเมริกาจะมีความก้าวหน้าครั้งใหญ่ จากคำตัดสินคดีที่ส่งผลให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่ในปี 2016 ที่กำลังจะผ่านไป สถานการณ์เรื่อง LGBTQ+ ทั่วโลกก็มีทั้งในส่วนที่ดีขึ้นและในส่วนที่แย่ลง ทั้งการมีรัฐบาลที่ดูเอียงขวา รวมถึงการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็ทำให้ผู้คนกังวลว่าประเด็นเหล่านี้จะถดถอยลงกว่าเดิม
คำอธิบายภาพประกอบ (1) นิตยสาร Roopbaan ของบังกลาเทศซึ่งบรรณาธิการนิตยสารถูกสังหาร (ที่มา: เฟซบุ๊กเพจ রূপবান - Roopbaan) (2) โฆษณาของ Taiwan McCafé (3) ไอคอนของห้องน้ำ All Gender Restroom (ที่มา: queerty.com) (ภาพประกอบด้านหลัง) (4) ภาพจาก Ryuzhi33 ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบแฟชั่นแนว Genderless Kei (ที่มา: Instagram/Ryuzi33world929/) (5) พิธีรำลึกถึงเหตุสังหารที่ไนท์คลับเมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา จัดที่ มินนีแอโพลิส มลรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาเมื่อ 12 มิถุนายน 2016 (ที่มาของภาพประกอบ: Fibonacci Blue/Wikipedia (CC BY 2.0)

ห้องน้ำของคนข้ามเพศ และกฎหมาย HB2 ในสหรัฐอเมริกา

ที่มาของภาพประกอบ: queerty.com
เรื่องที่ถกเถียงกันตั้งแต่ต้นปีคือเรื่องของการมีห้องน้ำสำหรับคนข้ามเพศ (transgender) ในสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงผู้ที่นิยามอัตลักษณ์ตนเองเป็นเพศอื่นนอกเหนือจากเพศกำเนิด พวกมีปัญหาจากการที่ห้องน้ำในชีวิตประจำวันแบ่งแยกเพศออกแค่สองเพศ พวกเขาต้องการห้องน้ำรวมแยกออกมาสำหรับคนข้ามเพศด้วย ซึ่งขณะที่ทางการของนิวยอร์กซิตี้ประกาศให้การคุ้มครองจุดนี้ โดยกำหนดให้มีห้องน้ำที่เป็นกลางทางเพศสภาพหรือเพศสภาวะ (gender neutral) อยู่ด้วย
แต่รัฐเวอร์จิเนียกลับถอยหลังเข้าคลองในเรื่องนี้ด้วยการกำหนดให้ต้องแบ่งแยกเพศชัดเจนกับห้องน้ำทุกห้อง ทำให้เกิดเป็นข้อถกเถียงในกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน การถกเถียงในเรื่องยังเกิดขึ้นในรัฐอื่นๆ อย่างรัฐนอร์ทแคโรไลนาในช่วงกลางปีที่ผ่านมามีการฟ้องร้องรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เนื่องจากรัฐบาลกลางต่อต้านการออกกฎหมาย House Bill 2 (HB2) เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายนี้กีดกันการใช้ห้องน้ำของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ฟ้องกลับเพราะกฎหมาย HB2 ขัดต่อหลักการกฎหมายของส่วนกลาง

 

พานาโซนิคจัดสวัสดิการให้พนักงาน LGBT

สำนักงานใหญ่ของพานาโซนิคในคาโดมา-ชิ, โอซาก้า, ประเทศญี่ปุ่น (ที่มาภาพ: en.wikipedia.org)
เรื่องที่ดูก้าวหน้าขึ้นมาบ้างเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 บริษัท พานาโซนิค (Panasonic) จะจัดสวัสดิการแก่กลุ่มพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในที่ทำงาน ให้เท่าเทียมกับพนักงานทั่วไปในบริษัท อีกเรื่องหนึ่งเป็นการที่บริษัทไนกีแถลงว่าจะถอดสัญญาโฆษณากับ แมนนี ปาเกียว หลังจากที่เขาโพสต์เหยียดคนรักเพศเดียวกันว่า "แย่ยิ่งกว่าสัตว์" ซึ่งต่อมาปาเกียวก็ขอโทษผ่านทางทวิตเตอร์

