ชะตากรรมทางภาพลักษณ์ของผู้ใหญ่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก
Posted: 21 Dec 2016 03:32 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

ปลายปี 2015 ผมค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมของอะไรก็ตามที่เรียกว่าเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ กับโลกออนไลน์เอาไว้ชิ้นหนึ่ง และมีส่วนหนึ่งที่ผมเห็นว่าสมควรจะคัดออกมาเผยแพร่ในเวลาที่ไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้กำลังถูกมองอย่างย่ำแย่ในสายตาคนรุ่นใหม่ แต่ลามไปถึงความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเองที่กำลังถูกมองย่ำแย่ลงเรื่อยๆ โดยธรรมชาติ
โดยรวบรัด ผมเห็นว่าต่อให้ผู้ใหญ่ไม่พยายามเข้ามาควบคุมโลกที่ตัวเองไม่เข้าใจของคนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่รุ่นที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็กำลังจะถูกผู้น้อยหรือเด็กและเยาวชน และคนรุ่นใหม่ อะไรก็ตามเหล่านี้ มองด้วยสายตาที่ไม่ดีนักอยู่แล้

ตามรอยผู้ใหญ่ หลง

  “มนุษย์ป้า/มนุษย์ลุง” เกิดขึ้นบนโซเชียลเน็ตเวิร์กของชาวไทยในปี 2014 เพื่ออธิบายการกระทำของผู้สูงวัยที่ไม่สนใจกฏกติกามารยาทสังคมจนเป็นปกติ ต่างจาก “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” ที่มองว่าผู้สูงวัยจะต้องมีความรู้ความสามารถเป็นปกติจนการแก่โดยไม่มีคุณสมบัติอะไรนอกจากอยู่มานานกลายเป็นความผิด (วริศ ลิขิตอนุสรณ์, 2015) ดังนี้การเกิดขึ้นของคำว่ามนุษย์ป้า/มนุษย์ลุงจึงแสดงถึงความเคลื่อนไหวที่กำลังรบกวนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่ไทย โดยโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทั้งแสดงหลักฐานและส่งผลสำคัญ

คนแก่จะต้องแก่ไม่กะโหลกกะลา ไม่แก่เพียงเพราะกินข้าวแล้วอยู่ได้นาน แต่ต้องแก่อย่างมีความสามารถ การเดินตามผู้ใหญ่จะทำให้หมาไม่กัด เจริญรอยตามผู้มีประสบการณ์จะทำให้พ้นภัยได้ ทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อปกติวิสัยในสังคมไทย แสดงให้

เห็นว่าความเท่าทัน (literacy) และบทบาทผู้เป็นที่พึ่ง มีผลต่อภาวะผู้นำ ผู้ตาม และที่สุดคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

งานวิจัยของ ณัฐนันท์ ศิริเจริญ, กมลรัฐ อินทรทัศน์, และปิยฉัตร ล้อมชวการ (2558: 46-57) ชื่อ รูปแบบการสื่อสารเพื่อการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศจากสื่ออินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทย เสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติไว้ว่าเยาวชนไทยกลุ่มที่ผู้วิจัยได้สำรวจ คือนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งที่ลงเรียนตามรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับความรู้เท่าทันสื่อจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีความรู้และทักษะต่อการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารจากสื่ออินเทอร์เน็ตปานกลางเป็นส่วนใหญ่ ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มีความละเลยต่อการหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ หากมาตามทางนี้จะยังเห็นว่าเด็กก็ยังเป็นเด็กอยู่วันยันค่ำ ผู้วิจัยต่างหากที่ดูจะรู้ว่าความเท่าทันคืออะไร

ในอีกด้านหนึ่ง ผลการวิจัยในวิทยานิพนธ์ ค่านิยมกับพฤติกรรมด้านการสื่อสารออนไลน์ของเด็ก และเยาวชนไทย ของ ฑิตยา ปิยภัณฑ์ (2556) มีข้อเสนอในการวิจัยที่ระบุว่าเด็กและเยาวชนไทยจะสามารถแสดงตัวตนได้เต็มที่ในการสื่อสารออนไลน์ มีค่านิยมด้านเสรีภาพ ความซื่อสัตย์โปร่งใส การประสานความร่วมมือ ความบันเทิงและนวัตกรรมในระดับมากทุกค่านิยม สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับค่านิยมของเยาวชนยุคดิจิทัลในระดับสากล ในขณะเดียวกัน ผลของการวิจัยส่วนที่ระบุว่าเยาวชนไทยมีระดับการใช้สื่อออนไลน์ที่สูงมากก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลช่วงต้นของโซเชียลเน็ตเวิร์กในปี 2013

