นักปรัชญาชายขอบ: ศีลธรรมอันดีหรือศีลธรรมอำนาจนิยม?
Posted: 22 Dec 2016 10:50 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

"ในเมื่อเราเป็นประเทศที่เป็นพุทธเป็นส่วนใหญ่นะ
เขาเขียนคำว่าศีลธรรมอันดี ไม่รู้จักคำว่าศีลธรรมอันดีหรอ ..
ถ้าทำอะไรผิดศีลธรรมอันดีมันก็คืออะไรล่ะ
ศีลธรรมคือความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศชาติ
ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ไม่ต้องทำอย่างอื่นหรอก"
พลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา
(ที่มา http://prachatai.org/journal/2016/12/69333)

ข้อความข้างบนเป็นคำถามของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อประชาชนกว่า 3 แสนคน ที่ลงชื่อต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีประเด็นสำคัญที่เราควรช่วยกันคิดคือ
- หนึ่ง -
นิยาม “ศีลธรรมอันดี” แบบพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเป็นนิยามศีลธรรมอันดีของชนชั้นนำสยามไทยที่มีมานาน ที่แปลกมากคือชนชั้นกลางไทยที่มีการศึกษาสมัยใหม่ โดยเฉพาะคนที่มีบทบาทเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ นักวิชาการ เป็นสื่อ เป็นเจ้าของสื่อ เป็นนักการเมือง หรือพูดรวมๆ บรรดาคนที่มีบทบาทนำในทางความคิด และ “เสียงดังกว่า” ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปนั้น ส่วนหนึ่งหรือส่วนมากเรียนจบมาจากประเทศเสรีประชาธิปไตยแทบทั้งนั้น แต่ทำไมถึงยอมรับ ไม่ตั้งคำถามต่อนิยามศีลธรรมอันดีแบบชนชั้นนำที่ทั้งให้ความชอบธรรม (legitimation) แก่ระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นอำนาจครอบงำ (domination) ความคิดทางศีลธรรมของสังคมไทยมายาวนาน

- สอง –
ทำไมเมื่อพูดถึง “ศีลธรรม” เราจึงนึกถึงศาสนา โดยเฉพาะ “พุทธศาสนา” และยังนึกถึงศีลธรรมแบบพุทธศาสนาในความหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ คำตอบก็คือ การรับรู้ ความเข้าใจ หรือ “ความทรงจำร่วม” ดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นและปลูกฝังโดยชนชั้นนำช่วงเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ยุคอาณานิคมเป็นต้นมา และถูกผลิตซ้ำ เน้นความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง หรือมีความต่อเนื่องมากกว่าเมื่อเทียบกับ “การสร้างประชาธิปไตย” (democratization) ที่กระท่อนกระแท่น ไม่มีความต่อเนื่อง

