สมัชชาคนจนชี้ศาลยังไม่ตัดสินรัฐฟ้องไล่ที่ชาวบ้าน แต่นายกฯ ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
สมัชชาคนจนชี้ศาลยังไม่ตัดสินรัฐฟ้องไล่ที่ชาวบ้าน แต่นายกฯ ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
Posted: 21 Dec 2016 02:37 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
สมัชชาคนจน ตั้งข้อสังเกตหลังนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม ม.44 ประกาศพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ชี้มีชาวบ้านถูกฟ้องคดีอยู่ 29 คน ศาลยังไม่ตัดสิน แต่นายกฯ ออกคำสั่งก่อนก็ศาลตัดสิน 2 วัน
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ สมัชชาคนจน ได้กล่าวถึงกรณีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๘ ซึ่งมีใจความสำคัญคือการประกาศเวนคืนพื้นที่ในในสองจังหวัดคือ นครพนม และ กาญจนบุรี เพื่อประกาศเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
โดยในเฟซบุ๊กแฟนเพจ สมัชชาคนจน ได้ระบุว่า จากกรณีที่มีการผลักดันให้พื้นที่จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ กระทั่งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีประกาศฉบับที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะ 2 ลงวันที่ 24 เม.ย. 2558 ในข้อ 4 ของประกาศดังกล่าว ระบุว่า ให้ท้องที่ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม และตำบลโนนตาล ตำบลรามราช ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม” ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2559 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” ตั้งอยู่ที่บ้านห้อม หมู่ที่ 1 ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม เนื้อที่ 1,860 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และภาคเอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาวนั้น
ก่อนจะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม หน่วยงานภาครัฐได้พยายามเคลียร์พื้นที่ที่จะใช้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยในวันที่ 29 ก.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้สนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านห้อม ต.อาจสมมารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และคำสั่ง คสช. ที่ 64 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2557 เข้าดำเนินการจับกุมชาวบ้าน จำนวน 14 ราย โดยอ้างชาวบ้านทั้งหมด บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม
ในระหว่างวันที่ 18 – 22 ส.ค. 2557 นายอำเภอเมืองนครพนม ร่วมกับ กอ.รมน.จว.นพ. ได้เชิญราษฎรที่ถูกกล่าวอ้างว่า บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม” ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม จำนวน 284 ราย มาทำพันธสัญญาและทำความเข้าใจในการดำเนินการขอคืนพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64 และคำสั่ง คสช. ที่ 66 ที่หอประชุมอำเภอเมืองนครพนม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า เป็นการดำเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีเรียกผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม” ตำบลอาจสามารถ มาทำพันธสัญญา โดยมีสรุปข้อมูลว่า มีผู้บุกรุก จำนวน 284 ราย ผู้บุกรุกมาพบเจ้าหน้าที่ จำนวน 277 ราย ผู้บุกรุกไม่มาพบเจ้าหน้าที่ จำนวน 5 ราย มีผู้ยินยอมออกจากพื้นที่บุกรุก จำนวน 256 ราย และมีผู้บุกรุกอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง จำนวน 21 ราย
ต่อมาวันที่ 22 ต.ค. 2557 นายอำเภอเมืองนครพนม ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้นายสุภชัย ท้าวกลาง ตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อำเภอเมืองนครพนม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ “โคกกระแตบ้านไผ่ล้อม” ตำบลอาจสามารถ จำนวน 21 ราย
โดยคดีดังกล่าวนี้ พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ถูกจับต่อศาลจังหวัดนครพนม ในฐานความผิด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง หรือ เผาป่า กระทำด้วยประการใดอันเป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยคำขอท้ายคำฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา ดังนี้คือ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 2, 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2515 ข้อ 11 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 22 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 มาตรา 9 ขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่ง ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองพร้อมทั้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อศาลจังหวัดนครพนมได้สั่งให้ร่วมคดีพิจารณา มีจำเลย จำนวน 29 คน โดยได้มีการนับสืบพยายโจทย์และพยานจำเลยช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ที่ผ่านมา และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดนครพนม
แสดงความคิดเห็น