นอกจากนี้แล้วยังมี ศศิธร ยุวโกศล และดวงกมล ชาติประเสริฐ (2553) เสนอผลการวิจัย การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ : โอกาสหรืออุปสรรค ว่าผู้ใช้ที่มีอายุน้อยประเมินว่าตนสามารถถ่ายทอดความเป็นตัวตนผ่านการใช้โปรแกรมสื่อสารต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตได้มากกว่ากลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุมาก ทำให้เห็นว่าเยาวชนกับโลกไซเบอร์เชื่อมถึงกันกว่าผู้ใหญ่

ผลวิจัยจากทั้งสามนำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า หากเยาวชนไทยยังคงไม่เท่าทัน (illiterate) แม้กระทั่งในปี 2015 ตามแบบณัฐนันท์แล้ว ทำไมพวกเขาถึงสามารถแสดงค่านิยมส่วนมากเป็นสากลตามแบบฑิตยามาตั้งแต่ปี 2013  และถ่ายทอดตัวตนของตนได้มากกว่าผู้ใหญ่ตั้งแต่ปี 2010 ตามแบบศศิธร?

ในขณะเดียวกัน ผลการวิจัยจากนานาชาติที่เสนอโดย โธมัส กวาดามูซ (2015) จากเวทีเสวนา Cybersex: เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรหมแดน กลับเสนอในภาพที่กว้างกว่าถึงรูปแบบในผลวิจัยทั่วโลกว่า ยิ่งเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตมาก และมีการเปิดกว้างทางเพศมาก ก็ยิ่งมีความเท่าทันในเรื่องเพศมากขึ้น

หากมองจากทุกมุมของผลวิจัยทั้งหมดแล้วจะพบว่าความไม่เท่าทันในความหมายของณัฐนันท์คือความไม่เท่าทันในการประเมินความเสี่ยง ความสามารถในการแสดงตัวตนที่สูงในผลวิจัยของฑิตยาและศศิธร หมายถึงความเท่าทันในการใช้งาน ส่วนมุมของโธมัสเสนอว่าความความเท่าทันในการใช้งานนั่นแหละที่จะเป็นปัจจัยนำไปสู่ความเท่าทันในการประเมินความเสี่ยง

ความไม่สอดคล้องบางประการที่พบในผลวิจัยเหล่านี้ทำให้ผมต้องหันกลับไปสู่การค้นคว้าเชิงทฤษฎี หากตั้งต้นใหม่ที่คำอธิบายของ Marc Prensky (2001) ที่เรียกเยาวชนในรุ่นปัจจุบันว่าเป็น Digital Native คือชนพื้นเมืองผู้เกิดมากับโลกดิจิทัล และเรียกผู้ใหญ่ว่า Digital Immigrant หรือผู้อพยพเข้ามาบนพื้นที่ดิจิทัล รวมคำอธิบายของ White and Le Cornu (2011) ที่เปลี่ยนการเปรียบเทียบนั้นเป็น Visitor and Resident (ผู้เยี่ยมเยียน และเจ้าบ้าน) แล้วเห็นตรงกันว่าหากจะเทียบว่าใครเท่าทันมากกว่า ก็คงเป็นเยาวชน ไม่ใช่ผู้ใหญ่ เป็นหลานที่จะสอนคุณยายแชร์ภาพพระลงเฟซบุ๊ก พวกเขาจะมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคพื้นฐานของโปรแกรมและฮาร์ดแวร์ การศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมจะทำให้พวกเขาปรับตัวเข้าหาพื้นที่ไซเบอร์ได้มากกว่าผู้ใหญ่ เหมือนว่ามีร่างกายที่แข็งแรงกว่าเมื่ออยู่บนโลกไซเบอร์ เหตุนี้จึงทำให้เกิดความเท่าทันต่อความเสี่ยงในบางมุมไปโดยปริยาย เช่นการแยกแยะระหว่างลิงก์ไวรัส กับลิงก์ทั่วไป ที่เกิดขึ้นได้จากประสบการณ์และความเคยชินต่อพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองเรื่องเพศและเยาวชนบนโลกไซเบอร์ของโธมัส

ไม่มีปุ่มสั่ง ไม่มีปุ่มกราบ

นอกจากความเท่าทันแล้ว Richard H. R. Harper (2010) นักวิจัยระบบสังคมดิจิทัล (Socio-Digital Systems) จาก Microsoft Research ยังให้ความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลบนโซเชียลเน็ตเวิร์กไว้ในหนังสือชื่อ Texture: Human Expression in the Age of Communication Overload ว่าบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง facebook ให้อำนาจกับลูกหลานในเครือญาติที่ไม่อยากจะให้พ่อแม่และญาติของตัวเองเข้ามาวุ่นวายกับพื้นที่ส่วนบุคคลของพวกเขา โดยให้พวกเขาสามารถจะไม่รับคำขอเข้าถึง (friend request) ของคนเหล่านั้นได้ โซเชียลเน็ตเวิร์กจึงไม่ได้เพียงมีไว้สำหรับติดต่อคนที่อยากติดต่อ แต่ยังมีไว้สำหรับปฏิเสธคนที่ไม่อยากติดต่ออีกด้วย เป็นอำนาจใหม่ของเยาวชนที่แม้จะอยู่ในบ้านในฐานะลูก แต่ก็อยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กในฐานะผู้ใช้คนหนึ่งเท่า ๆ กับพ่อแม่