ปิดโรงเรียนเพื่อคนข้ามเพศในอินโดนีเซีย - สังหารบรรณาธิการนิตยสาร LGBT ที่บังกลาเทศ

นิตยสาร Roopbaan  (ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ রূপবান - Roopbaan)
แต่ก็มีเหตุการณ์น่าเศร้าในอินโดนีเซียเมื่อโรงเรียนศาสนาอิสลามเพื่อ 'คนข้ามเพศ' ชื่ออัลฟาตาห์ถูกสั่งปิดโดยอ้างเรื่อง "ความสงบเรียบร้อย" และมีเรื่องเลวร้ายกว่านั้นเกิดขึ้นในบังกลาเทศเมื่อ ซูฮัซ มานัน ถูกลอบสังหาร โดยเขาเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิเพื่อคนรักเพศเดียวกัน และเป็นบรรณาธิการนิตยสารด้านความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เล่มแรกและเล่มเดียวที่มีอยู่ในบังกลาเทศ

เหตุสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด สหรัฐอเมริกา

บริเวณใกล้ที่เกิดเหตุสังหารหมู่ออร์แลนโด สหรัฐอเมริกา เมื่อ 12 มิ.ย. 2016 (ที่มา: everipedia.com)
เหตุการณ์ที่น่าเศร้าและสะเทือนขวัญผู้คนอย่างมากคงหนีไม่พ้นเหตุกราดยิงไนท์คลับ LGBT ในเมืองออร์แลนโด มลรัฐฟอริดา ที่มี ดายยี อับดุลลาห์ อิหม่ามเกย์ในสหรัฐฯ ออกมาประณามและย้ำว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศและชุมชนศาสนาต่างๆ ควรร่วมมือกันต่อสู้กับความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล เขาเชื่อว่าคัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ห้ามเรื่องเพศสภาพที่แตกต่าง เว้นแต่มีคนเอาไปตีความเพื่อหาข้ออ้างทางการเมือง
สถานีวิทยุ NPR ของสหรัฐฯ ยังนำเสนอเรื่องความกังวลของกลุ่ม LGBTQ+ ช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ ชาวเกย์ผู้หนึ่งช่อแมตต์ เฮอร์สชี กล่าวว่าถึงแม้ในปีที่แล้วคนรักเพศเดียวกันจะได้รับชัยชนะจากเรื่องสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันแต่พวกเขาก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ยังมีการกีดกันจากอำนาจกระแสหลักและยังถูกกีดกันไม่ให้พักในที่อยู่อาศัยบางหลังเพียงเพราะพวกเขาเป็นชาว LGBTQ+

แฮ็ชแท็ก  #HandeKadereSesVer หลังเหตุสังหารหญิงข้ามเพศในตุรกี 

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสะเทือนใจคือการที่หญิงข้ามเพศผู้เป็นปากเสียงให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศในตุรกี ฮานเด คาเดอร์ ถกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ทำให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศพากันไว้ทุกข์ให้เธอ และมีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นพร้อมกับการรณรงค์ด้วยแฮ็ชแท็ก  #HandeKadereSesVer ที่แปลว่า "เป็นปากเป็นเสียงให้ฮานเด คาเดอร์"

การรณรงค์เพื่อกฎหมายคุ้มครองการแต่งงานคนรักเพศเดียวกันที่ไต้หวัน


ในประเทศไต้หวันปีนี้นอกจากจะได้ประธานาธิบดีหญิงคนใหม่แล้ว ยังดูมีความก้าวหน้าในประเด็นเรื่อง LGBTQ จากที่แมคคาเฟ่ ไต้หวัน ออกโฆษณาสุดซึ้งที่มีลูกชายเปิดเผยกับพ่อของเขาว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน (รับชมคลิป) และเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. รัฐบาลไต้หวันก็พิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่จะคุ้มครองการแต่งงานคนรักเพศเดียวกันเท่าเทียมกับคนรักต่างเพศ โดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไต้หวันยังจัดงานคอนเสิร์ตรณรงค์ในเรื่องนี้โดยมีคนมาร่วมนับแสนคน

