Posted: 03 Aug 2017 04:11 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีเวทีเสวนาโต๊ะกลมเวทีหนึ่งที่น่าสนใจ หัวข้อ “การบ่มเพาะตนเพื่อเป็น ‘มุสลิมที่ดี’ และการแสวงหา ‘ชีวิตที่ดีกว่า’ ผ่านการศึกษาแบบเป็นทางการ: การดิ้นรนและการริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการศึกษาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้” ซึ่งประชาไทได้สรุปความมาถ่ายทอดต่อแก่ผู้สนใจในวงกว้าง เนื้อหาของการเสวนาโต๊ะกลมนี้ประกอบด้วย 2 ตอน ตอนนี้เป็นตอนแรก (ดูรายละเอียดและบทคัดย่อของเวทีนี้ได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/10958)



คลิปเสวนา "การบ่มเพาะตนเพื่อเป็น ‘มุสลิมที่ดี’ และการแสวงหา ‘ชีวิตที่ดีกว่า’ ผ่านการศึกษาแบบเป็นทางการ: การดิ้นรนและการริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการศึกษาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้" ช่วงแรกนำเสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และมะรอนิง สาแลมิง

000



อนุสรณ์ อุณโณ (ผู้ดำเนินรายการ):

การเสวนาในวันนี้ได้รับเกียรติจากบุคคลซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในส่วนของการศึกษาแบบอิสลาม การศึกษาแบบประเพณีวัฒนธรรม และการศึกษาแบบสมัยใหม่

วิทยากรท่านแรกคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ. บต.) ผู้ได้ริเริ่มสร้างสรรค์และให้ความสำคัญกับการศึกษาของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก รวมทั้งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันให้รัฐบาลในช่วงนั้นเปิดมิติใหม่ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ในหลายด้าน พ.ต.อ.ทวีจะมาให้มุมมองจากผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วิทยากรท่านถัดมาคือ ดร.มะรอนิง สาแลมิง เป็นเจ้าของโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา ที่ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเดิมเป็นสถาบันปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามประเพณี ซึ่งต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อันถือว่าเป็นการปรับตัวต่อนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อสถาบันการศึกษาแบบอิสลาม

วิทยากรอีกท่าน คือ ดร. อับดุลฮาฟิซ หิเล ผู้ซึ่งนอกจากจะเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้ว ปัจจุบันยังเป็นนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา ซึ่งการรวมตัวกันเป็นสมาคม สมาพันธ์ หรือเครือข่ายของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเช่นนี้ก็คือความพยายามที่จะคลี่คลายปัญหาในด้านการศึกษาทั้งในด้านศาสนาและในสายสามัญ เพื่อความสำเร็จในชีวิตและในการประกอบอาชีพของเด็กนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

วิทยากรท่านสุดท้ายคือ คุณดันย้าล อับดุลเลาะ ผู้เป็นลูกหลานของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณดันย้าลจบการศึกษาจากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันได้รับทุนการศึกษาที่มอบให้กับคนทำงานในภาคประชาสังคมศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันเป็นประสบการณ์ของการหาความรู้เพิ่มเติมในต่างถิ่นที่มีความต่างทางสังคมและวัฒนธรรมจากบ้านเกิด ทำให้ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก

0000

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง:



สำหรับชาวมุสลิมแล้วนั้น การศึกษาคือหน้าที่ที่กำหนดไว้ในอัลกุอาน อันเป็นธรรมนูญของชีวิต รัฐไม่ควรหวาดระแวงต่อการศึกษาของคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้ แต่ควรมองว่าเป็นโอกาสและควรช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาทั้งสายศาสนาและสามัญ รวมทั้งต้องทำให้พี่น้องเกิดความรู้สึกว่า “มุสลิมก็สามารถอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมุสลิม” อันจะเป็นหนทางสำคัญสู่การสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้

จากการที่ผมได้มีโอกาสไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ. บต.) ทำให้ได้ทราบว่า ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่หมายถึงจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและมีชาติพันธุ์มลายูนั้น มีการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก เด็กนักเรียนมุสลิมในระดับประถมและมัธยมต้องใช้เวลาเรียนมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ เนื่องจากต้องตอบสนองต่อนโยบายของรัฐในการมีหลักสูตรภาคบังคับหรือการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนในภูมิภาคอื่นของประเทศ

ในขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีวิถีชีวิตที่ยึดมั่นศรัทธาต่ออัลกุรอานในฐานะเป็นธรรมนูญหรือบรรทัดฐานของการดำเนินชีวิต โดยการศึกษาเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ถูกกำหนดไว้ในอัลกุรอานนั้น นำมาสู่หลักสูตรการศึกษาด้านศาสนาของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันถือเป็นหลักสูตรภาคบังคับของชีวิต ซึ่งบรรพบุรุษที่เป็นผู้นำศาสนาได้จัดวางไว้ให้ในทุกระดับ

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐไทยมองการศึกษาทางศาสนาของคนชายแดนใต้ในแง่ความมั่นคง ทั้งที่จริงๆ แล้ว “การศึกษา” ในอัลกุรอานเป็นเรื่องของการให้ความรู้ คำว่า “อิสลาม” ตามรากศัพท์ภาษาอาหรับหมายถึง ความรอดพ้น สันติภาพ และความยอมจำนนต่อองค์อัลเลาะห์ด้วยความศรัทธา ในอัลกุรอานกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การศึกษาต้อง 1) สอนเนื้อหาอัลกุรอาน 2) สอนองค์ความรู้ทุกชนิดที่ผู้เรียนไม่รู้ ไม่ใช่ว่าต้องเรียนศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น 3) สอนสิ่งที่อัลเลาะห์กำหนด คือ สอนในด้านกาย อารมณ์ จิตใจ และวิญญาณทั้งหมด และ 4) สอนคนที่หลงผิดหรือคนที่กระทำผิดเพื่อให้เขามีความรู้

จากข้อกำหนดในอัลกุรอาน การศึกษาคือหน้าที่ ดังนั้นเมื่อรัฐไทยเข้าไปกำหนดและจัดการให้มีการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาตามที่กำหนดในอัลกุรอาน พี่น้องมุสลิมที่นี่จึงจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรศาสนาอิสลามคู่ขนานขึ้นมา ที่สำคัญก็คือ หลักสูตรการเรียนการสอนแบบ “ตาดีกา” ที่สอนศาสนาและภาษาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยมีการเรียนการสอนในวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กนักเรียนว่างเว้นจากการเรียนในโรงเรียนประถมของรัฐในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ปัจจุบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนตาดีกาอยู่กว่า 2,000 แห่ง ซึ่งมีมากกว่าจำนวนโรงเรียนประถมของรัฐบาล และมีผู้เรียนในปัจจุบันกว่า 250,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลยสำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรราว 2,000,000 คน ที่สำคัญหลักสูตรการเรียนการสอนของตาดีกามีความเข้มแข็งไม่น้อยกว่าของโรงเรียนประถมของรัฐบาล ตาดีกามีการเรียนหลายภาษา ทั้งภาษาอาหรับ ภาษามลายูกลาง ภาษาอังกฤษ และเรียนศาสนา โดยมีการประเมินผลหรือการสอบวัดผลอย่างเป็นระบบ

นอกจากนั้น เมื่อเรียนจบชั้นประถมจากโรงเรียนรัฐบาลแล้ว นักเรียนส่วนใหญ่นิยมไปเรียนต่อยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จนเกิดปรากฎการณ์ว่าโรงเรียนมัธยมของรัฐในพื้นที่หลายแห่งมีผู้เรียนน้อยมาก การเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต้องเรียนตามหลักสูตรสายสามัญ 8 สาระวิชาหลักตามปกติ เรียน 8 คาบ และต้องเรียนหลักสูตรทางศาสนาควบคู่ไปด้วยแบบเท่าเทียมกัน โดยมีโต๊ะครูและผู้รู้เป็นผู้กำหนดหลักสูตรที่ได้มาตรฐานและใช้เหมือนกันทั้งหมด

จากระบบการศึกษาสองแบบที่ควบคู่กันนี้ทำให้เด็กมลายูมุสลิมชายแดนภาคใต้ต้องเรียนหนักกว่าเด็กนักเรียนในที่อื่นๆ เป็นเท่าตัว รวมทั้งเรียนหนักกว่านักเรียนในประเทศมุสลิมอื่นๆ ในอาเซียนด้วย นอกจากตาดีกาและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้ว ในช่วงกลางคืนตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ก็มีชั้นเรียนอัลกุรอานสำหรับนักเรียนด้วย ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่จะส่งเสริมให้ลูกไปเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางศาสนาให้เพียงพอ