อนึ่ง โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงและคู่ขนานกับสังคมกายภาพ เป็นไปได้ว่าสองโลกจะไม่บรรจบกันในบางกรณี นายทหารชั้นผู้ใหญ่เมื่ออยู่บนเฟซบุ๊กก็ไม่มีอำนาจในเชิงนโยบายมากไปกว่าพลเรือน นอกเสียจากจะตามหาระบุตัวตนพลเรือนผู้นั้นให้ได้ก่อน ซึ่งกระบวนการสืบหาตัวตนก็ไม่สามารถทำได้มากกว่าผู้ใช้คนอื่น ๆ หากผู้ใช้ไม่มีทุนเหนือมนุษย์จำนวนมหาศาลร่วมผลประโยชน์กับผู้ให้บริการ ผู้ใช้ก็จะมีสถาะพื้นฐานที่เท่าเทียมกันโดยหลักการบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เป็นที่นิยมโดยทั่วไปมีหลักการเช่นนั้น1 หรือจงใจแสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งส่งผลต่อนโยบายและความรู้สึกของผู้ใช้

อวัจนภาษามีผลอย่างสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คนไทยยอมรับลำดับข่มทางวัยวุฒิ (age hierarchy) ผ่านภาพลักษณ์ของอวัจนภาษา การทักทายและภาษากายแบบไทยมีข้อกำหนดเรื่องชนชั้นและความสูงต่ำไว้ชัดเจน เช่นการโค้ง การไหว้ การโน้มตัวระหว่างเดินผ่าน ล้วนคอยบ่งบอกว่าใครเป็นเด็กใครเป็นผู้ใหญ่ อะไรควรอะไรไม่ควร ระยะห่าง (proximity) ระดับความสูงต่ำ (level) และการจับต้อง (touch) ล้วนบ่งบอกชัดเจนถึงแนวดิ่งของอำนาจ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปบนโซเชียลเน็ตเวิร์กคือ แม้จะมีการติดต่อสื่อสารที่ทันท่วงทีและต่อเนื่อง (realtime) แต่ภาษากายเหล่านั้นนำเข้าไปไม่ได้ ไม่สามารถเกิดสัมผัส หรือให้ความรู้สึกแห่งการอยู่ด้วยกัน (togetherness) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสังเกตเพื่อการประมวลการรับส่งสารของมนุษย์2  นี่จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปลี่ยน

ด้วยลักษณะของโซเชียลเน็ตเวิร์ก เยาวชนในฐานะผู้ใช้หนึ่งคนเท่า ๆ กับผู้ใหญ่ ไม่ต้องกดไหว้หรือขออนุญาตก่อนแสดงความคิดเห็น แต่ใช้พื้นที่สื่อโดยไม่ต้องรอให้ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ และจึงไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงผู้สืบทอดวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ความเท่าทันสื่อที่มากกว่า และการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์เชิงอำนาจดังกล่าวทำให้วัฒนธรรมเยาวชนมีพื้นที่เป็นของตนเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันก็ลดความจำเป็นในการต้องแสดงความเคารพ ที่ผูกอยู่กับความเป็นผู้กุมความรู้และทรัพยากรมากขึ้นเรื่อย ๆ

เด็กมันเห็นหมดแล้ว

ก่อนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก การเห็นญาติผู้ใหญ่เกี้ยวพาราสีหรือเห็นครูบาอาจารย์ทะเลาะกันเองแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กมันกลับถูกเห็นได้เป็นเรื่องปกติ เยาวชนสามารถเห็นมุมอื่น ๆ ที่เป็นมนุษย์ของผู้ใหญ่และคล้ายกับตนมากขึ้น จึงลดความกลัวและระยะห่างเชิงอำนาจลง

