Posted: 06 Aug 2017 06:24 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังประกาศใช้ 'พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว' จนเกิดอลหม่าน หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ และ ชานันท์ ยอดหงษ์ พาย้อนอดีตดูนโยบายด้านประชากรที่เปิดรับและปฏิสังสรรค์กับผู้คนต่างชาตินานาภาษาของรัฐจารีตอย่างอาณาจักรอยุธยา

ทั้งนี้อยุธยาเกิดขึ้นจากกลุ่มคน 2 วัฒนธรรมคือสุพรรณภูมิและละโว้ ต่อมาอยุธยาก็ขยายตัวขึ้นจากการเกณฑ์แรงงานจากดินแดนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมเข้าสู่อาณาจักรทั้งผู้คนที่พิมายและพนมรุ้ง โดยเฉพาะในสมัยเจ้าสามพระยาก็ไปเกณฑ์ผู้คนมาจากนครธม

โดยประชากรในสมัยต่อมาของอยุธยาจะยิ่งมีความหลากหลายขึ้นไปอีกหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เมื่อครัวเรือนอยุธยาถูกเกณฑ์ไปอยู่หงสาวดีจนเหลือประชากรในอยุธยาไม่กี่พัน สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงไปเกณฑ์ครัวเรือนจากพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาอยู่ที่อยุธยา และในสมัยหลังเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศไม่ขึ้นกับหงสาวดี ก็เกณฑ์ครัวเรือนอยุธยาและชุมชนมอญที่หงสาวดีกลับเข้ามาอยู่ที่อยุธยาอีก

นอกจากนี้ผู้ปกครองอยุธยาในหลายยุคก็เปิดกว้างให้ชุมชนต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น การมีอยู่ของหมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านญี่ปุ่น ชุมชนมุสลิม ฯลฯ การให้ผู้มีฝีมือเข้ามาทำงานเช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการสร้างป้อมปืนใหญ่ที่บางกอกปัจจุบันคือป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งควบคุมการก่อสร้างโดย เดอ ฟอบัง (Claude de Forbin Gardanne) นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส รวมทั้งนารายณ์ราชนิเวศน์ที่ลพบุรี ก็ใช้ช่างฝีมือจากเปอร์เซียและฝรั่งเศส

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยังมีบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุถึงการตั้งวิทยาลัยของบาทหลวงคณะเยซูอิตที่คลองมหาพราหมณ์ และมีนักเรียนจากอยุธยาเดินทางไปยุโรปเพื่อไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสอย่างน้อย 2 คณะ โดยเดินทางไปพร้อมกับทูตที่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1686 และ 1688




แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.