พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ธุรกิจล็อบบี้ยุคทรัมป์
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ธุรกิจล็อบบี้ยุคทรัมป์
Posted: 22 Dec 2016 11:21 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
งานล็อบบี้ที่ดำเนินการโดยล็อบบี้ยิสต์ หรือโดยบริษัทล็อบบี้ยิสต์นั้น เป็นเรื่อง/ธุรกิจปกติในกฎหมายและสังคมอเมริกัน
หมายความว่า งานล็อบบี้เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายอย่างหนึ่งในอเมริกา ที่ในปัจจุบันมีบริษัทล็อบบี้จดทะเบียนร่วมร้อยบริษัท พื้นเพของบริษัทดังกล่าว มิได้มาจาก ดี.ซี.แอเรีย อย่างเดียว หากมาจากเกือบทุกพื้นที่หรือเกือบทุกมลรัฐในอเมริกา
เรียกได้ว่างาน/ธุรกิจล็อบบี้ในอเมริกาทำกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะอย่างยิ่ง แม้ในจนทุกวันนี้
และสิ่งที่ผมเห็นด้วยตาทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน ก็คือหลายประเทศพันธมิตรของอเมริกาจับจุดเรื่องธุรกิจล็อบบี้นี้มาใช้กับการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศและด้านเศรษฐกิจของตน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ประเทศเหล่านั้นวางแผนใช้งานล็อบบี้ยิสต์อย่างเป็นระบบ สามารถเข้าถึง “บุคคลของฝ่ายอเมริกัน” ที่มีบทบาทในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการต่างประเทศ ความมั่นคง หรือทางด้านเศรษฐกิจ
เรียกว่า หากสามารถเข้าถึงตัวบุคคลเหล่านั้นก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
“บุคคลฝ่ายอเมริกัน”ที่ผมพูดถึงนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในฝ่ายการเมือง ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับคณะผู้บริหารหรือฝ่ายบริหารของรัฐบาลอเมริกันไล่ลงมาตั้งแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรี เลขานุการฯ และที่สำคัญคือ นักการเมืองในสภาทั้งสอง คือสภาบนและสภาล่างผู้มีส่วนสำคัญในการออกกฎหมายต่างๆ
เมื่องานล็อบบี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายอเมริกัน ที่สำคัญคือมันซ้อนอยู่ในรูปแบบของความเป็นวัฒนธรรมอเมริกันด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทำให้รัฐบาลของบางประเทศ หันมาใช้วิธีการผลักดันสิ่งที่รัฐบาลต้องการผ่านระบบล็อบบี้ทางการเมือง/ธุรกิจของบริษัทอเมริกัน ด้วยความเข้าใจว่างานล็อบบี้นั้นมิใช่จะใช้เงินซื้อเอาได้เพียงอย่างเดียว หากยังต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ หรือมิตรภาพกับบุคคลฝ่ายอเมริกันอีกด้วย ดังนั้นเรื่องดังกล่าวนี้จึงถูกยกระดับขึ้นเป็นหน้าที่ของเอกอัคราชทูต กงสุลหรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ที่ไปมีสถานทูต เจ้าหน้าที่ทูตอยู่ในอเมริกา
เท่าที่เห็นมา และมีการทำงานอย่างได้ผลคือ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ อย่างเช่น สถานทูตเมียนมาร์ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. พวกเขาทำงานร่วมกับล็อบบี้ยิสต์อเมริกันมาเป็นเวลายาวนานก่อนหน้าที่รัฐบาลโอบามาจะปลดล็อกความสัมพันธ์ทั้งสองปะเทศที่ปิดตายมานานหลายปี เริ่มตั้งแต่การจัดปาร์ตี้ ณ สถานทูต เชิญนักการเมืองอเมริกันทั้งสองสภามาร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน ก่อนที่จะนำไปสู่การเยือนเมียนมาร์ของสว.อเมริกันบางคน เช่น สว. Jim Webb แห่งเวอร์จิเนีย เป็นต้น นับเป็นการเปิดฉากสร้างความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ พัฒนามากขึ้นไปเรื่อยๆ จนบารัก โอบามา ได้ไปเยือนเมียนมาร์ เจอ เต็งเส่ง/อองซานซูจี และเปิดความสัมพันธ์ตามปกติในที่สุดในทุกด้าน แน่นอนกฎหมายตัดสิทธิ์ต่างๆ ที่เคยมีต่อเมียนมาร์ก็ได้รับการยกเลิกไปด้วย