- สาม –
ชนชั้นนำสร้างศีลธรรมพุทธศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติอย่างไร คำตอบก็คือ ชนชั้นนำสร้างศีลธรรมแบบพุทธศาสนาให้มี “ความเป็นสมัยใหม่แบบไทย” ด้วยการแยกศีลธรรมพุทธศาสนาออกเป็น “ศีลธรรมทางโลก” (โลกียธรรม) กับ “ศีลธรรมเหนือโลก” (โลกุตตรธรรม) ที่มักจะพูดสั้นๆ ว่า “ทางโลก” กับ “ทางธรรม”
ศีลธรรมทางโลก ก็คือข้อปฏิบัติสำหรับฆราวาส เช่นทศพิธราชธรรม ฆราวาสธรรม ทิศ 6 การละเว้นอบายมุข ความขยันมั่นเพียร และอื่นๆ เพื่อการมีชีวิตที่ดีทางโลกของฆราวาส ส่วนศีลธรรมเหนือโลกหรือทางธรรมก็เป็นแนวปฏิบัติของพระที่ละทางโลก มุ่งละกิเลสหรือความหลุดพ้น แต่ศีลธรรมทางโลกที่ว่านี้ก็ยังเป็น “ศีลธรรมแบบศาสนา” (religious morality) ที่ใช้ปลูกฝังภายใต้โครงสร้างสังคมศักดินา ฉะนั้นโลกียธรรมหรือศีลธรรมทางโลกแบบพุทธไทยก็คือ ศีลธรรมที่สอนให้คนเป็น “คนดี” หรือ “พลเมืองดี” ในความหมายแบบเป็นพลเมืองผู้รู้  “หน้าที่” ตามสถานภาพพ่อ แม่ ลูก ครูอาจารย์ ศิษย์ เจ้านาย ลูกน้อง พระ ฆราวาส ผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครอง ที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้ลำดับชั้นสูง-ต่ำในโครงสร้างสังคมศักดินา
ศีลธรรมทางโลกแบบพุทธไทยดังกล่าว ได้ถูกปลูกฝังผ่านสถาบันศาสนา ที่มี “ศาสนจักรของรัฐ” (มหาเถรสมาคม) เป็นกลไกสำคัญ และผ่านสถาบันการศึกษาของรัฐ ภายใต้นโยบายที่ต้องการให้  “ผู้ใต้ปกครอง” มีความรู้วิชาชีพควบคู่กับศีลธรรมจรรยา ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาไทยถูกผนึกรวมเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ ภายใต้อุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ศีลธรรมแบบพุทธก็กลายเป็นเนื้อเดียวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
ฉะนั้น การปลูกฝังศีลธรรมแบบพุทธไทย ผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษาของรัฐ จึงไม่ใช่เพียงแต่การสร้างพลเมืองให้มี “ความรู้วิชาชีพควบคู่กับศีลธรรมจรรยา” หรือให้มี “ความรู้คู่คุณธรรม” อย่างที่ท่องจำกันในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญสูงสุดคือ การสร้างพลเมืองให้มีจิตสำนึกจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความหมายของ “ศีลธรรมอันดี” ตามที่พลเอกประยุทธ์พูด จึงถูกต้องตามกรอบคิดศีลธรรมอันดีที่ผลิตสร้างโดยชนชั้นนำสยามไทย ตั้งแต่ยุคอาณานิคมหรือยุคปรับตัวสู่ความเป็นสมัยใหม่ดังที่กล่าวมา

- สี่ –
อย่างไรก็ตาม การทำให้ศีลธรรมพุทธศาสนามี “ความเป็นสมัยใหม่แบบไทย” ก็ไม่ใช่ความเป็นสมัยใหม่ หรือ modernity ในแบบสากล เพราะศีลธรรมที่เป็น modernity ในแบบสากล ไม่ใช่ religious morality แต่เป็น secular morality ที่วางอยู่บนหลักการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรมอะไร
เวลาเราพูดถึง “รัฐชาติ” หรือ “รัฐประชาชาติ” สมัยใหม่นั้น ประชาชนที่รวมเป็นชาติย่อมมีหลายศาสนา หลากความเชื่อ ฉะนั้น ศาสนาจึงไม่ใช่ศูนย์รวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน แต่ประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ย่อมถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้ “รัฐธรรมนูญ” และกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติขึ้นบนหลักการแห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เพื่อสร้างพื้นที่ต่อรอง การมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองภายใต้ระบบ หรือกติกาที่ free และ fair สำหรับทุกคนในฐานะเป็นคนเสมอกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ โลกสมัยใหม่จึงแยกศีลธรรมแบบศาสนาให้เป็น “ศีลธรรมส่วนบุคคล” (individual morality) คือให้การเรียนรู้และปฏิบัติในเรื่องศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว ที่แต่ละคนจะรับผิดชอบดูแลกาย วาจา ใจ หรือมิติด้านจิตวิญญาณของตนเองตามความเชื่อทางศาสนาที่แต่ละคนมีเสรีภาพจะเลือกนับถือ หรือจะเลือกไม่นับถือศาสนาใดๆ จะสร้างทางเลือกการมีชีวิตที่ดีส่วนตัวในรูปแบบใดๆ ก็ได้ ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น ส่วน “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) คือศีลธรรมโลกวิสัย หรือ secular morality ส่วนที่เป็นหลักการสากล คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือพูดกว้างๆ คือหลักสิทธิมนุษยชน

