Posted: 02 Aug 2017 11:57 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนในจอร์แดน จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ก่อเหตุข่มขืนจะได้รับการเว้นโทษหากแต่งงานกับเหยื่อ ล่าสุดสภาของจอร์แดนลงมติให้แก้กฎหมายโดยตัดเนื้อหาเรื่องการเว้นโทษออกไป นับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งในเรื่องความเป็นธรรมทางเพศในภูมิภาคอาหรับ


ผู้ประท้วงหน้ารัฐสภาจอร์แดนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 (ที่มาของภาพประกอบ: Alghad.com)

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 รัฐสภาประเทศจอร์แดนลงมติให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน จากเดิมที่มีการอนุญาตให้ผู้ก่อเหตุพ้นโทษได้ถ้าหากแต่งงานกับเหยื่อ กลายเป็นตัดบทเฉพาะการข้อนี้ทิ้งหมายความว่าจะไม่มีการอนุโลมให้ผู้ก่อเหตุหากแต่งงานกับเหยื่อที่ถูกข่มขืนอีกต่อไป โดยเรื่องนี้นักกิจกรรมและชาวจอร์แดนต่างก็มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย "ครั้งประวัติศาสตร์" ในพื้นที่ที่มีการกดขี่ทางเพศมานาน

เซลมา นิมส์ เลขาธิการคณะกรรมการเพื่อผู้หญิงแห่งชาติจอร์แดนซึ่งเป็นองค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชนกล่าวให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ไม่แต่เฉพาะกับจอร์แดนแต่สำหรับภูมิภาคอาหรับ นิมส์บอกอีกว่าที่พวกเขาสำเร็จในการแก้กฎหมายนี้เนื่องมาจากความพยายามของภาคประชาสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสิทธิสตรี

เนื้อหาในประมวลกฎหมายอาญาของจอร์แดน มาตรา 308 อนุญาตให้อภัยโทษแก่ผู้ก่อเหตุข่มขืนได้ถ้าหากผู้ก่อเหตุแต่งงานกับเหยื่อและอยู่กินด้วยกันอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี กฎหมายฉบับนี้สร้างข้อถกเถียงขึ้น ขณะที่บางคนมองว่ามันจำเป็นสำหรับการปกป้อง "ศักดิศรี" ของผู้หญิง แต่บางคนก็มองว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนมาอยู่กินกับคนที่ทำร้ายเขาหรือเธอมาก่อนเช่นนี้

นักกิจกรรมหลายร้อยคนปักหลักประท้วงอยู่หน้าอาคารรัฐสภาในวันอังคารที่ผ่านมา (1 ส.ค.) เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ปกป้องคนก่อเหตุผ่านการแต่งงานโดยสิ้นเชิง นิมส์เปิดเผยว่าก่อนหน้าการลงมติมีสภาชิกรัฐสภาบางส่วนที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายนี้ แต่ในที่สุดข้อเรียกร้องของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม นิมส์มองว่ายังต้องมีการแก้ไขกฎหมายยกชุดเพื่อทำให้สถานภาพของผู้หญิงในจอร์แดนดีขึ้นรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้หญิง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักการเมืองตูนีเซียก็เพิ่งจะยกเลิกการอภัยโทษผู้ก่อเหตุข่มขืนด้วยการแต่งงานเช่นกัน รวมถึงจัดให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นอาชญากรรมด้วย

คาเล็ด รอมฎอน หนึ่งในสมาชิกรัฐสภาผู้ผลักดันให้มีการแก้กฎหมายนี้ในจอร์แดนกล่าวแสดงความยินดีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อต่อความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้นหลังจากที่กฎหมายนี้มีอยู่มานานถึง 57 ปี มีการถกเถียงถึงกฎหมายนี้มานานหลายสิบปีแล้ว พวกเขาเคารพความคิดเห็นจากทุกมุมมองอย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวจอร์แดน มันเป็นการส่งสารถึงคนก่อเหตุข่มขืนว่าอาชญากรรมของพวกเขาจะไม่ถูกมองข้าม

อัสมา คาเดอร์ ทนายความและนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีกล่าวถึงกระบวนการต่างๆ ก่อนหน้าการลงมติในครั้งนี้ว่าองค์กรด้านสตรีต้องพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับ ส.ส. หลายคน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องเหยื่อข่มขืน คาเดอร์บอกอีกว่าเดิมทีกฎหมายให้อภัยคนข่มขืนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกะหรือเหตุผลทางกฎหมาย มันไม่มีความชอบธรรมใดๆ เลยทั้งทางวัฒนธรรม ทางความรู้ หรือการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล

อมานี ริซค์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรเพื่อความเท่าเทียมทางเพศจากสวีเดน มูลนิธิควินนาทิลควินนา ซึ่งทำงานในจอร์แดนกล่าวว่า แม้จะประสบความสำเร็จในด้านการเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญด้านกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ควรจะต้องทำงานกันต่อไปเพื่อคุ้มครองเหยื่อที่ถูกข่มขืนในแบบที่รอบด้านด้วย เช่นเรื่องการเหยียดเหมารวม การกีดกันทางสังคม หรือการตีตราหยื่อที่ถูกข่มขืน ซึ่งมาพร้อมกับบาดแผลของพวกเธอ โดยเฉพาะถ้าเหยื่อท้องควรต้องมีการคุ้มครองที่ส่งผลในเชิงปฏิบัติด้วย

เรียบเรียงจาก

'Historic day' as Jordanian parliament repeals rape law, Aljazeera, 02-08-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.