เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: ธรรมกับปีศาจ


Posted: 19 Dec 2016 07:23 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา คำถามสำคัญของการเมืองไทยได้มุ่งเข้าสู่คำถามทางธรรมมากขึ้น โดยขยับเปลี่ยนจากการตัดสินใจเลือกระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์กับระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ มาสู่การเลือกระหว่าง “ความดี” กับ “ความชั่ว” ดังที่จะสังเกตได้ว่าการถกเถียงทางการเมืองสำคัญเกี่ยวกับที่มาและขอบเขตของอำนาจนั้น ท้ายที่สุดมักตัดสินด้วยเกณฑ์ “ความดี” มากกว่าเกณฑ์เรื่องความเป็นธรรมหรือสิทธิเสรีภาพ

พูดง่าย ๆ คือคนไทยจำนวนหนึ่งกำลังเสนอว่า “เผด็จการที่ดี” เป็นทางออกสำหรับปัญหานานาประการในสังคมไทย

เผด็จการมักมีปัญหากับเสรีภาพ เมื่อมีการหยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพเพื่อทัดทานคัดค้านการใช้อำนาจรัฐที่เกิดขอบเขต ข้อถกเถียงหลักของเผด็จการคือ ปัจเจกชนควรสละเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบสุขของสังคมโดยรวม

อันที่จริงข้อเสนอเรื่อง “ธรรมวิทยาทางการเมือง” และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อส่วนรวมนั้นมีรากฐานแนวคิดมาจาก “ราชาปราญช์” ของเพลโตและแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมของรุสโซ

อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยมีการละเว้นไม่พูดถึงเงื่อนไขปลายประการเช่น ในนิยามของเพลโตผู้ที่จะเป็นราชาปราชญ์ได้นั้นจะได้ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ไม่มีครอบครัว ไม่ครอบครองทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ

ในขณะที่แนวคิดเรื่องการสละเสรีภาพส่วนบุคคลบางส่วนเพื่อเสรีภาพของสังคมโดยรวมของรุสโซนั้นหมายความว่าเสรีภาพบางส่วนที่ปัจเจกชนสละลงไปจะต้องเป็นไปเพื่อ “เจตจำนงร่วม” ของมวลสมาชิกในสังคมและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันแสดงออกผ่านการยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายที่ “ประชาชน” เป็นผู้เสนอ ดังนั้นการจำกัดเสรีภาพที่ได้มาซึ่งเสรีภาพนั้นจะต้องเกิดจากเจตจำนงของประชาชนและไม่มีใครมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าผู้อื่น

ดังนั้นหากจะยึดแนวทางของเพลโตและรุสโซอย่างมีมาตรฐาน “เผด็จการที่ดี” จึงมิได้ดูที่เจตนาหรือผลแห่งการกระทำของเขา แต่ประเมินจากคุณสมบัติและสิ่งที่เขากระทำ ถ้าเขามีครอบครัวและมีทรัพย์สินเงินทอง เขาย่อมมิใช่ราชาปราญช์ตามความหมายของเพลโต หากเขาตรวจสอบทุกคนแต่ไม่ยอมให้ผู้ใดตรวจสอบตนเอง สิ่งที่ปัจเจกชนยอมสละให้เขามิใช่เสรีภาพบางส่วนแต่เป็นเสรีภาพทั้งหมด

ผู้ที่สนับสนุนแนวคิด “เผด็จการที่ดี” อย่างเหนียวแน่นจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ให้ความสนใจกับเงื่อนไขและที่มาดังกล่าวเนื่องจากไม่สนใจแยกแยะว่าเสรีภาพในการบริโภคอันได้แก่การที่รัฐสนับสนุนการบริโภคประเภทต่าง ๆ อย่างไร้ขีดจำกัดนั้นแตกต่างจากเสรีภาพพื้นฐานที่มนุษย์มีอย่างไร ซึ่งถ้าเปรียบประเด็นนี้กับแนวคิดเรื่อง “การคิดด้วยตนเอง” จากบทความเรื่อง “อะไรคือการรู้แจ้ง” ของอิมมานูเอล ค้านท์ หนึ่งในนักปรัชญามีชื่อของโลกแล้ว ค้านท์คงจะตีความเสรีภาพในการบริโภคคล้ายกับการให้โคเทียมแอกกินหญ้าได้อย่างเต็มที่ตราบใดที่ไม่เดินออกจากแอก

ชีวิต “สโลว์ไลฟ์” “โลกสวย” “ทุ่งลาเวนเดอร์” “ฮิปสเตอร์” ฯลฯ เป็นเสรีภาพด้านการบริโภคที่สอดคล้องกับวิถีเผด็จการ คือการหันเหความสนใจของผู้ถูกปกครองไปยังกิเสสส่วนตัวและชี้ให้เห็นว่าปัญหาชีวิตเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่สามารถหาทางออกได้ด้วยความสามารถส่วนบุคคลที่ตัดขาดความเชื่อมโยงจากระบบเศรษฐกิจการเมือง

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าเสรีภาพในการบริโภคจะไม่ถูกรบกวนจากการลิดรอนเสรีภาพจากเผด็จการ ด้วยเหตุที่ว่าการบริโภคในสังคมสมัยใหม่นั้นเป็นการบริโภคเชิงสัญญะด้วย-ที่หมายถึงการบริโภคประโยชน์ใช้สอยควบคู่ไปกับการสร้างความหมายผ่านการบริโภค ยิ่งบริโภคมาก ยิ่งมีการผลิตสัญญะมาก ยิ่งผลิตสัญญะมากยิ่งสร้างความหมายที่ควบคุมได้ยาก