สำหรับนโยบายของรัฐที่มีต่อการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตในยุคสมัยรัฐนิยม มีการห้ามพูดห้ามเรียนภาษามลายูในสถาบันปอเนาะ ซึ่งการใช้ชาตินิยมหรือรัฐนิยมมาบังคับในด้านภาษาและวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะภาษา วัฒนธรรม และการศึกษาไม่ควรมีพรมแดนหรือเขตแดน นโยบายรัฐนิยมจึงนำมาสู่ความคับข้องใจและความขัดแย้ง นโยบายที่ไปกดทับภาษานั้นมีความสำคัญมาก คนมลายูเขาถือว่าภาษาคือชาติพันธุ์ และการสูญสิ้นภาษาคือการสูญสิ้นชาติพันธุ์ ปัจจุบันแม้รัฐจะปรับเปลี่ยนนโยบายแต่ก็ยังไม่สามารถหยุดความขัดแย้งและความรุนแรงได้ ดังนั้น รัฐจึงควรมองภาษามลายูในมิติการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้จุดแข็งของพื้นที่ที่มีอยู่ไม่ว่าด้านภาษามลายู วัฒนธรรม และการศึกษา ในการเชื่อมต่อกับโลกกว้าง ในส่วนของภาษามลายูไม่เฉพาะในประเทศไทยมีผู้ใช้ภาษานี้อยู่ 2-3 ล้าน แต่ยังมีในประเทศอื่นๆ อีก มาก เฉพาะแค่อินโดนีเซียก็มีนับร้อยล้านคน รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาในการทำงาน นับวันก็จะมีคนมาเรียนภาษามลายูมากขึ้น ตามปอเนาะที่ชายแดนใต้หลายแห่งมีนักเรียนจากประเทศกัมพูชามาเรียนภาษามลายูอยู่นับร้อยคน

บทบาทรัฐไทยที่ผ่านมานำมาสู่ความรู้สึกของผู้คนที่ว่า มีการกดทับทางศาสนาหรือไม่ได้รับการส่งเสริมด้านศาสนาเท่าที่ควร ในขณะที่มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องร่ำเรียนศาสนา จึงทำให้พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องออกเดินทางไปเรียนต่อด้านศาสนาในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศมลายู ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน โดยมีทั้งที่ได้รับทุนการศึกษาจากสถาบัน/รัฐบาลในประเทศนั้นๆ หรือไปเรียนโดยทุนส่วนตัว พวกเขามีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการใฝ่หาความรู้ที่สอดคล้องกับหลักการของอิสลามและเชื่อมั่นในระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ ที่น่าจะดีกว่า ประกอบกับที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่มีสถาบันการศึกษาที่พวกเขาต้องการในระดับสูง จึงเกิดปรากฎการณ์อพยพย้ายถิ่นของเยาวชนชายแดนใต้จำนวนมากเพื่อแสวงหาความรู้ยังต่างประเทศมาเป็นเวลากว่าศตวรรษ อย่างไรก็ดี การก่อเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเมื่อไม่นานมานี้ ได้ช่วยให้เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยไม่ต้องดิ้นรนไปเรียนหลักสูตรอิสลามในต่างประเทศ ซึ่งมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนีนักศึกษาสามารถเลือกเรียนหลักสูตรภาษามลายูหรือภาษาอาหรับก็ได้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้นับได้ว่าเป็นการดิ้นรนเพื่อการสร้างสรรค์ด้านการศึกษาของชายแดนใต้ที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญและน่าชื่นชมอย่างยิ่ง

น่าสนใจว่าแต่เดิมนั้นคนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเมื่อกลับมาแล้วมีโอกาสรับราชการน้อยมาก สิ่งที่ทำได้เมื่อกลับมามีเพียงสองอย่าง คือ 1) เป็นโต๊ะครู คือ เป็นเจ้าของโรงเรียนและครูผู้สอนศาสนา และ 2) เป็นโต๊ะอิหม่าม คือ เป็นผู้สอนตามมัสยิดหรือตามตาดีกา อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นจุดแข็งก็คือ บุคลากรเหล่านี้ได้มาช่วยกันทำให้การเรียนการสอนด้านศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้มีความเข้มแข็ง เช่น มีการพัฒนาเป็นสถาบันตาดีกาและสถาบันปอเนาะที่มีหลักสูตรที่ชัดเจนเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันปอเนาะนั้นทำหน้าที่เป็นทางเลือกที่ให้ผู้สนใจทางศาสนาได้ไปเรียนและใช้ชีวิต