ขณะที่ในส่วนของฝ่ายไทย ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนทัศนคติเกี่ยวกับการล็อบบี้ส่วนใหญ่ทั้งจากฟากรัฐบาลหรือแม้กระทั่งเอกชน เป็นไปในทางลบยิ่งกว่าบวก ทำให้หน่วยงานที่รับช่วงอำนาจหน้าที่ คือมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติสนองนโยบายของรัฐ ซึ่งก็คือหน่วยงานของรัฐบาลไทยในอเมริกานั่นเอง อย่างเช่น หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศทั้งหลายต่างก็อยู่กันแบบ “ใส่เกียร์ว่าง” แทบไม่ได้มีความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลในวงการเมืองและวงการอื่นๆ ในภาคส่วนของอเมริกันเลย หากเทียบกับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว หรือเวียดนาม (ชาติเหล่านี้ มักมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลฝ่ายอเมริกัน เช่นนักการเมืองอเมริกันอยู่เนืองๆ) โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงตัวแทนของรัฐบาลจีนในอเมริกาที่ก้าวหน้าไปมากกว่าชาติอื่นๆ โดยมีเอกชนจีนร่วมลงเรือในขบวนด้วย ทั้งนี้ จุดเด่นของฝ่ายจีนอยู่ทีความพยายามในเรื่องเศรษฐกิจ เช่น การหาทางขยายตลาดสินค้าจากจีนมายังอเมริกา สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทจีนในบริษัทอเมริกัน เป็นต้น แม้ภาพภายนอกจะดูเสมือนว่า จีนกับอเมริกา ไม่ค่อยกินเส้นกันมากนักก็ตาม
น่าสังเกตว่า การทำหน้าที่ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับงานล็อบบี้ในอเมริกาของเจ้าหน้าของรัฐบาลไทย ยังอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิมเหมือนเมื่อ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือทำงานโดยแยกงานด้านการทูตออกจากงานด้านอื่น เป็นการทำงานแบบแยกส่วน ไม่ได้เป็นองค์รวม แบบแนวทางการทูตสมัยใหม่ที่ผนวกรวมงานด้านล็อบบี้ หรือแม้กระทั่งงานด้านพาณิชย์รวมเข้าไปด้วย เพราะถือว่าเป็นงานด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่มีสถานทูตตั้งอยู่เช่นกัน นับเป็นมิติทางการทูตแบบใหม่ที่หลายประเทศนิยมใช้ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่งานล็อบบี้เป็นธุรกิจถูกกฎหมายยอย่างหนึ่ง
โดยต้องไม่ลืมว่าในขณะเดียวกันงานล็อบบี้ในอเมริกานั้น หากบุคลากรทางการทูตเก่งพอ อาจไม่ต้องลงทุนมากก็ได้ การสร้างคอนเนกชั่นที่ดี ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้เงินหว่านหรือจ้างฝ่ายอเมริกันเสมอไป การว่าจ้างหรือให้ผลตอบแทนนั้น ดีไม่ดีหากไม่ระวังถึงข้อกฎหมายที่มีอยู่ก็อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายอเมริกัน เช่น กฎหมายการรับเงินของพรรคการเมือง ก็เป็นได้ ดังที่เคยเกิดกรณีนี้กับล็อบบี้ยิสต์หญิงของไทยคนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน
ไม่นับรวมการโบ้ย ไปยังสำนักงานพาณิชย์ที่มีอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาของเจ้าหน้าที่การทูตทำนองเรื่องเศรษฐกิจหรือการค้า ไม่ใช่หน้าที่ของตนหรือมีบุคคลที่ทำหน้าที่ (ด้านพาณิชย์) ประจำอยู่แล้ว การคาดหวังการทำงานการทูตแบบองค์รวมตามรูปแบบสมัยใหม่ จึงค่อนข้างเป็นเรื่องที่ออกจะเพ้อฝันเอามากๆ สำหรับเจ้าหน้าที่การทูตของไทยที่นี่
นอกจากนี้เป็นที่น่าสนใจว่าในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ เขามีความคิดแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่ส่วนหนึ่งมาจากนักการเมือง คือ เป็น สส.หรือ สว.มาก่อน เมื่อการณ์เป็นอย่างนี้ ก็ย่อมส่งผลดีต่องาน (ธุรกิจ) ล็อบบี้ในอเมริกา ขณะที่ทรัมป์เองก็เป็นนักธุรกิจมาก่อน ย่อมเข้าใจถึงวิธีการทางธุรกิจ (การเมือง) ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี
ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า ทรัมป์กำลังเล็งเพื่อดึง Dana Rohrabacher สส.รีพับลิกันเขตออเรนจ์เค้าน์ตี้หลายสมัยมาเข้าร่วม“ครม.ทรัมป์1” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าจริงถือว่า Rohrabacher เป็นผู้หนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศอย่างมาก เขาเคยมาเมืองไทยหลายครั้ง ทั้ง Rohrabacherเองเป็นผู้ที่เข้าใจงานล็อบบี้ และการเจรจาด้านต่างๆ กับต่างประเทศเป็นอย่างดี เขามีทีมงานเฉพาะในการดำเนินการเรื่องนี้
ก็ไม่ทราบว่า ฝ่ายไทยจะพลิกกลยุทธ์ทางการทูตเป็นแนวทางการทูตสมัยใหม่ได้หรือไม่ เมื่อไหร่และอย่างไร?
แสดงความคิดเห็น