การมีโอกาสเห็นเรื่องน่าอายและความผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นมากในกลุ่ม Digital Immigrants อาจลดบทบาทผู้เป็นที่พึ่งของผู้ใหญ่ลงจนสลับบทบาทให้ Digital Natives ขึ้นมาเป็นที่พึ่งหรือผู้ขบขันอยู่เหนือกว่าแทน การขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเฟซบุ๊กของครูประจำชั้น การเห็นผู้อำนวยการโรงเรียนกดไลค์การ์ตูนโป๊โดยไม่ตั้งใจ หรือการได้เห็นลุงง้อป้าบนหน้าไทม์ไลน์โดยไม่รู้ว่าคนอื่นก็มองเห็นอยู่ด้วย การกระทำต่าง ๆ ที่เดิมทีถูกสงวนไว้ในพื้นที่ของผู้ใหญ่ด้วยกันเท่านั้น ได้ถูกมองและเลื่อนผ่านหน้าข่าวของเยาวชนไปหมดแล้ว เส้นกั้นเขตแดนระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่จึงพร่ามัว มีความเป็นไปได้ที่ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กจะเข้าใจว่าตนมีความสัมพันธ์กับผู้ใช้อื่น ๆ ในระดับที่ลึกขึ้นในมุมของข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยน (ศศิธร ยุวโกศล และดวงกมล ชาติประเสริฐ, 2553) เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์กแสดงข้อมูลส่วนบุคคลและการแสดงความคิดเห็นผ่านโพสต์ให้ผู้ใช้ทุกคนเห็นกันและกัน ระยะห่างระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่จึงอาจลดลงไปด้วยและเป็นระนาบกว่าเดิม
ผมไม่อยากจะเสนอว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กหรืออะไรทำนองนี้ที่หนุนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่กับเสรีนิยมใหม่ เป็นพระเอกนางเอกที่เราควรปกป้อง หรือว่ามันกำลังปกป้องเราเลย ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้อยากจะทำให้ผู้ใหญ่ คนแก่ หรือคนที่ไม่เท่าทันโลก กลายเป็นตัวร้ายที่ต้องกำจัด เพราะภายในเวลาไม่นานอันไม่นานจริงๆ นี้ เราทุกคนก็กำลังจะตกรุ่น หรือได้ตกรุ่นไปแล้ว การคิดถึงสวัสดิภาพของคนตกรุ่นในยุคที่เทคโนโลยีโตอย่างรวดเร็วเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ ก็ได้แต่พูดกันเท่านี้ไปก่อน และหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้พูดถึงอะไรที่มีมิติกว่านี้ ในเร็วๆ นี้


เชิงอรรถ
ดู Facebook Terms and Policies. (n.d.). Retrieved 2015, from https://www.facebook.com/policies
2 หลายสำนักทฤษฎีการสื่อสารอ้างว่าอวัจนภาษาเป็นส่วนที่สำคัญกว่าภาษา ดู Thompson, J. (2011) Retrieved 2015, from https://www.psychologytoday.com/blog/beyond-words/201109/is-nonverbal-communication-numbers-game

อ้างอิง
Harper, R. (2010). Texture: human expression in the age of communications overload.   Cambridge, Mass.: MIT Press.

Prensky, M. (2001). Digital Natives, Digital Immigrants Part 1. On the Horizon, 1-6.

White, D., & Le Cornu, A. (2011). Visitors and Residents: A new typology for online engagement.

Retrieved 2015, from http://firstmonday.org/article/view/3171/3049

ฑิตยา ปิยภัณฑ์. (2556). ค่านิยมกับพฤติกรรมด้านการสื่อสารออนไลน์ของเด็ก และเยาวชนไทย.
วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต กลุ่มวิชาวารสารและสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

ณัฐนันท์ ศิริเจริญ, กมลรัฐ อินทรทัศน์, และปิยฉัตร ล้อมชวการ (2558). รูปแบบการ สื่อสารเพื่อการรู้เท่า
ทันสื่อและสารสนเทศจากสื่ออินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทย. วารสารศรีปทุมปริทัศน์, 15(1), 46-57.

โธมัส กวาดามูซ. (2015). Cybersex: เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรหมแดน, 42.29-56.33 [บรรยาย].
สืบค้นเมื่อ 2015, จาก https://www.youtube.com/watch?v=YMev1jhHIwg

วริศ ลิขิตอนุสรณ์. (2015). คุณค่าอาวุโสในสำนวน (สุ)ภาษิต คำพังเพยไทย. AC ECHO, 7, 39-46.

ศศิธร ยุวโกศล และดวงกมล ชาติประเสริฐ. (2553). การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลใน
โลกออนไลน์: โอกาสหรืออุปสรรค. วารสารนิเทศศาสตร์, 28(4), 47-75.

หมายเหตุ: คัดจากส่วนหนึ่งของของบทความ “ในกลิ่นน้ำนม: วัฒนธรรมเยาวชนไทยบนสื่อและเครือข่ายสังคม ปี 2013-2015” เมื่อปลายปี 2015 เข้าถึงได้ที่ academia.edu

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.