สนช.ไฟเขียวรายงานแก้ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ ห้ามกอล์ฟ รับของขวัญ นั่งที่ปรึกษาบริษัท

Posted: 23 Dec 2016 06:24 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

23 ธ.ค.2559 จากกรณีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม” ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม

สำนักข่าวไทย พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ เชิดบุญเมือง ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานว่า ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของไทยสั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะในแวดวงราชการไทย ซึ่งระบบราชการถือเป็นเสาหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีกระบวนการให้ความเป็นธรรม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประสบปัญหาจากผู้บังคับบัญชา ระบบอุปถัมภ์และไม่มีคดีตัวอย่าง จึงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ต้องมีแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทย ผ่านกระบวนการปลูกฝังค่านิยม ปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูประบบราชการ สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การแก้ไขระบบอุปถัมภ์และการทุจริตคอร์รัปชั่น ประกาศใช้กฎหมายโดยเร็ว มีกลไกลติดตามตรวจสอบการออกกฎหมาย ปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งนักบริหารระดับสูง

“ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบราชการและวัฒนธรรมการทำงานของราชการยังคงถูกแทรกซึมด้วยระบบอุปถัมภ์ ในแวดวงข้าราชการไทย ยึดโยงกับความเชื่อเรื่องผู้ใหญ่ มีการฝากเนื้อฝากตัว ทดแทนบุญคุณ มีภาษิตมากมาย เช่น ข้าเก่าเต่าเลี้ยงทำให้ระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก มีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวพัน ข้าราชการผู้น้อยวิ่งเข้าหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็จะวิ่งหานักการเมือง ที่มีอำนาจแต่งตั้ง โยกย้าย นักธุรกิจก็วิ่งเต้นเสนอผลประโยชน์ตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม ความเสมอภาค ความรู้ความสามารถ ทำให้ข้าราชการขาดขวัญกำลังใจ คนเก่งคนดี ไม่สามารถอยู่ในระบบได้ กลายเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งระบบอุปถัมภ์ได้สร้างความเสียหายอย่างมาก” พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ กล่าว

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 4 ด้าน คือการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ป้องกันการใช้ระบบอุปถัมภ์ ส่งเสริมระบบคุณธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติ การดำเนินการด้านการบริหาร ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง ยกระดับการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดข้อห้ามต่าง ๆ เหมือนบางประเทศเช่น การห้ามรับของขวัญ รับเลี้ยง รับสินบน หรือเล่นกอล์ฟ กับผู้มีส่วนได้ประโยชน์ หรือการห้ามข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว เข้าไปรับทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคธุรกิจเอกชน ที่ข้าราชการผู้นั้นเคยมีอำนาจอยู่ในหน่วยราชการนั้น ๆ ในระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หลังจากเกษียณอายุราชการ และเห็นควรลดขั้นตอนระยะเวลาในกระบวนการด้านตุลาการและกระบวนการให้ความเป็นธรรม มีบทลงโทษที่เด็ดขาด และฝึกอบรมภาคราชการและเอกชน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้จัดตั้งองค์กรกลางการบริหารงานบุคคล เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมและกำกับดูแลให้การบริหารงานบุคคลภาครัฐ เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน มีความเป็นกลาง เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหารหรืออยู่ใต้การบังคับ บัญชาของฝ่ายบริหารโดยตรง

สมาชิก สนช. หลายคนอภิปราย โดย กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ประเทศไทยเสพติดระบบอุปถัมภ์มายาวนาน และที่พบเห็นมากคือในกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการฝากเด็กเข้าโรงเรียน ส่วนตัวเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากระบบอุปถัมภ์

กล้านรงค์ จันทิก สนช. กล่าวว่า ระบบอุปถัมภ์มาจากสภาพสังคมไทย ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้มีอำนาจและกลุ่มผู้ไม่มีอำนาจ กลุ่มผู้มีอำนาจวิ่งไปหาผู้มีอำนาจนักการเมืองเพื่อความอยู่รอด และเรามี 3 กฎ คือกฎหมาย กฎสังคมและกฎแห่งกรรม ซึ่งขณะนี้กฎหมายไทยสามารถปราบปรามคอร์รัปชั่นได้ และถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันคอร์รัปชั่น แต่การบังคับใช้กฎหมายยังประสบปัญหาหลายด้าน ขณะที่รายงานฉบับนี้ต้องเน้นเรื่องกฎสังคมให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ลดน้อยลงได้

หลังการอภิปรายอย่างกว้างขวางที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งรายงานดังกล่าวไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลดำเนินการจัดทำกฎหมายต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.