ในส่วนที่ตนเองเคยดำเนินการส่งเสริมการศึกษาของจังหวัดชายแดนใต้ก็คือ การส่งเสริมการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของบรรดาโต๊ะครูและผู้นำด้านการศึกษาให้เป็นสมาพันธ์ สมาคม เพื่อสร้างความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนได้คิดได้ทำด้วยตัวเอง เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้มีพื้นที่ มีทางออก อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ยังสู้ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ในอดีตคนในประเทศต่างๆ ต้องมาเรียนที่ปัตตานี แต่ในวันนี้ลูกหลานคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฝ่ายที่ต้องเดินทางไปเรียนยังประเทศมาเลเซียเนื่องจากคุณภาพด้านการศึกษาที่นั่นสูงกว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถปลดล็อกตรงนี้ได้เพื่อให้เด็กนักเรียนชายแดนใต้ได้มีหลักสูตรที่บูรณาการทั้งสองระบบได้อย่างเป็นธรรมชาติ ลดความซ้ำซ้อนของวิชา-เวลาเรียนของนักเรียนที่มากเกินไป จนไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้ดังในปัจจุบัน และที่สำคัญต้องทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าตนสามารถดำเนินชีวิตและเล่าเรียนในสังคมไทยในแบบมุสลิมได้


ประเด็นเพิ่มเติมจากการตอบคำถามผู้เข้าร่วม


เมื่อเชื่อมโยง “สันติภาพ” หรือกระบวนการสันติภาพเข้าเรื่องการศึกษา คำว่า “สันติภาพ” อาจดูเป็นนามธรรมมากเกินไป แต่แท้จริงแล้วนั้น สันติภาพ ก็คือ การศึกษา เพราะสันติภาพตามความหมายของพี่น้องมุสลิมก็คือ การทำลายการกดขี่และความอยุติธรรมด้วยความรู้และปัญญา ดังนั้น การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น รัฐสามารถทำได้ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษา อันเป็นการทำวิกฤตให้เป็นโอกาส

ส่วนประเด็นเรื่องการศึกษากับความเป็นพหุวัฒนธรรมนั้น เราจะต้องให้ความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษากับคนทุกกลุ่มในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยหรือจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคนมลายูมุสลิมหรือคนไทยพุทธ ขอยกตัวอย่างที่ว่าแต่เดิมโควตาเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจของชายแดนใต้มีให้เฉพาะกับคนมลายูมุสลิมท่านั้น ไม่มีให้สำหรับคนไทยพุทธซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ภายหลังจึงได้ขอให้มีการรวมคนไทยพุทธเข้าไปด้วย สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ การที่คนแต่ละกลุ่มสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในแบบที่ตนเองต้องการให้เป็น แม้จะอยู่ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างก็ตาม ทั้งนี้ ความสัมพันธ์แบบพี่น้องกันของคนต่างชาติพันธุ์และศาสนาก็คือความสวยงาม จะทำอย่างไรให้คนมุสลิมหรือมลายู ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมไทยอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมุสลิม จะทำอย่างไรให้พี่น้องไทยพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ชายแดนภาคใต้สามารถอยู่ในสังคมมลายูมุสลิมได้แบบพุทธ สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดเลยก็คือ เมื่อมีการจัดกิจกรรมทางศาสนา ก็จะถูกต่อต้านโดยอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ หากปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะฝังลึกและยากต่อการแก้ไข


0000

ดร.มะรอนิง สาแลมิง:



ปอเนาะเป็นแหล่งสืบทอดความรู้ทางศาสนาที่มีความต่อเนื่องมาหลายร้อยปี โต๊ะครูปอเนาะของปัตตานีในอดีตได้เขียนตำราหลายเล่มที่ยังคงใช้ในการสอนศาสนาในหลายประเทศทั่วโลก ปอเนาะเป็นสถาบันสำคัญที่ขาดไม่ได้ของสังคมมลายูมุสลิมในการทำให้คนเป็นคนดี แต่ปอเนาะก็มักถูกมองอย่างหวาดระแวงจากทางการอยู่เสมอในฐานะแหล่งสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐไทย

“ปอเนาะ” มาจากภาษาอาหรับ หมายถึง หอพักหรือที่พัก ในการเรียนการสอนของปอเนาะแบบดั้งเดิมเมื่อสัก 50 ปีก่อนขึ้นไปนั้น ยังไม่มีการจัดช่วงชั้น เป็นการศึกษาโดยใช้ตำราและเรียนร่วมกัน ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีโต๊ะ เป็นการเรียนการสอนแบบนั่งรวมกันของกลุ่มผู้เรียนที่เข้าเรียนในปีเดียวกันหรือใกล้คียงกัน หากเป็นปอเนาะเล็กๆ การเรียนการสอนก็จะเป็นแบบตัวถึงตัว โต๊ะครูในปอเนาะดั้งเดิมจะคอยดูแลนักเรียนทั้งหมด โต๊ะครูเป็นที่เชื่อถือและนับถือของผู้เรียนตลอดจนชาวบ้านที่อาศัยแวดล้อมอยู่รอบปอเนาะ การที่โต๊ะครูปอเนาะได้รับความเชื่อถือมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็เพราะมีความเชื่อว่ากันโต๊ะครูได้รับความรู้มาจากการถ่ายทอดหรือสืบทอด อาทิเช่น ตำราเล่มหนึ่งที่มีผู้แต่งไว้เมื่อ 300-400 ปีก่อน ก็มีการสอนตำรานี้สืบมาให้แก่ลูกศิษย์ และลูกศิษย์ก็ได้รับมอบหมายให้สืบทอดสอนตำรานี้ให้นักเรียนรุ่นต่อๆ ไป ส่วนความรู้แบบรวมๆ ที่โต๊ะครูได้รับมาก็จะสืบทอดและมอบหมายให้กับลูกศิษย์รายที่มีความสามารถจะเป็นโต๊ะครูต่อได้เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นต่อไป สิ่งนี้เรียกว่า “อีญาซะฮ์” หรือการมอบหมายให้สืบทอดความรู้จากโต๊ะครูไปสอนแก่ศิษย์คนอื่นๆ ต่อ ดังนั้น คำสอนของโต๊ะครูแต่ละคนจึงได้รับการสืบทอดมาจากโต๊ะครูก่อนหน้า ซึ่งสามารถไล่เรียงลำดับการสืบทอดย้อนกลับไปเป็นร้อยปีหรือพันปี จนถึงท่านนบีหรือศาสดานั่นเอง ความรู้ของโต๊ะครูจึงได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากผู้เรียนว่ามีความถูกต้องอย่างยิ่ง อันทำให้โต๊ะครูเป็นผู้มีความน่าเชื่อถือทางสังคมสูง

ตำราที่ใช้ในการสอนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีทั้งตำราภาษาอาหรับและภาษามลายูที่ใช้อักษรยาวี โดยมีโต๊ะครูในพื้นที่เป็นผู้ประพันธ์ตำราเหล่านี้ หลายเล่มยังมีการใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่อดีต ทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหลายประเทศ จนถึงทุกวันนี้ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ รวมทั้งกัมพูชา และบางเขตปกครองในประเทศรัสเซียเดิม ก็ยังใช้ตำราที่โต๊ะครูปัตตานีเขียนไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ที่สำคัญตำราที่เขียนโดยโต๊ะครูของปัตตานีบางเล่มใช้สอนที่นครเมกกะด้วย ตำราเหล่านี้มีการลงชื่อผู้เขียนเอาไว้ เมื่อผู้เรียนเอาไปถ่ายทอดต่อก็จะมีการเขียนระบุว่า ตำรานี้ประพันธ์โดยโต๊ะครูของปัตตานี ดังนั้น ปัตตานีจึงมีชื่อเสียงจึงเป็นที่รู้จักและนับถือของคนในที่ต่างๆ มานานแล้ว ถึงแม้ว่าหลายคนจะไม่รู้ว่าปัตตานีในทางกายภาพตั้งอยู่ที่ไหนก็ตาม