แฟชั่น Genderless Kei ไม่ยึดติดเพศสภาพ

ในมุมของแฟชั่นมีสื่อตะวันตกรายงานเรื่องแฟชั่นกระแสเทรนด์การแต่งกายและการแสดงออกแบบไม่ยึดติดเพศสภาพหรือที่เรียกว่า "Genderless Kei" เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในแง่ของการก้าวข้ามเส้นเขตแดนของเพศสภาพและเพศวิถีในประเทศญี่ปุ่นที่มีการพูดคุมันในประเด็นนี้น้อยมาก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความลื่นไหลของเพศสภาวะ (genderfluid) และสะท้อนให้เห็นถึงการที่คนรุ่นปัจจุบันต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองออกจากแบบแผนของคนรุ่นก่อน

นักการทูตเลสเบียนชาวอังกฤษในประเทศซึ่งไม่เป็นมิตรกับคนรักเพศเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีสื่อ Buzzfeed ที่สัมภาษณ์ จูดิธ กอฟ  นักการทูตหญิงรักหญิงชาวอังกฤษกับประสบการณ์ของเธอที่ต้องไปประจำอยู่ในประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับคนรักเพศเดียวกันทั้งเกาหลีใต้ จอร์เจีย และล่าสุดคือยูเครน

การฟื้นฟูเกียรติยศแด่ 'อลัน ทูริง' นักคณิตศาสตร์ซึ่งเคยถูกตัดสินว่าผิดเพราะเป็นเกย์

กลับมาดูเรื่องในมุมประวัติศาสตร์ที่ในอดีตกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมักจะถูกจำกัดและลงโทษด้วยกฎหมายมาก่อน เช่น กรณีของ อลัน ทูริง นักคณิตศาสตร์และนักถอดรหัสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้เคยถูกตัดสินให้มีความผิดจากการเป็นคนรักเพศเดียว ในที่สุดหอจดหมายเหตุท้องถิ่นในอังกฤษก็เปิดให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยการเปิดเผยเอกสารการพิพากษาลงโทษ อลัน ทูริง ออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก เรื่องราวของทูริงเคยปรากฏบนจอภาพยนตร์ในชื่อ "ถอดรหัสลับ อัจฉริยะพลิกโลก" (The Imitation Game) ที่ออกฉายเมื่อปี 2557

โรงเรียนในเยอรมนีส่งเสริมการยอมรับเรื่องเพศมากขึ้น: แล้วย้อนกลับมามองเมืองไทย

นอกจากการเรียนประวัติศาสตร์ในอดีตแล้วเรื่องการศึกษาเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันก็เป็นเรื่องสำคัญ หนึ่งในตัวอย่างของการศึกษาเรื่องเพศที่เกิดขึ้นในปีนี้คือเยอรมนี ในรัฐเฮสเซนมีการส่งเสริมให้มีการยอมรับอัตลักษณ์ตัวตนและวิถีทางเพศที่หลากหลายขึ้น แม้ว่าจะมีกลุ่มผู้ปกครองบางส่วนประท้วงเพราะเข้าใจผิดว่าจะเป็นการส่งเสริมเรื่องเพศกับเด็กๆ
แต่ในไทยเองการสอนเรื่องสุขศึกษา-เพศศึกษา ยังถกมองว่ามัวแต่ "แอบอิงกับศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีที่ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก" จากการประมวลผลการเสวนา 'ความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนไทย: บทวิเคราะห์แบบเรียนสุขศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น' โดยวิจิตร ว่องวารีทิพย์ ผู้วิจัยเรื่องนี้บรรยายว่าแบบเรียนสุขศึกษาไทยยังคงมีวิธีคิดแบบเพศแค่สองเพศชายกับหญิงโดยใช้องค์ความรู้แบบเก่าและตีตราผู้มีความหลากหลายทางเพศในเชิงลบ ซึ่งก็สะท้อนที่ทางจุดยืนเรื่องความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.