ความตายของทูตรัสเซีย: กระสุนแห่งความเจ็บปวด?
Posted: 21 Dec 2016 02:58 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

อังเดร คาลอฟ ทูตรัสเซียประจำตุรกี ขณะกล่าวในงานนิทรรศการภาพถ่ายแห่งหนึ่งที่กรุงอังการา ประเทศตุรกี ก่อนที่อีกไม่กี่นาทีเขาจะถูกมือปืนลอบยิง (ที่มา: AKSAM)
หลังเหตุการณ์สังหารนักการทูตรัสเซีย นายอังเดร คาร์ลอฟ (Andrei Karlov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงอังการา ตุรกี  เมื่อคืน (19 ธ.ค. 59 เวลาท้องถิ่น) พลันในหัวทำให้นึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขึ้นมาอย่างฉับพลันและพร้อมกับการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต...

ในประวัติศาสตร์อันสำคัญของโลกเกี่ยวกับสงคราม  เหตุการณ์มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี คือ ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ ถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ.1914 ณ. เมืองซาราเจโว ขณะเสด็จเยือนเมืองหลวงของบอสเนีย โดยผู้ลอบสังหารคือ กาฟริโล  ปรินซิพ นักศึกษาชาวบอสเนียสัญชาติเซอร์เบีย  ถือว่าเป็นคนหนุ่ม ที่ปฎิบัติการครั้งนี้และเป็นสาเหตุประการหนึ่งทีทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก

เป็นทีรับทราบกันดีว่าสงครามในซีเรีย ประธานาธิบดีปูตินแห่งประเทศรัสเซียคือผู้หนุนหลังประธานาธิบดีบัชชาร ฮาฟิซ อัลอะซัด ที่ปกครองซีเรีย ผู้ครองอำนาจต่อจากบิดามาอย่างยาวนาน ทำให้ประชาชนจำนวนมากต่อต้าน เกิดการประท้วงภายหลังจากเหตุการณ์อาหรับสปริง บางส่วนกลายมาเป็นกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ซึ่งมีหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ใช่มีแต่กลุ่มไอซิส

ปูตินแห่งรัสเซียและบัชชารแห่งซีเรีย ได้ร่วมมือกันก่อสงครามและเข่นฆ่าประชาชนในซีเรียอย่างเลือดเย็น โดยข้ออ้างของการปราบปรามกลุ่มไอซิส การก่อการร้าย ทำให้ประชาชนมุสลิมจำนวนมากที่ติดตามเรื่องสงครามซีเรีย ไม่ชอบและต่อต้านรัฐบาลซีเรียและรัฐบาลรัสเซีย

มุสลิมและผู้คนทั่วโลกจำนวนไม่น้อยได้เห็นถึงความไร้สัจจะของปูตินและบัชชาร จะเรียกว่านโยบายการทูตหรือผลประโยชน์ของประเทศอะไรก็ตาม แต่ในสายตาของคนมุสลิมมันคืออาชญากรสงครามระดับตัวพ่อ ที่ก่อให้ผู้คนเสียชีวิตและผู้อพยพจำนวนมาก 

เหตุการณ์การยิงนักการทูตรัสเซียในกรุงอังการา ของนายเมวลูท แมรท อัลทินทาซ (Mevlüt Mert Altıntaş) เรามุสลิมต้องแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่ง เพราะนี้ไม่ใ่ช่หนทางของการหยุดสงครามซีเรีย และไม่ใช่แนวทางอันสง่างาม การฆ่าคน ไม่สามารถช่วยเหลือเด็กในซีเรียได้

สำหรับมุสลิมแล้ว เราต้องไม่สนับสนุนวิธีการใช้ความรุนแรงแบบนี้ เพราะนักการทูต, นักบวช, พ่อค้า, ประชาชน เมื่อเข้ามาอยู่ในสังคมที่มุสลิมเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาคือแขกผู้มีเกียรติ เราจำเป็นต้องปกป้องและให้ความยุติธรรมกับพวกเขา

นั้นก็หมายรวมถึงนักการทูตรัสเซียที่มาปฎิบัติงานในกรุงอังการา เราต้องไม่ฉีกสัญญาแห่งการทูตและสัจจะระหว่างกัน เพราะนี้คือความสง่างามที่เราเคยมีในประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านนบีมูฮำหมัด(ซ.ล.) เคยกล่าวไว้ว่า

“ผู้ใดที่เข่นฆ่าผู้ที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญา เขาจะไม่ได้รับกลิ่นอายของสวรรค์ ทั้งที่กลิ่นของสวรรค์นั้นสามารถสัมผัสได้แม้จะอยุ่ห่างออกไปเป็นระยะทางเท่ากับการเดินทางสี่สิบปีก็ตาม ”  (บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 6914 )

ประวัติศาสตร์อิสลามมีบทเรียนกำชับให้มุสลิมทุกคนปกป้องคนต่างศาสนิกที่อยู่ภายในสังคมอิสลามโดยถือว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นประชากรที่มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาเสมือนการให้การคุ้มครองแก่ชาวมุสลิมทุกประการ

สำหรับการการฆ่านักการทูตรัสเซียครั้งนี้ เป็นการทำให้รัสเซียเข้มแข็งและชอบธรรมมากกว่าเดิม และจะทำให้ตุรกีและโลกมุสลิมเสียเกียรติ และทำให้สงครามยืดเยื้อและมีเงื่อนไขใหม่ๆขึ้นมา

ข้อสังเกตบางประการ ต่อการสังหารนักการทูตครั้งนี้ คำถามสำคัญคือว่า ทำไมต้องสังหารนักการทูตรัสเซีย การเมืองเรื่องอำนาจในแผ่นดินซีเรีย มีหลายฝ่ายด้วยกันที่ปฎิบัติในนามของรัฐ ทั้งตุรกี อเมริกา ฝรังเศส เยอรมัน รัสเซีย รัฐบาลซีเรีย ฯลฯ

สำหรับผู้ลงมือสังหารเขาคือคนหนุ่ม มีหน้าที่การงานที่ดี และหลังจากที่ลงมือสังหาร เข้าได้ตะโกนเป็นภาษาตุรกี ข้อความที่ส่งออกมาคือ พูดถึงสงครามในซีเรีย เหยื่อ เด็กๆ ที่สูญเสียชีวิต " เราต้องไม่ลืมซีเรีย " น้ำเสียงที่พูดออกไปด้วยความหนักแน่น แต่ข้อความของมันคือ ความเอาใจใส่ชีวิตของผู้คนในแผ่นดินซีเรีย...คำถามคือ ยังมีคนสามัญ คนเล็กคนน้อย และคนจำนวนมาก ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ และทนไม่ได้กับสงคราม  แล้วเราจะรับมือกันอย่างไร ?

สำหรับสังคมมุสลิมแล้วมันคือกระสุนแห่งความเจ็บปวดและความอับอาย เราเจ็บปวดที่เราต้องอยู่กับวิธีการแห่งความรุนแรงที่กระทำในนามมุสลิมเสมอ และเราอับอายที่เราไม่สามารถปกป้อง รักษาชีวิตผู้คนภายใต้สนธิสัญญาได้ ตามที่ท่านนบีมูฮำหมัด(ซ.ล) ได้กล่าวและบอกเราทุกคนว่า

“ผู้ใดที่เข่นฆ่าผู้ที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญา เขาจะไม่ได้รับกลิ่นอายของสวรรค์”  (บันทึกโดยบุคอรีย์)


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Patani Forum

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.