เผด็จการจึงต้องการผูกขาดกระบวนการสร้างความหมายอันมีช่องทางการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญด้วย แม้จะกุมอำนาจเกือบเด็ดขาดในสื่อทางการของรัฐทั้งแบบเรียน วิทยุ โทรทัศน์ตลอดจนเวปไซต์ของหน่วยงานรัฐ แต่ก็มักหวาดระแวงความหมาย “นอกคอก” ที่ไม่จำเป็นต้องผลิตโดยผู้เห็นต่างจากรัฐเพราะความหมายนอกคอกจำนวนมากนั้นบ่อยครั้งผลิตโดยเผด็จการเสียเอง

ตัวอย่างเช่น การให้สัมภาษณ์ในเรื่องเดียวกันของตัวแทนภาครัฐ ผ่านสื่อในกำกับของรัฐ ที่มักจะลักลั่น ตกห่าง กระทั่งมีเนื้อหาสาระและความหมายขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่นในการอธิบายแนวคิดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ของรัฐบาล พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าไม่มีแนวคิดที่จะดำเนินการซิงเกิลเกตเวย์แต่อย่างใด” ในขณะที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณให้สัมภาษณ์ต่อคำถามว่าซิงเกิลเกตเวย์ยังจำเป็นหรือไม่ว่า “ยังจำเป็น” (“โต้กันนัว ซิงเกิลเกตเวย์มีจริงหรือเปล่า พล.อ. ประวิตรฟันธง จำเป็น!,” ประชาไทออนไลน์, 14 ธันวาคม 2559)

การผลิตความหมายและสื่อความหมายอย่างพ้นขอบเขตการกำกับของรัฐในยุคโซเชียลมีเดียจึงเป็นปัญหาของรัฐบาลเผด็จการ ยิ่งรัฐมีความเปราะบางต่อข้อเท็จจริงและความเป็นเหตุเป็นผลมากเท่าใดก็ยิ่งหวาดกลัวช่องทางการสื่อความหมายที่ควบคุมไม่ได้มากขึ้นเท่านั้น

การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ. คอมพ์ฯ ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งของผู้ปกครองที่จะควบคุมความหมายตั้งแต่ต้นทาง ทั้งที่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยเกือบสี่แสนรายรวมถึงตัวแทนองค์กรต่าง ๆ ในสังคมที่แสดงความเห็นคัดค้าน เช่น องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ สมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีข้อกังวลหลักคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกด้วยการให้อำนาจวินิจฉัยที่มากเกินไปแก่เจ้าหน้าที่

โดยพฤตินัยแล้ว พ.ร.บ. ให้อำนาจเด็ดขาดแก่บุคคลกลุ่มเล็กตั้งตนเป็นศูนย์บริการการเบ็ดเสร็จรวบอำนาจทำหน้าที่แทนทั้งตำรวจ อัยการและผู้พิพากษา ผู้สนับสนุนกฎหมายในลักษณะนี้มักมองประโยชน์ด้านการปกป้องสังคมจากความเลวร้าย ดังเช่น ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ. คอมพ์ฯ ไว้ว่าเนื่องจาก “'โลกของคนรุ่นใหม่คือโลกของการบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้ายป้ายสี สร้างความเกลียดชังและเป็นโลกของเสรีภาพที่ทำร้ายเสรีภาพคนอื่น' และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมี พรบ คอมฯ” (https://www.facebook.com/vanchai.tantivitayapitak, 16 ธันวาคม 2559)


วิธีคิดเรื่องการใช้อำนาจละเมิดกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่าง ๆ หรือเขียนกฎหมายให้อำนาจพิเศษแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อผดุงความเป็นธรรมหรือปราบปีศาจนั้นไม่ได้เป็นของใหม่และมีอยู่ในแต่สังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วและดำรงอยู่ในสากลโลก เพียงแต่ว่าเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีประสบการณ์และได้เรียนรู้ว่าวิธีการดังกล่าวมีต้นทุนต่อสังคมสูง ดังปรากฎในบทสนทนาระหว่างพ่อตากับว่าที่ลูกเขยในบทละครเรื่อง “A Man for All Seasons” ประพันธ์โดยโรเบิร์ต โบลท์ (Robert Bolt) ซึ่งพล็อตนำมาจากเรื่องจริงของเซอร์ โธมัส มอร์ (มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 16) โดยในบทละครนั้นโรเปอร์ (Roper) ผู้เป็นว่าที่ลูกเขยต้องการให้มอร์ (More) จับกุมชายผู้หนึ่งด้วยเหตุผลที่ว่าชายคนนั้นเป็นคนเลวและอันตรายแต่มอร์ปฏิเสธและปล่อยให้ชายผู้นั้นหนีไป

มอร์: แม้เขาจะเป็นปีศาจ เขาก็สามารถไปได้เว้นเสียแต่ทำผิดกฎหมาย

โรเปอร์: ท่านปล่อยให้ปีศาจได้ประโยชน์จากกฎหมาย

มอร์: แล้วท่านจะทำอย่างไร? ละเมิดหลักการเพื่อไล่ล่าปีศาจ? และเมื่อหลักการสุดท้ายสลายลงและปีศาจหวนกลับมาหาท่าน ท่านจะไปซ่อนที่ใด, โรเปอร์, เมื่อสิ้นหลักการเสียแล้ว
ปีศาจหวนกลับมาหาเราแล้ว...อีกครั้งและอีกครั้ง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.