การเรียนการสอนในปอเนาะตั้งแต่ครั้งอดีตเริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด บางแห่งเริ่มเรียนตั้งแต่ตีสามครึ่ง จนถึงช่วงบ่ายและช่วงหลังละหมาดค่ำ เนื้อหาที่เรียนมีหลากหลาย ทั้งในส่วนของกฎหมายหรือฟิกฮ์ในศาสนาอิสลาม การแบ่งมรดกหรือฟะรออิฏ การสอนภาษาอาหรับ ทั้งไวยกรณ์และการอ่าน และในส่วนที่เกี่ยวกับวิถีปฏิบัติของมุสลิม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้การเรียนการสอนของปอเนาะได้เปิดสู่โลกภายนอกมากขึ้น โต๊ะครูหลายคนใช้เทคโนโลยีในการสอน ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่การสอนในวงกว้างผ่าน Youtube, Facebook และ Line อย่างไรก็ดีในส่วนเนื้อหาและรูปแบบการสอนแบบดั้งเดิมโต๊ะครูส่วนใหญ่ก็พยายามสืบทอดให้คงอยู่

ในประเด็นที่ว่าปอเนาะมักถูกเพ่งเล็งในฐานะที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดอิสลามแบบสุดขั้วนั้น อันที่จริงการเรียนการสอนของปอเนาะจะเน้นในเรื่องการพัฒนาจิตใจหรือจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า "ตะเซาอุฟ" ในการเรียนการสอนไม่ได้พูดเรื่องการเมืองมากนัก รวมทั้งโต๊ะครูปอเนาะจำนวนมากก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงที่บุตรของกษัตริย์องค์สุดท้ายของปัตตานี คือ เต็งกูมาฮ์มุดมะฮ์ยุดดีน เบ็ญ เต็งกูอับดุลกอเดร์ กอมารุดดีน พยายามรวมโต๊ะครูเพื่อเป็นแนวร่วม ปรากฏว่าโต๊ะครูบางท่านปฏิเสธเพราะไม่อยากยุ่งกับการเมืองที่ไม่ใช่เรื่องของจิตวิญญาณ อีกกรณีก็คือ เมื่อครั้งที่ท่านหะยีสุหลง กลับมายังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2470 ท่านได้สอนในปอเนาะแบบเดิมที่สอนนักเรียนแบบรวมๆ โดยไม่มีช่วงชั้นก่อน ต่อมาท่านจึงได้พัฒนาการสอนให้เป็นมัดราเซาะห์หรือแบบโรงเรียน เรียกว่า "มัดราเซาะห์ อัลมูอารีฟ อัลวะฏอนิยะห์" โรงเรียนของท่านสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2476 มีการแบ่งช่วงชั้นในการเรียนทางศาสนา ประกอบด้วย ช่วงชั้นฮิบติดาอียะฮฺ ช่วงชั้นมุตาวัซซีเตาะฮฺ ซึ่งมีตอนต้นและตอนกลาง และช่วงชั้นซานาวียะฮ ภาคสูงสุด การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลทำให้โต๊ะครูหลายท่านรวมตัวกันและไปพบกับผู้ปกครองในสมัยนั้น เพราะมีความเป็นห่วงว่าการเรียนการสอนที่เปลี่ยนใหม่ของท่านหะยีสุหลงนั้นอาจมีประเด็นการเมืองหรือความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องจนอาจทำให้ปอเนาะถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายรัฐได้ จากทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นว่าโต๊ะครูปอเนาะทั้งหลายพยายามที่จะหลีกห่างจากการเมืองหรือสิ่งที่กระทบต่อความมั่นคงมานานแล้ว อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่าโต๊ะครูตั้งแต่สมัยอดีตจะปฎิเสธการเมืองไปเสียทั้งหมด เพียงแต่พวกเขาไม่อยากให้ “การเมือง” มาเป็นอุปสรรคหรือกำแพงในการสืบสานความรู้ด้านศาสนาอิสลาม โต๊ะครูที่เน้นตะเซาอุฟพยายามหลีกเลี่ยงการเมืองที่จะทำให้การเรียนการสอนของเขามีปัญหา แต่กระนั้นการเมืองก็มักวิ่งเข้ามาหาคนที่เป็นโต๊ะครูอยู่เสมอ ทำให้โต๊ะครูกลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญในทางการเมือง

ที่สำคัญ ไม่ว่าจะพยายามอยู่ห่างจากการเมืองมากแค่ไหน ผู้มีอำนาจรัฐก็ยังคงไม่เชื่อและไม่ไว้วางใจปอเนาะ นำมาสู่แรงกดดันต่อปอเนาะเสมอ เมื่อมีสถานการณ์การลุกขึ้นสู้ของขบวนการหรือของคนในพื้นที่ ปอเนาะก็จะเป็นจุดแรกที่รัฐจับตามอง หลังจากการประกาศจัดตั้ง Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani (BRN) ในปี พ.ศ. 2503 ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2504 รัฐบังคับให้ปอเนาะทั้งหมดมาจดทะเบียน และในปี พ.ศ.2508 รัฐก็บังคับให้เปลี่ยนสภาพจากปอเนาะมาเป็น “โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม” โดยในปี พ.ศ. 2510 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ปอเนาะทั้งหมดต้องเปลี่ยนสภาพภายในเวลาสี่ปี หากเลยกำหนดในวันที่ 15 มิถุนายน 2514 จะถือว่าปอเนาะนั้นถูกยกเลิกและจะไม่ให้เปิดทำการใหม่อีก ในครั้งนั้นมีปอเนาะเข้ามาจดทะเบียนถึง 426 แห่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ก็เปลี่ยนมาเป็น “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม”

ในช่วงระยะเวลานี้ในพื้นที่ชายแดนใต้มีทั้งขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน/ BRN บริเวณที่ตั้งปอเนาะจำนวนมากอยู่ตามเชิงเขาและภูเขา ซึ่งก็คือพื้นที่ปฏิบัติการของขบวนการฯ เหล่านี้ ปอเนาะต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่ายอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก บางครั้งก็ถูกหวาดระแวงจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายขบวนการฯ อาจไม่ไว้ใจ ในขณะที่ฝ่ายรัฐก็มองว่าปอเนาะให้ที่พักพิงให้อาหารแก่ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐ อย่างไรก็ดี ปอเนาะก็ยังเป็นที่นับถือของผู้คน รวมทั้งจากคนที่ขึ้นไปบนภูเขาเพื่อร่วมกับขบวนการฯ ด้วย น่าสนใจว่าชาวบ้านหลายรายที่มีลูกสาวหน้าตาดีที่หวาดกลัวว่านักเลงหัวไม้ที่ไปแฝงตัวเข้าร่วมกับขบวนการฯ จะมาระรานฉุดคร่าลูกสาวของตนไปเป็นเมียนั้น ก็มักเอาลูกไปฝากไว้ที่ปอเนาะเพื่อความอุ่นใจและความปลอดภัย

แม้ปอเนาะจะถูกควบคุมกำเนิดหรือต้องมาแปรสภาพมาโดยตลอด แต่ปอเนาะก็ยังอยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้ เนื่องจากปอเนาะคือวิถีชีวิตของผู้คน เป็นความเชื่อถือ เป็นสถาบันที่ขาดไม่ได้ของสังคมในการทำให้คนเป็นคนดี เหตุการณ์ในวันที่ 4 มกราคม 2547 ถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ทำให้ปอเนาะถูกจับตาและเพ่งเล็งอย่างหนักจากฝ่ายรัฐ ปอเนาะบางแห่งถูกปิด และรัฐบาลในยุคนั้นกำหนดให้ปอเนาะต้องมาจดทะเบียนอีกครั้ง เนื่องจากยังคงมองว่าปอเนาะเป็นสถานที่บ่มเพาะ BRN ข้อกำหนดการจดทะเบียนครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกที่เป็นการบังคับให้ยกเลิกหรือบังคับให้แปรสภาพ แต่ในครั้งนี้รัฐพยายามเข้ามาสนับสนุน และทำให้ปอเนาะมีความเป็นทางการมากขึ้น ในปีนั้นในระหว่างวันที่ 28 เมษายน จนถึงเดือนกรกฎาคม มีปอเนาะมาจดทะเบียนใหม่ถึง 249 แห่ง

(โปรดติดตามตอนจบในส่วนของวิทยากรอีกสองท่าน คือ ดร. อับดุลฮาฟิซ หิเล และคุณดันย้าล อับดุลเลาะ เร็วๆ นี้)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.