- ห้า -
จะเห็นว่าศีลธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่เป็นเรื่องของ “ความถูกต้อง” (rightness) ของหลักการที่เป็นสากล คือหลักการที่ใช้กับทุกคนเสมอกัน หรือในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่พูดถึงความดีของบุคคล หรือตัวบุคคล ซึ่งในที่สุดแล้วมักโยงกับความภักดีต่อตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพระศาสดาของศาสนานั้นๆ หรือบุคคลที่ถูกยกย่องว่าเป็น “ปูชนียะ” ในลักษณะต่างๆ 
ที่หลักการสากล (เช่นหลักสิทธิมนุษยชน) เป็น “ศีลธรรม” ก็เพราะว่าหลักการดังกล่าวเป็น “คุณค่า” (values) ที่พึงปรารถนา หรือควรแสวงหา หรือควรสร้างขึ้น เพื่อความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกันของเราทุกคน
ในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ หลักการสากลเช่นหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน จึงต้องเป็นสิ่งสำคัญมาก่อน (priority) ศีลธรรมแบบศาสนา เพราะหลักการสากลเป็นเรื่องของ “ความดีสาธารณะ” ที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของทุกคนเสมอกัน แต่ศีลธรรมศาสนาเป็นเรื่องของ “ความดีเฉพาะ” ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่นับถือศาสนานั้นๆ
เมื่อหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสำคัญกว่าศีลธรรมแบบศาสนา “ศีลธรรมอันดี” ที่เป็นหลักการทางสังคมจึงไม่ใช่ศีลธรรมแบบศาสนา เพราะศีลธรรมแบบศาสนาเป็นศีลธรรมอันดีส่วนบุคคล ไม่ใช่ศีลธรรมอันดีทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น คนทำผิดศีล 5 ดื่มเหล้าเมานอนอยู่ที่บ้าน ไม่ไปขับรถหรือละเมิดคนอื่น รัฐจะไปเอาผิดเพราะข้ออ้างเรื่อง “ละเมิดศีลธรรมอันดี” ไม่ได้ แต่การละเมิดศีลธรรมที่เป็นหลักการสากล เช่นหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ย่อมเป็นการละเมิด “ศีลธรรมอันดี” ของสังคมที่รัฐเอาผิดได้ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า การล้มระบอบการปกครองประชาธิปไตย หรือการฉีกรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็น “ความผิดฐานเป็นกบฏ มีโทษถึงประหารชีวิต” เพราะเป็นการทำลายหลักการสากลอันเป็น “ศีลธรรมอันดี” ที่ทุกคนในสังคมยึดถือร่วมกัน

- Big Question -
คำถามสำคัญสำหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 คือ สังคมเราพร้อมที่จะยกระดับเป็นสังคมที่สามารถจะมี “ศีลธรรมอันดี” ที่เป็นหลักการสากล คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ หรือพูดรวมๆ คือหลักสิทธิมนุษยชนที่กินความครอบคลุมถึงหลักสิทธิพลเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยกันหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อม เราก็ยังคงเป็นสังคมที่ไม่สามรถจะมีศีลธรรมอันดีได้จริง จะมีก็เพียง “ศีลธรรมอำนาจนิยม” ที่ลดทอน ปิดกั้นไม่ให้ศีลธรรมอันดีตามหลักสากลสมัยใหม่เกิดขึ้นและงอกงามได้เท่านั้นเอง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.